บทความน่ารู้

45 คำพังเพยไทย

คำพังเพย เป็นการกล่าวเปรียบเทียบ(อุปมา) ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีที่มาจากคำกล่าวต่อ ๆ กันมาช้านาน จากเหตุการณ์ในวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน ๆ ซึ่งมีความหมายแฝง มีลักษณะคล้ายภาษิต

วันนี้มาพบกันในเรื่องของคำพังเพยไทย ซึ่งหากจะกล่าวถึงเจ้าสำบัดสำนวนคนไทยเองก็ไม่แพ้ชาติใดในเรื่องของการสรรหาสิ่งรอบตัวมาเปรียบเทียบให้เป็นประโยค หรือวลีที่ทำให้คนฟังคิดตาม เมื่อเกิดความคิดดังนั้นเราจึงอยากจะนำคำพังเพยไทยที่น่าสนใจมาแบ่งให้คุณผู้อ่านได้ลองศึกษาดูบ้าง

 

ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่าคำพังเพยมีลักษณะอย่างไร

 

คำพังเพย คืออะไร?

คำพังเพย เป็นการกล่าวเปรียบเทียบ(อุปมา) ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีที่มาจากคำกล่าวต่อ ๆ กันมาช้านาน จากเหตุการณ์ในวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน ๆ ซึ่งมีความหมายแฝง มีลักษณะคล้ายภาษิต เพื่อเป็นข้อคิดหรือแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไป ไม่เน้นการสั่งสอน แต่ก็แฝงคติเตือนใจหรือ ข้อคิดสะกิดใจให้นำไปปฏิบัติได้ หรืออาจเป็นการกล่าวเปรียบเปรยอะไรบางอย่างโดยมิได้มุ่งเน้นการสอนใจ หรืออาจเป็นการกล่าวกระทบเสียดสีก็ได้

 

เอาหล่ะเมื่อรู้ความหมายของคำพังเพยแล้ว เราไปดูรายการคำพังเพยกันเลยดีกว่า

 

รวม 45 คำพังเพยไทยที่ใช้บ่อย

  1. กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี
    หมายถึง เมื่อบ้านเมืองถึงคราวลำบาก ก็ยังเหลือคนดีมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้

  2. กลิ้งครกขึ้นภูเขา
    หมายถึง เรื่องที่ทำนั้นจะทำให้สำเร็จยากลำบาก ต้องใช้ความพยายามและความสามารถอย่างมาก

  3. กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้
    หมายถึง การทำงานที่มีความรีรอลังเลใจ เมื่อได้อย่างหนึ่งแล้ว แต่กลับต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป

  4. เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
    หมายถึง การรู้จักเก็บเงินที่ละเล็กทีละน้อย ไม่ช้าก็เป็นกอบเป็นกำ หรือการจะทำเล็ก ๆ หากพยายามทำการงานนั้นก็จะเห็นผลเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

  5. แกว่งเท้าหาเสี้ยน
    หมายถึง คนที่อยู่ดีไม่ว่าดีดันเข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นจนตัวเองเดือดร้อน

  6. เกลือจิ้มเกลือ
    หมายถึง ไม่ยอมเสียเปรียบกัน แก้เผ็ดให้สาสมกัน

  7. เกลือเป็นหนอน
    หมายถึง คนใกล้ชิด คนภายในหน่วยงานทรยศเอาความลับไปบอกกับศัตรู

  8. ใกล้เกลือกินด่าง
    หมายถึง มองข้ามสิ่งใกล้ตัวที่มีค่ามาก แต่กลับไปเอาสิ่งที่อยู่ไกลหรือหายากและมีคุณค่าน้อยกว่า

  9. ไก่ดีตีหล้า ๆ ไก่ขี้ข้าตีเอา ๆ
    หมายถึง คนฉลาดจะรู้จักคิดก่อนจะทำ ผิดกับคนโง่ที่มุ่งแต่จะทำโดยไม่คิดให้ดีเสียก่อน

  10. ขนทรายเข้าวัด
    หมายถึง การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

  11. ขมิ้นกับปูน
    หมายถึง คนสองคนที่ไม่ลงรอยกัน เมื่ออยู่ใกล้กันก็มักจะมีปัญหากระทบกระทั่งหรือทะเลาะกัน

  12. ขว้างงูไม่พ้นคอ
    หมายถึง สิ่งไม่ดีที่เราพยายามกำจัดมักจะวกกลับมาอีก

  13. ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง
    หมายถึง ข้างนอกอาจจะดูดี มีค่า แต่ข้างในหรือตามความเป็นจริงแล้ว มิได้ดีตามที่เห็น

  14. ข้าวใหม่ปลามัน
    หมายถึง ของใหม่ ๆ อะไรก็ดูดีไปหมด มักใช้เปรียบเทียบสามีภรรยาที่แต่งงานกันใหม่ ๆ

  15. เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
    หมายถึง ผู้ที่ทำดีไว้แต่แรกจนเป็นที่นับถือ แต่ภายหลังกลับทำชั่วลบล้างความดีที่ตนได้ทำไว้ หรือหมายถึงไม่ทำตามสัญญา

  16. ชักใบให้เรือเสีย
    หมายถึง การพูดหรือการกระทำที่ทำให้ออกนอกเรื่องในทางที่ไม่ดี โดยไม่คิดถึงผลกระทบ

  17. ชายสามโบสถ์ หญิงสามผัว
    หมายถึง คนที่ไม่ควรไปรัก เนื่องจากเป็นคนใจโลเล มีจิตใจไม่มั่นคง

  18. ซื่อเหมือนแมวนอนหวด
    หมายถึง คนที่แสดงออกเป็นคนซื่อ แต่ภายในแล้วมีความเจ้าเล่ห์

  19. ตกกระไดพลอยโจน
    หมายถึง จำเป็นต้องยอมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่มีทางเลี่ยง

  20. ทำนาบนหลังคน
    หมายถึง การแสวงหาหาผลประโยชน์จากผู้อื่น โดยใช้วิธีเบียดเบียนและขาดความมีมนุษยธรรม

 

 

  1. นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น
    หมายถึง ไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น มักใช้เป็นข้ออ้างเวลาไม่อยากรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น

  2. น้ำกลิ้งบนใบบอน
    หมายถึง ใจโลเล ใจไม่แน่นอน เปลี่ยนไปอยู่เรื่อย ๆ

  3. น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
    หมายถึง อย่าขัดขวางหรือขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ เพราะไม่เกิดประโยชน์ใด

  4. ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
    หมายถึง พื้นที่นั้น ๆ มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ยากที่จะอดตาย

  5. ปิดควันไฟไม่มิด
    หมายถึง เรื่องเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นและมีคนรู้กันในวงกว้างแล้ว จะทำอย่างไรก็ไม่สามารถปิดเรื่องนั้นได้อีกต่อไป

  6. ปลูกเรือนคร่อมตอ
    หมายถึง การกระทำที่ไปก้าวก่ายสิทธิ์ของผู้อื่นโดยรู้อยู่แก่ใจ หรืออาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตามอาจจะเป็นเหตุให้เกิดความบาดหมางกันได้

  7. ปลาตกน้ำตัวโต
    หมายถึง สูญเสียบางอย่างไปรู้สึกว่าเป็นการเสียที่ใหญ่มาก ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น

  8. ปลาใหญ่กินปลาเล็ก
    หมายถึง ผู้มีอำนาจมากกว่ากดขี่ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า

  9. ปากปราศรัยใส (น้ำใจ) เชือดคอ
    หมายถึง พูดดีแต่ปาก แต่ใจคิดร้าย

  10. ผงเข้าตาตนเอง
    หมายถึง ผู้ที่เก่งในการแก้ปัญหาให้คนอื่น ๆ แต่เมื่อตนเองเกิดมีปัญหากลับแก้ปัญหาของตนไม่ได้

  11. ผีเข้าผีออก
    หมายถึง คนที่มีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย

  12. ฝนทั่งให้เป็นเข็ม
    หมายถึง ความเพียรพยายาม ทำให้ประสบผลสำเร็จ

  13. รู้อย่างเป็ด
    หมายถึง ไม่ควรรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ไม่รู้จริงสักอย่าง

  14. เรือล่มในหนองแล้วทองจะไปไหน
    หมายถึง คู่บ่าวสาวมีฐานะทั้งสองฝ่ายแต่งงานกัน ทรัพย์สินก็จะอยู่ในเครือญาติของทั้งคู่

  15. ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ
    หมายถึง เมื่อต้องพี่งพาอาศัย ก็ต้องเกรงใจยอมทำตามใจเขา อย่าไปขัดแย้งกับเขา

  16. วันพระไม่มีหนเดียว
    หมายถึง แม้วันนี้ไม่สามารถกระทำได้ วันข้างหน้าก็ยังมีโอกาสอีก มักใช้ในเชิงอาฆาตมาดร้าย การเอาคืน การแก้แค้น

  17. วัวสันหลังขาด
    หมายถึง ผู้ที่ทำอะไรผิดไปแล้วมีอาการส่อพิรุธให้เห็น

  18. สิบเบี้ยใกล้มือ
    หมายถึง แม้มีค่าน้อยแต่แน่ใจว่าต้องได้มาแน่ ๆ ดีกว่าการไปคาดหวังสิ่งที่มีค่ามาก แต่ไม่แน่นอนว่าจะได้มาหรือไม่

  19. สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ
    หมายถึง จะสุขหรือจะทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับความคิดและทัศนคติของตัวเราเอง

  20. หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว
    หมายถึง การประชดประชันอีกฝ่าย โดยผู้ประชดต้องการทำให้รู้สำนึก แต่ผู้ถูกประชดไม่ได้รู้สึกสำนึกแต่อย่างใด กลับเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการประชดนั้น

  21. หนามแหลมบ่มีคนเสี้ยม
    หมายถึง คนที่มีความสามารถสูง อาจจะเก่งโดยไม่มีผู้สอนก็เป็นได้ หรือหมายถึงคนที่มาจากตระกูลที่ดี ตัวบุคคลนั้นก็จะมีแนวโน้มที่ดีไปด้วย

  22. หมาเห่าใบตองแห้ง
    หมายถึง คนที่ทำตัวเหมือนมีความเก่งกล้าสามารถ แต่ที่จริงเป็นคนที่ขี้ขลาดไม่กล้าอย่างที่พูด

  23. หมาเห่าไม่กัด
    หมายถึง คนที่โอ้อวดว่าตนเก่ง หรือปากเก่ง แต่พอเอาเข้าจริงก็หวาดกลัวไม่กล้าที่จะเผชิญหน้า

  24. หว่านพืชใดได้ผลอย่างนั้น
    หมายถึง ทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้นตอบสนอง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

  25. เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
    หมายถึง คนที่ทำอะไรไม่จริงจัง ไม่เอาการเอางาน ทำอะไรมักไม่สำเร็จแม้กระทั่งเรื่องง่าย ๆ

 


รู้ความหมายและรายการคำพังเพยกันแล้ว หวังว่าจะมีประโยชน์บ้าง ยังไงก็ฝากกดไลก์ คอมเมนต์กันเข้ามาได้

 รู้หรือไม่?

  1. คำพังเพย คืออะไร?

    คำพังเพย เป็นการกล่าวเปรียบเทียบ(อุปมา) ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีที่มาจากคำกล่าวต่อ ๆ กันมาช้านาน จากเหตุการณ์ในวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน ๆ ซึ่งมีความหมายแฝง มีลักษณะคล้ายภาษิต เพื่อเป็นข้อคิดหรือแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไป ไม่เน้นการสั่งสอน แต่ก็แฝงคติเตือนใจหรือ ข้อคิดสะกิดใจให้นำไปปฏิบัติได้ หรืออาจเป็นการกล่าวเปรียบเปรยอะไรบางอย่างโดยมิได้มุ่งเน้นการสอนใจ หรืออาจเป็นการกล่าวกระทบเสียดสีก็ได้


อ่านต่อเพิ่มเติม

คำพังเพยที่เกี่ยวข้อง

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "45 คำพังเพยไทย"