บทความน่ารู้

การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ

ในภาษาไทยหรือแม้กระทั่งภาษาอื่น ๆ ต่างก็มีเครื่องหมายที่ใช้สำหรับการเขียนเพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน หรือให้ผู้อ่านเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่จะใช้ให้เป็นแบบแผนเดียวกัน การใช้เครื่องหมายต่าง ๆ ในภาษาไทยมีหลักการใช้ สรุปได้ดังนี้

  ในภาษาไทยหรือแม้กระทั่งภาษาอื่น ๆ ต่างก็มีเครื่องหมายที่ใช้สำหรับการเขียนเพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน หรือให้ผู้อ่านเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่จะใช้ให้เป็นแบบแผนเดียวกัน การใช้เครื่องหมายต่าง ๆ ในภาษาไทยมีหลักการใช้ สรุปได้ดังนี้

 

เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น

1.มหัพภาค (.)

ใช้เพื่อแสดงว่าจบประโยคหรือจบความ

 

2.จุด (.)

-ใช้เขียนไว้หลังตัวอักษรเพื่อแสดงว่าเป็นอักษรย่อ เช่น ร.ป.ภ. ย่อมาจาก รักษาความปลอดภัย

-ใช้เขียนไว้หลังตัวอักษรหรือตัวเลขที่บอกลำดับข้อ เช่น ก. 1.

-ใช้คั่นตัวเลขระหว่างชั่วโมงกับนาทีในการบอกเวลา เช่น 12.30 น.

-ใช้เป็นจุดทศนิยม เช่น 8.88

 

3.จุลภาค หรือ จุดลูกน้ำ (,)

-ใช้แยกวลีหรืออนุประโยคเพื่อกันความสับสน

-ใช้คั่นรายการที่เขียนต่อ ๆ กันตั้งแต่ 3 รายการขึ้นไป

-ใช้ในการเขียนบรรณานุกรม ดรรชนี และนามานุกรม

 

4.อัฒภาค (;)

-ใช้แยกประโยคเปรียบเทียบออกจากกัน

-ใช้คั่นระหว่างประโยคที่มีรูปประโยคและใจความสมบูรณ์อยู่แล้ว เพื่อแสดงความต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดของประโยคนั้น

 

5.ทวิภาค (:)

-ใช้ไขความแทนคำ “คือ” หรือ “หมายถึง” เช่น เพชรมงกุฎ : ลิลลิตเพชรมงกุฎ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ

-ใช้คั่นบอกเวลา เช่น 6 : 30 : 25

 

6.ต่อ (:)

-ใช้แสดงอัตราส่วนละมาตราส่วน เช่น ใส่น้ำและน้ำตาลในอัตราส่วน 2 : 3

-ใช้แสดงสัดส่วน ในการผสมปูนคอนกรีตใช้ปูนซีเมนต์ หิน และทรายในสัดส่วน 1 : 2 : 3

 

7.วิภัชภาค (:-)

ใช้หลังคำ “ดังนี้” “ดังต่อไปนี้” เพื่อแจกแจงรายการ รายการที่ตามหลังเครื่องหมายวิภัชภาคให้ขึ้นย่อหน้าใหม่ และใช้กับรายการที่แจกแจงครบทุกรายการ

 

8.ยัติภังค์ (-)

-ใช้เขียนไว้สุดบรรทัดเพื่อต่อพยางค์หรือคำสมาส ซึ่งจำเป็นต้องเขียนแยกบรรทัดกันเนื่องจากเนื้อที่จำกัด

-ใช้เขียนแยกพยางค์เพื่อบอกคำ เช่น ปฏิรูป อ่านว่า ปะ-ติ-รูบ

-ใช้ในความหมายว่า “ถึง” เพื่อแสดงช่วงเวลา จำนวน สถานที่  ฯลฯ เช่น รถจะมารับเวลา 08.00 – 08.30 น.

 

9.ยัติภาค (—)

-ใช้ในความหมายว่า “และ” หรือ “กับ” เพื่อบอกความสัมพันธ์ของคำ ๒ คำ เช่น ภาษาตระกูลไทย — จีน

-ใช้ขยายความ เช่น ถิ่น—พายัพ (หมายความว่า เป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคพายัพ)

-ใช้แทนคำว่า “เป็น” เช่น พจนานุกรมไทย—อังกฤษ

-ใช้แสดงลำดับย่อยของรายการที่ไม่ต้องการใส่ตัวอักษรหรือตัวเลขบอกลำดับข้อ

 

10.วงเล็บ หรือ นขลิขิต ( )

-ใช้กันข้อความที่ขยายหรืออธิบายจากข้อความอื่น ข้อคาวมในระหว่างวงเล็บ จะอ่านหรือไม่ก็ได้โดยไม่ทำให้เนื้อความเสียไป เช่น  ทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์)

-ใช้ขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

-ใช้กันตัวอักษรหรือตัวเลขที่เป็นหัวข้อ อาจใช้เพียงเครื่องหมายวงเล็บปิดอย่างเดียวก็ได้ เช่น (ก) หรือ ก)

 

11.วงเล็บเหลี่ยม [ ]

-ใช้กันคำหรือข้อความที่ขยายหรืออธิบายจากข้อความอื่นในอีกลักษณะหนึ่ง เมื่อข้อความนั้นได้มีการใช้เครื่องหมายวงเล็บแบบอื่นด้วย [ป. กต ว่า (อุปการคุณ) ที่ท่านทำแล้ว + ญู ว่า ผู้รู้]

-ใช้บอกคำอ่านในหนังสือประเภทพจนานุกรม เช่น ขนง [ขะหฺนง]

-ใช้ในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อกั้นกลุ่มตัวเลขกลุ่มสัญลักษณ์ที่มีวงเล็บอื่นอยู่แล้วไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน

 

12.วงเล็บปีกกา { }

ใช้รวบคำหรือข้อความที่อยู่คนละบรรทัดเข้าด้วยกัน เพื่อให้รู้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน อาจใช้เพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้

 

13.ปรัศนี (?)

ใช้เมื่อสิ้นสุดข้อความหรือประโยคที่เป็นคำถาม หรือใช้แทนคำถาม

 

14.อัศเจรีย์ (!)

-ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยคที่เป็นคำอุทาน เช่น พระเจ้าช่วย !

-ใช้เขียนไว้หลังคำเลียนเสียงธรรมชาติ เพื่อให้ผู้อ่านทำเสียงได้เหมาะสมกับเหตุการณ์ เช่น โครม !

-ใช้เขียนหลังข้อความสั้น ๆ ที่ต้องการเน้นเป็นคำสั่งหรือคำเตือน เช่น ระวังน้ำลึก !

 

15.อัญประกาศ (“ ”)

-ใช้เพื่อแสดงว่าคำหรือข้อความนั้นเป็นคำพูด บทสนทนา หรือความนึกคิด

-ใช้เพื่อแสดงว่าคำหรือข้อความนั้นคัดมาจากที่อื่น

-ใช้เพื่อเน้นความให้ชัดเจนขึ้น

 

16.ไข่ปลา หรือ จุดไข่ปลา (...)

ใช้สำหรับละข้อความที่ไม่ต้องการเพื่อจะชี้ว่า ข้อความที่นำมากล่าวนั้นตัดตอนมาเพียงบางส่วน ใช้ได้ทั้งตอนขึ้นต้น ตอนกลาง และตอนลงท้ายข้อความ

 

17.บุพสัญญา ( ” )

ใช้เขียนแทนคำหรือข้อความที่ซ้ำกับบรรทัดบน โดยเขียนไว้ใต้คำหรือข้อความนั้นเพื่อไม่ต้องเขียนซ้ำอีก

 

18.ทับ ( / )

-ใช้คั่นระหว่างจำนวนเลข เพื่อแบ่งจำนวนย่อยออกจากจำนวนใหญ่ เช่น บ้านเลขที่ 65/13

-ใช้ขีดคั่นระหว่างเลขบอกลำดับกับเลขศักราช เช่น ค่ำสั่งที่ 14/2562

-ใช้ขีดคั่นระหว่างตัวเลขที่แสดง วัน เดือน ปี เช่น 21/11/2562

-ใช้คั่นระหว่างคำ แทนคำว่า “หรือ” หมายความว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ชาย/หญิง

 

19.ไม้ยมก หรือ ยมก (ๆ)

ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยค เพื่อให้อ่านซ้ำคำ วลี หรือประโยคอีกครั้งหนึ่ง

 

20.ไปยาลน้อย หรือ เปยยาลน้อย (ฯ)

-ใช้ละคำที่รู้กันดีแล้ว โดยละส่วนท้ายไว้เหลือแต่ส่วนหน้าของคำพอเป็นที่เข้าใจ เช่น กรุงเทพฯ

-ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อหรือตำแหน่งข้ารราชการชั้นผู้ใหญ่ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีขึ้นไปและเอกอัครราชทูต เป็นต้น เช่น ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

 

21.ไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่ (ฯลฯ)

ใช้สำหรับละข้อความข้างท้ายที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ซึ่งยังมีอีกมากแต่ไม่ได้นำมาแสดงไว้ เช่น ผลไม่ส่งออกที่สำคัญของไทยมีทั้ง มะม่วง มะละกอ ทุเรียน ฯลฯ


อ่านต่อเพิ่มเติม


 หมวดหมู่ ภาษาไทย

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ"