ค้นเจอ 7 รายการ

แกมมา

หมายถึง(ฟิสิกส์) น. คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือโฟตอน (photon) ที่มีพลังงานสูงมาก มีช่วงคลื่นสั้นมาก มักเรียกกันว่า รังสีแกมมา เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร/วินาที มีอำนาจในการเจาะทะลุได้สูง สามารถเจาะทะลุแผ่นตะกั่วหนาหลายเซนติเมตรได้ เกิดจากการเสื่อมสลายของสารกัมมันตรังสี เช่น ธาตุเรเดียม ธาตุโคบอลต์-๖๐ หรือเกิดจากการที่อนุภาคบีตาพุ่งชนอะตอมของธาตุ ใช้ประโยชน์ในการแพทย์รักษาโรคมะเร็งและในการเกษตร. (อ. gamma).

รังสีแกมมา

หมายถึงดู แกมมา.

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

หมายถึงน. คลื่นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความเข้มของสนามแม่เหล็กและไฟฟ้าที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ได้แก่ คลื่นวิทยุ อินฟราเรด แสงที่มองเห็นได้ อัลตราไวโอเลต เอกซเรย์ รังสีแกมมา และ รังสีคอสมิก.

รังสีคอสมิก

หมายถึงน. คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานสูงยิ่ง มีช่วงคลื่นสั้นยิ่งกว่ารังสีแกมมามาก องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นโปรตอนประมาณร้อยละ ๙๐ และพบอิเล็กตรอน อนุภาคแอลฟาด้วย เกิดมาจากอวกาศนอกโลกพุ่งมาสู่โลก ยังไม่ทราบแหล่งกำเนิดแน่นอน. (อ. cosmic rays).

กัมมันตภาพรังสี

หมายถึง[กำมันตะ-] น. การเสื่อมสลายโดยตัวเองของนิวเคลียสของอะตอมที่ไม่เสถียร เป็นผลให้ได้อนุภาคแอลฟา อนุภาคบีตา รังสีแกมมา ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีช่วงคลื่นสั้นมากและมีพลังงานสูง ทั้งหมดนี้พุ่งออกมาด้วยความเร็วสูงมาก ในบางกรณีอาจมีพลังงานความร้อนและพลังงานแสงเกิดตามมาด้วย เช่น การเสื่อมสลายของนิวเคลียสของธาตุเรเดียมไปเป็นธาตุเรดอน. (อ. radioactivity).

โพซิตรอน

หมายถึง[-ตฺรอน] น. อนุภาคมูลฐานชนิดหนึ่ง มีมวลเท่ากับอิเล็กตรอน มีประจุไฟฟ้าเท่ากับประจุไฟฟ้าของอิเล็กตรอน แต่เป็นประจุไฟฟ้าบวก เมื่อโพซิตรอนและอิเล็กตรอนอย่างละ ๑ อนุภาคมากระทบกัน ทั้งคู่จะทำลายล้างกันสูญหายไปด้วยกันทั้งสิ้น และให้พลังงานมากมายเกิดขึ้นในรูปของรังสีแกมมา, แอนติอิเล็กตรอน ก็เรียก. (อ. positron).

บีตา

หมายถึง(ฟิสิกส์) น. ชื่ออนุภาคที่พุ่งออกมาจากนิวเคลียสของอะตอมกัมมันตรังสี มี ๒ ชนิด คือ อิเล็กตรอน และ โพซิตรอน. (อ. beta particle), มักเรียกกระแสอนุภาคบีตาว่า รังสีบีตา ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ ๒๙๐,๐๐๐ กิโลเมตรต่อวินาที มีอำนาจในการเจาะทะลุมากกว่ารังสีแอลฟา แต่น้อยกว่ารังสีแกมมา. (อ. beta rays).

 คำในภาษาไทย จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ