ภาษาอีสาน

ภาษาอีสาน หมวด ก (หน้าที่ 2)

  1. กมุท
    หมายถึง บัวสาย ดอกขาว (ป.ส.).
  2. กมเลส
    หมายถึง ผู้เป็นใหญ่แห่งพระลักษมี คือพระนารายณ์.
  3. กร
    หมายถึง 1.) มือ 2.) ผู้ทำ ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่นกรรมกร ผู้ทำการงาน (ป.).
  4. กรก
    หมายถึง ลูกเห็บ กรกวรรษ ฝนลูกเห็บ (ป.ส.).
  5. กรกฎ
    หมายถึง ปู ลักษณะของปูอ่อนในแข็งนอกเดินคดไปคดมา ก้าวไปสองก้าว ก้าวกลับหนึ่งก้าว.
  6. กรกฎาคม
    หมายถึง เดือนกรกฎาคม อีสานเรียกเดือนแปด เรียกเดือนที่ ๔ ตามสุริยคติ.
  7. กรณี
    หมายถึง คดี, เรื่อง, เหตุ (ป.ส.).
  8. กรณียกิจ
    หมายถึง กิจอันควรทำ, ธุระอันควรทำ, หน้าที่อันควรทำ. (ป.).
  9. กรณียะ
    หมายถึง ควรทำ, พึงทำ (ป.).
  10. กรด
    หมายถึง ธาตุผสมมีหลายอย่าง เช่น น้ำกรด เป็นต้น.
  11. กรน
    หมายถึง หายใจเสียงดังในลำคอเมื่อเวลานอนหลับ เรียก กรน อย่างว่า ฟังยินเสียงกรนก้องคุงบนคีคื่น (กา) เมื่อนั้นยักษ์ใหญ่ฮู้นางเคียดคุงใจ มันก็โลมนางหลับแค่ปรางค์ดอมน้อง ฟังยินเสียงกรนก้องพระมุณเทียรทีโทด คือคู่กุญชราชฮ้องเสียงก้องคั่งบน แท้แล้ว (สังข์).
  12. กรบูร
    หมายถึง ชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่ง กลั่นเอายางทำยาได้ เรียก กรบูร การบูร ก็ว่า.
  13. กรภ
    หมายถึง 1.หลังมือ 2.งวงช้าง 3.ลูกช้าง 4.ลูกอูฐ 5.อูฐทั่วไป 6.ของหอมชนิดหนึ่ง 7.ตะโพก (ส.). 8.ชื่อนักบัตรที่ ๑๓ อีกอย่างหนึ่งเรียก หัสตะ (ป.).
  14. กรม
    หมายถึง 1.)แผนกย่อยที่ แยกจากกระทรวงหรือทบวงเรียกว่ากรม เช่นกรมการปกครอง กรมศาสนา กรมที่ดิน กรมตำรวจ เป็นต้น. 2.)อิศริยยศที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้ง เช่น กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ กรมพระยา กรมสมเด็จเจ้าพระยา.
  15. กรมธรรม์
    หมายถึง เอกสารกู้หนี้ยืมสิ้น, สัญญาซื้อขายทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์, เอกสารในการประกันภัย เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต เป็นต้น
  16. กรรณิกา
    หมายถึง ช่อฟ้า, ฝักบัว, เครื่องประดับหู (ป.).
  17. กรรณิการ์
    หมายถึง ชื่อไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งกลีบขาว ดอกหอม ใบคาย ก้านดอกสีแสด ใช้ย้อมผ้าก็ได้ ใช้ประดับก็ได้ เรียก กรรณิการ์ กรณิการ์ กณิการ์ ก็ว่า อย่างว่า กณิการ์เกียงดอกดวงดูล้น ภูชัยท้าวเดินเดียวชมดอก คือดั่งดอกกลิ่นแก้มเมียแก้วอยู่เฮือน (กา).
  18. กรรม
  19. กรรม
    หมายถึง 1.)การ, การงาน, การกระทำ, กิจ แยกแยกกรรมออกเป็น ๓ คือ กายกรรมงานมือ วจีกรรมงานพูด มโนกรรม งานคิด อย่างว่า งานคึดงานเว้างานทำคู่อย่าง บูฮาณเฮียกเอิ้นโฮมเว้าว่ากรรม (บ.). 2.)บุญคือการทำความดี บาปคือการทำความชั่ว บุญบาปติดตามผู้ทำให้ได้รับความดีหรือชั่ว เรียก กรรม อย่างว่าบุญมีได้เป็นนายใช้เพิ่น บุญบ่ให้เขาชิใช้ตั้งแต่เฮา (ภาษิต) บุญมีแล้วแนวดีป้องใส่บุญบ่ให้แนวขี้ฮ้ายแล่นโฮม(ภาษิต). 3.)เคราะห์ คือสิ่งที่ไม่สมหวังเรียก กรรม เช่น ชูชกได้เมียสาว ถูกเมียบังคับให้ไปขอกัณหาชาลีมาเป็นทาส เมื่อพระเวสสันดรให้โอรสและธิดาแล้วแนะนำให้ชูชกไปเมืองปู่ เพื่อพระเจ้าปู่จะได้ไถ่ถอนหลาน แต่ชูชกไม่กล้าไปเกรงจะถูกเคราะห์กรรม (เวส-กลอน) 4.)ผลของความดีหรือชั่วที่ตนทำในอดีตตามให้ผลเรียก กรรม อย่างว่า ผู้สาวได้ผัวเถ้ากรรมลาวสร้างแต่เก่า ผู้บ่าวได้แม่ฮ้างกรรมสร้างตั้งแต่หลัง (ภาษิต). กรรมแบ่งบั่นปั่นป่อนมาพบ บารมีภายหลังจิ่งได้เวียนมาพ้อ (บ.). 5.)คนตายเรียก ถึงแก่กรรม อย่างว่า ชื่อว่ากรรมเถิงแล้วจำใจจำจาก บ่มีใผแก่ทื้นคืนได้โลกเฮา (บ.) ชื่อว่าความตายนี้แขวนคอทุกบาดย่าง ใผกะแขวนอ้อนต้อนเสมอด้ามดั่งเดียว (บ.).
  20. กรรมกร
    หมายถึง คนงาน, คนรับจ้างทำงาน เช่น ชาวนา ชาวสวน เป็นต้น.
  21. กรรมกรณ์
    หมายถึง ลงโทษ ได้แก่การลงโทษผู้ทำความผิด โดยการจำคุก ๑ ปรับไหม ๑ ทั้งจำคุกทั้งปรับ ๑ ประหารชีวิต ๑. อาญา, เครื่องสำหรับลงอาญา ได้แก่ตัวบทกฎหมายที่ลงโทษแก่บุคคลที่ทำความผิด โดยสมควรแก่โทษานุโทษ.
  22. กรรมการ
    หมายถึง บุคคลที่ได้รับเลือกหรือแต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการทำงานของรัฐ ของเอกชน ขององค์การ ของบริษัท ห้าง ร้าน หรือการสาธารณกุศลเรียก กรรมการ.
  23. กรรมการิณี
    หมายถึง กรรมการซึ่งเพศหญิงที่ได้รับเลือกหรือแต่งตั้งให้ทำงานดังกล่าวร่วมกับคณะกรรมการ.
  24. กรรมการเฉพาะกิจ
    หมายถึง กรรมการที่ได้รับเลือกแต่งตั้งให้ทำงานเฉพาะอย่าง เช่น งานปราบปราม งานปลูกต้นไม้.
  25. กรรมกูไง
  26. กรรมขัย
    หมายถึง การสิ้นอายุเพราะกรรม เช่น ตายเพราะหมดอายุ เป็นต้น.
  27. กรรมคติ
    หมายถึง ทางดำเนินแห่งกรรม ทางดำเนินแห่งกรรมมี ๒ อย่าง คือ สุคติไปดี ทุคติไปชั่ว คนทำความดีตายแล้วไปสู่สุคติ คือไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม คนทำความชั่วตายแล้วไปสู่ทุคติ คือไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสูรกาย.
  28. กรรมชรูป
    หมายถึง รูปที่เกิดแต่กรรม คนหรือสัตว์ที่เกิดมา ร่างกายที่เป็นตัวตนของเรากรรมเป็นคนแต่ง เราแต่งเองไม่ได้ถึงพ่อแม่จะมีส่วนในการแต่งก็แต่งให้สวยงานไม่ได้ พ่อแม่จึงเป็นเสมือนเรือน ถ้าผู้มาเกิดคือเจ้าของเรือน สวยงามแล้วเรือนเกิดไม่เป็นปัญหา
  29. กรรมชวาต
    หมายถึง ลมเกิดแต่กรรม มีครรภ์ครบกำหนดจะคลอดแล้วเกิดลมเบ่ง ลมเบ่งนี้เรียก ลมกรรมชวาต อย่างว่า ลมกรรมชวาตต้องเถิงองค์ภูวนาถ (กา).
  30. กรรมชา
    หมายถึง ผู้เกิดแต่กรรม คนที่สร้างกรรมดีไว้ เมื่อเกิดมาก็เกิดในพ่อแม่ที่ดี มีอวัยวะครบ ไม่ใบ้บ้าเสียจริต ผิดมนุษย์ มีสติปัญญาดี ถ้าสร้างกรรมไม่ดีก็เกิดมาในที่ตรงกันข้าม.
  31. กรรมฐาน
    หมายถึง ที่ตั้งแห่งการงาน มี ๒ คือ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานได้แก่อุบายสงบใจ วิปัสสนากรรมฐานอุบายเรื่องปัญญา.
  32. กรรมทายาท
    หมายถึง ผู้รับผลของกรรม กรรมมี ๒ คือ กรรมดี เรียก กุศลกรรม กรรมไม่ดี เรียก อกุศลกรรม เราสร้างกรรมดีเราก็ได้รับผลดี เราสร้างกรรมชั่วเราก็ได้รับผลชั่ว พ่อแม่พี่น้องรับแทนไม่ได้.
  33. กรรมบถ
    หมายถึง ทางแห่งกรรม มี ๒ อย่าง คือ กุศลกรรม ทางแห่งกรรมดี อกุศลกรรมทางแห่งกรรมไม่ดี ทางแห่งอกุศลกรรมมี ๑๐ อย่าง จัดเป็นกายกรรม ๓ อย่าง จัดเป็นวจีกรรม ๔ อย่าง จัดเป็นมโนกรรม 3 อย่าง ทางแห่งกุศลกรรมก็มี ๑๐ อย่างในทางตรงข้าม
  34. กรรมปฏิสรณะ
    หมายถึง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัยที่พึ่งแยกออกได้เป็น ๒ อย่าง คือตนและผู้อื่น พึ่งตนดีกว่าพึ่งผู้อื่น กรรมดีหรือกรรมชั่วที่เราทำไว้จะเป็นที่พึ่งของเรา.
  35. กรรมพันธุ
    หมายถึง มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เช่น พ่อแม่เป็นคนดีลูกที่เกิดมาก็พลอยดีไปด้วย อย่างว่า เชื้อหมากต้องบ่ห่อนหล่นไกลกก แนวผมดกบ่ห่อนเป็นหัวล้าน (กลอน).
  36. กรรมวาจา
    หมายถึง คำสวดในพิธีทำสังฆกรรม เช่น สวดกรรมวาจาในเวลาอุปสมบท.
  37. กรรมวาจาจารย์
    หมายถึง อาจารย์สวดกรรมวาจาฝ่ายขวา คู่กับพระอนุสาวนาจารย์ อาจารย์ส่วนกรรมวาจาฝ่ายซ้ายในเวลาอุปสมบท.
  38. กรรมวิธี
    หมายถึง ระเบียบ, แบบอย่าง, หลักการ การจะทำอะไรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ต้องให้มีระเบียบแบบอย่าง จึงจะน่าดูน่าชม เช่น จะฟังเทศน์ ฟังคำสั่งสอน จะกราบจะไหว้ต้องให้มีครู อย่างว่า หมกปลาแดกมีครู จี่ปูมีวาด (ภาษิต) ถ้าไม่มีครูจะกลายเป็นว่าหมกปลาแดกหนอนน้อยบ่ตาย (ภาษิต).
  39. กรรมวิบาก
    หมายถึง ผลของกรรมเรียกวิบาก ผลดีเกิดจากการทำดี ผลไม่ดีเกิดจากการทำไม่ดี คนทำดีได้รับผลดี คนทำชั่วได้รับผลชั่ว ผลชั่วแม้แต่ผลชั่วก็ไม่ต้องการ ต้องการแต่ผลดี อย่างว่า ดีดีนี้ใผเห็นอยากเบิ่ง เทิงอยากเทิ้งเอาขึ้นขี่คอ (ภาษิต).
  40. กรรมสิทธิ์
    หมายถึง ความเป็นเจ้าของทรัพย์, ความมีอำนาจในสิ่งของที่ตนมี เช่นกรรมสิทธิ์ในที่ดิน กรรมสิทธิ์ในข้าวของเงินทอง เป็นต้น.
  41. กรรมาธิการ
    หมายถึง กรรมการที่มีอำนาจหน้าที่สูงกว่ากรรมการ โดยที่จะทำการสอบสวนข้อความใดๆ เกี่ยวแก่กิจการที่ตนมีอำนาจหน้าที่ก็ได้ เช่น กรรมาธิการแห่งสภาผู้แทนราษฎร.
  42. กรรมานุรูป
    หมายถึง เหมาะสมแก่กรรม, ควรแก่การงาน (ส.).
  43. กรรมเวร
    หมายถึง การทำด้วยความพยาบาทปองร้าย โดยที่คู่กรรมนั้นได้หมายหมั้นปั้นใจจะตามล้างตามผลาญให้ได้.
  44. กรรม์
    หมายถึง กรรม.
  45. กรรแสง
    หมายถึง 1.)ผ้าสะไบ (ข.กำแซง). 2.)ร้องให้.
  46. กรรโมปกรณ์
    หมายถึง เครื่องอุปกรณ์แห่งการงาน.
  47. กรวด
    หมายถึง หินแฮ่
  48. กรวีก
    หมายถึง นกการเวก (ป. กรวิก) นกที่มีเสียงร้องไพเราะ เรียก นกกรวีก กอระวีก ก็ว่า อย่างว่า กอระวีกฮ้องเสียงก้องกล่อมไพร (กา) ผ่อเห็นเดือนด่วนแจ้งพ้นพุ่งเขาเขียว พุ้นยอ ฉายาเฮียงฮ่มดอยดาวซ้าย เหนหอนฮ้องแกวแกวกอระวีก พรายป่าเปล้ายูงผู้ส่งเสียง (สังข์)
  49. กรอก
    หมายถึง เท เทยาเข้าปากเรียก กรอกยาเข้าปาก เช่น เมื่อคนป่วยกินยาน้ำด้วยตนเองไม่ได้ ใช้คนเทยาเข้าปาก เรียก กรอกยาเข้าปาก.
  50. กรอง
    หมายถึง 1.)แยกของละเอียดออกจากของหยาบ เช่น ใช้ผ้ากรองน้ำที่สกปรกให้สะอาด หรือกรองเหล้าโทด้วยผ้าขาว เรียก กรอง ตอง ก็ว่า. 2.)ตรึกตรอง เช่นคิดถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เรียก กรอง ตอง ก็ว่า อย่างว่า คึดฮอดน้องนอนกรองน้ำตาหลั่ง คันแม้นพังจั่งส้างโชด เพม้างตั้งแต่ดน (กลอน)
  51. กรองกรอย
    หมายถึง หงอยเหงา, เศร้าหมอง, ไม่เบิกบาน, ไม่แช่มชื่น เช่น คนมีเรื่องทุกข์ใจนั่งจับเจ่าอยู่.
  52. กรองกรอย (ตองตอย)
    หมายถึง รุ่มร่าม, รุ่งริ่ง คนที่นุ่งผ้าขาดวิ่น
  53. กรอย
    หมายถึง ก้น เรียกกรอย เช่นกองก้นกองกรอยกอยก็ว่าอย่างว่าแม่อี่น้อยต่ำหูกกะหลับเอากะหลับแขวนคอให้น้อง น้องบ่เหล่นกองก้นกองกอยไฟไหม้หมอนอี่นายกับแก้กับแก้ฮองปลายไม้โอดโอสาวนางโพขี่ม้าเดบเด้งเอาม้ากูมาเฮ็ดนาหนองไพ่แข้ขึ้นไข่แมงดาขึ้นฟักไก่ขาหักตักขึ้นตักลง(กล่อมลูก)
  54. กระ
    หมายถึง 1.)เต่าทะเลชนิดหนึ่ง หลังเป็นเกร็ดแผ่นโตๆ ซ้อนกันเหมือนกระเบื้องมุงหลังคา. 2.)คนแก่มีจุดตามตัว เรียกตกกระออกหมึก ออกซาง ก็ว่า
  55. กระกูล
    หมายถึง ตระกูล, เชื้อ, สาย, เหล่า, กอ, เผ่าพันธุ์เรียก กระกูล สกุล ตระกูล ก็ว่า อย่างว่า พระยานาคน้าวกลอนถี่ถามดู กุมารมาแต่ใดเถิงข้อย นั่นเด จักว่าเป็นแนวเชื้อกะกูลนามในทีปใดเด เจ้าพ่อทรงเดชได้เดินดั้นฮอดเฮา นี้นา (สังข์) .
  56. กระจก
    หมายถึง กระจกเงา กระจกสำหรับส่องดูเงาหน้า เรียก กระจก แว่นแยงเงา ก็ว่า.
  57. กระจวน
    หมายถึง ผง, เกสร อย่างว่า นางก็เอากระจวนจันทน์คันธรส บดแหลกยิ่งหนักหนา ไปถวายบูชาพระพุทธเจ้า (เวส) เหมือยเร่งล้นพรมพั้วกาบกระจวน (สังข์). แตก, ไหม้, ละเอียด อย่างว่า ตัดแผ่นพื้นผาล้านมุ่นกระจวน (กา) เวียงใหญ่กว้างไฟไหม้มุ่นกระจวน (กาไก) เห็นมารเหยียดคู้คำโศกถือทวน คึดเมื่อยามเฮียงสมชอบคนิงมโนแค้น คีงแข็งกร้าวตีนมือทำถีบ ผ้าแผ่นปลิ้นกระจวนล้านเลือดนอง (สังข์).
  58. กระจอก
    หมายถึง ชื่อนกตัวเล็กๆ ชนิดหนึ่ง ชอบทำรังตามหลังคาเรือน เรียก นกกระจอก ก็ว่า อย่างว่า อุมลัวฮุ้งกาในแกกะออก จอกก่างกี้เจียผ้ายกะแดบดิน (สังข์). เศษ, เหลือ สิ่งของที่เหลือใช้เล็กๆ น้อยๆ เรียก กระจอก หรือ คนที่มีฐานะต่ำเรียก คนกระจอก. เขยก (ข. ขจอก) เรียก ม้าขาเขยก ว่า ม้ากระจอก.
  59. กระจอกฟ้า
    หมายถึง ชื่อนกชนิดหนึ่ง ชอบทำรังอยู่บนต้นไม้สูงๆ เรียก นกจอกฟ้า อย่างว่า นกแตดแต้แลแจนแวน ฮังแขวนนั้นแม่นนกกระจอกฟ้า (เวส).
  60. กระจอน
    หมายถึง ตุ้มหู เครื่องประดับหูของหญิงสาว ทำด้วยเงิน ทอง ทองคำ มี 2 ชนิด
  61. กระจอนจูม
    หมายถึง ตุ้มหูที่ทำเป็นดอกตูมๆ เหมือนดอกงิ้ว เรียก กระจอนจูม อย่างว่า กระจอนจูมสุบเซิดคำกวมเกล้า (ขุนทึง).
  62. กระจอนป่า
    หมายถึง ดอกสลิด ชื่อไม้ดอกชนิดหนึ่ง เกิดตามป่า เป็นไม้พุ่ม เรียก ต้นกระจอน.
  63. กระจอนยอย
    หมายถึง ตุ้มหูที่ทำเป็นสร้อยระย้า เรียก กระจอนยอย อย่างว่า แหวนทรงนิ้วกระจอนยอยสบสอด (กา) กระจอนยอยส่องหน้าขาวแจ้งแจ่มจันทร์ (ฮุ่ง).
  64. กระจอบ
    หมายถึง เครื่องมือสำหรับใช้ขุดดิน เรียก กระจอบ เสียม ก็ว่า.
  65. กระจอบบ้อง
    หมายถึง เสียม เสียมขุดมัน เรียก กระจอบบ้อง อย่างว่า นางก็ถือเอายังกระจอบบ้อง เป็นเครื่องต้องขุดหัวมัน (เวส).
  66. กระจะ
    หมายถึง แจ่มแจ้ง, ชัดเจน, ขาวผ่อง ลายชัดเจนเรียก ลายกระจะ ขาวผ่องเรียก ขาวกระจะ อย่างว่า ขาวกระจะปานน้ำถ้วมเข้า ตั้งเช้าเง้าปานนมผู้สาว.(บ).
  67. กระจัง
    หมายถึง ลวดลายชนิดหนึ่ง สำหรับติดโลงศพ เรียก ลายประจัง ลายวัลลีแล่น ก็ว่า
  68. กระจัดกระจาย
    หมายถึง เรี่ยราด, ไม่เป็นระเบียบ เช่น ของสิบอย่างวางไว้สิบที่ เรียกกระจัดกระจาย กระหยาดกระยาย ซะซายยายยัง ก็ว่า อย่างว่า สองพันกลิ้งกุมกันกลางแก่ง พระก็เปื้องดาบแผ้วเผลี้ยงเนื้อท่านธร คีงกระจัดม้างหัวชวนสะเด็นขาด มันก็ติดต่อได้คืนเข้าฮ่อมา (สังข์).
  69. กระจับ
    หมายถึง พืชลอยน้ำชนิดหนึ่ง มีหัวกินได้ ใบใช้เป็นผัก เรียก กระจับ หมากจับ ก็ว่า.
  70. กระจับปี่
    หมายถึง พิณสี่สาย ซุง ก็ว่า.
  71. กระจาด
    หมายถึง ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ รูปเตี้ย ปากกว้าง สำหรับใส่สิ่งของที่ซื้อมาจากตลาด หรือใส่เครื่องกัณฑ์เทศน์มหาชาติ.
  72. กระจาบ
    หมายถึง ชื่อนกตัวเล็กๆชนิดหนึ่ง ขนาดนกกระจอก เรียก นกกระจาบ นกจาบ ก็ว่า อย่างว่า ฝูงนั้นกะทาทองไท้ยูงขัวเขาข่อ จิบจาบจ้อยคณาขุ้มขาบเขียว (สังข์).
  73. กระจาย
    หมายถึง กำจาย ชื่อไม้เถาชนิดหนึ่งใบและดอกคล้ายต้นฝาง ฝักคล้ายฝักส้มป่อย เมล็ดใหญ่ ใช้เมล็ดแช่น้ำสีดำใช้ย้อมผ้าได้ เรียก หมากกระจาย อย่างว่า โอนอหีเอย คันชิเมือนำอ้ายหีบ่แดงให้ย้อมครั่ง คันแม่นย้อมครั่งแล้ว ให้ลงแหล้หมากกระจาย (อ่านเจือง). ชื่อว่านชนิดหนึ่งเรียก ว่านกระจาย ใช้เป็นว่านคงยิงไม่ออกแทงไม่เข้าผู้มีว่านกระจายต้องเลี้ยงว่านปีละครั้ง ใช้เขียดหรือกบดิบเลี้ยง โยนกบหรือเขียดดินเข้าไปว่านจะดูดกินเลือดกบหรือเขียดทันทีถ้าไม่เลี้ยงว่านจะไม่ศักดิ์สิทธิ์และเจ้าของว่านจะเป็นปอบ
  74. กระจิบ
    หมายถึง ชื่อนกตัวเล็กๆ ชนิดหนึ่ง ร้องเสียงดังจิ๊บๆ เรียก นกกระจิบ นกจิบ ก็ว่า อย่างว่า อุมลัวเค้ากาในแกกระจอก จิบก่างกี้เจียผ้ายกะแดบดิน (สังข์).
  75. กระจี
    หมายถึง เขียว, อ่อน ดอกไม่เริ่มบาน สีเขียวอ่อนเรียก กระจี ขจี ก็ว่า อย่างว่า มาลาพั้วพวงกระจีแกมกิ่ง (กา).
  76. กระจ่าง
    หมายถึง สว่าง, สุกใส, ชัดเจน, แจ่มแจ้ง.
  77. กระจ้อน
    หมายถึง -ชื่อสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่ง ตัวเล็กคล้ายกระรอก หรือกระแต หน้าแหลม -เล็ก แกร็น เช่น ม้าตัวเล็กและผอม เรียก ม้ากระจ้อน ม้าบักจ้อน
  78. กระดอน
    หมายถึง สะท้อนขึ้น, กระเด็นขึ้น เรียก กระดอน ดอน ก็ว่า.
  79. กระดอม
    หมายถึง ชื่อพรรณไม้จำพวกหนึ่ง มีรสขม มี ๓ ชนิด คือ กระดอมต้น กระดอมเครือ กระดอมพุ่ม อย่างว่า ยินขมในหมากกระดอมแคมฮั้ว (ฮุ่ง).
  80. กระดอมต้น
    หมายถึง ชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่ง ใบเป็นแฉก ดอกเป็นช่อ มีสีขาว เรียก กระดอมต้น.
  81. กระดอมพุ่ม
    หมายถึง ชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่ง ต้นเป็นพุ่ม ดอกเป็นช่อ มีสีขาว กลิ่นหอม เรียก กระดอมพุ่ม.
  82. กระดอมเครือ
    หมายถึง ชื่อพรรณไม้เถาชนิดหนึ่ง ใช้ทำยา เรียก กระดอมเครือ.
  83. กระดาน
    หมายถึง ไม้ที่ถากหรือเลื่อยเป็นแผ่นๆ เรียก ไม้กระดาน ไม้ชะดาน ไม้แป้น ก็ว่า.
  84. กระติบข้าว
    หมายถึง ก่องใส่ข้าวเหนียวสุก
  85. กระต่า
    หมายถึง ตระกร้าใส่ของต่างๆ
  86. กระบม
    หมายถึง ภาชนะชนิดหนึ่งทำด้วยไม้นำมาขุดเป็นรูปวงกลมมีขอบ ด้ามสั้น สำหรับสงข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ ๆ หรือคนข้าวเหนียวนึ่ง ให้ลดความร้อนก่อนนำไปใส่ในกล่องข้าว และยังใช้เป็นภาชนะรองถ้วยชามเป็นสำรับ กระโบม หรือ โบม ก็เรียก
  87. กระป่อม (ตักน้ำ)
    หมายถึง ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ รูปยาวก้นแหลม ทาด้วยชันคล้ายก้นคุ ใช้เชือกหย่อนลงตักน้ำในบ่อลึก
  88. กระป่อม (ตาข่ายดักปลา)
    หมายถึง ลำเผือกหรือลำสะโน ไม้สองชนิดนี้มีน้ำหนักเบา ตัดยาวขนาดคืบผูก เชือกห่างกันประมาณ 1 ศอก ขึงในเวลากางมอง เรียก ป่อมมอง
  89. กระพ้อม
    หมายถึง อุปกรณ์ที่มีไว้สำหรับเก็บข้าวเปลือกที่ฟัดออกมาแล้วมาเก็บไว้เพื่อไว้ขายหรืไว้เพาะปลูกอีกคาว
  90. กระสัณท์
    หมายถึง อยากจะได้
  91. กระเดิด
    หมายถึง ปลากระดี่ ชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง เรียก ปลากระเดิด.
  92. กระแต
    หมายถึง กระแต,กระรอก
  93. กระโดง
    หมายถึง ใบเรือ
  94. กระโด้น
    หมายถึง ท้ายทอย
  95. กระโตก
    หมายถึง ถาดที่ใช้สำหรับใส่อาหารต่างๆ
  96. กระโบม
    หมายถึง ภาชนะชนิดหนึ่งทำด้วยไม้นำมาขุดเป็นรูปวงกลมมีขอบ ด้ามสั้น สำหรับสงข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ ๆ หรือคนข้าวเหนียวนึ่ง ให้ลดความร้อนก่อนนำไปใส่ในกล่องข้าว และยังใช้เป็นภาชนะรองถ้วยชามเป็นสำรับ กระบม หรือ โบม ก็เรียก
  97. กระโบ่งตา
    หมายถึง กระบอกตา
  98. กร้วบกร้วบ
    หมายถึง กร้วบๆ มีเสียงดังอย่างนั้น เช่น เสียงเคี้ยวของแข็งดังกร้วบกร้วบ.
  99. กลอย
    หมายถึง ชื่อไม้เถาชนิดหนึ่งจำพวกมัน มีหัวกินได้ หัวดิบมีพิษ คัน ต้องแช่น้ำให้จืดแล้วนึ่งให้สุก กินแทนข้าวได้
  100. กลับเฮียน
    หมายถึง กลับบ้าน

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "ภาษาอีสาน หมวด ก (หน้าที่ 2)"