คำสมาส รวมคำสมาส ลักษณะ และการใช้คำสมาส

คำสมาส รวมคำสมาส ลักษณะ และการใช้คำสมาส
คำสมาส รวมคำสมาส ลักษณะ และการใช้คำสมาส

คำสมาส คือ อะไร?

คำสมาส คือ การสร้างคำใหม่ในภาษาบาลีสันสกฤต เช่นเดียวกับคำประสมในภาษาไทย เกิดจากการนำคำบาลีสันสกฤตตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มารวมกันเป็นคำเดียวกันให้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกัน คำที่เกิดจากการสร้างคำวิธีนี้เรียกว่า คำสมาส แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. คำสมาสที่ไม่มีการกลมกลืนเสียง เรียกว่า คำสมาส
  2. คำสมาสที่มีการกลมกลืนเสียง เรียกว่า คำสมาสที่มีการสนธิ

 

สมาสเป็นวิธีการสร้างคำโดยการนำคำบาลีหรือสันสกฤตตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมารวมกัน (เรียงต่อกันหรือนำมาชนกันนั่นเอง)

 

ลักษณะเฉพาะของคำสมาส โดยย่อ

  • คำมูลที่นำมารวมกันนั้นต้องเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤตเท่านั้น
  • ก่อนรวมเป็นคำสมาส คำหน้าสามารถประวิสรรชนีย์หรือมีตัวการันต์ได้ แต่เมื่อรวมเป็นคำสมาสแล้วต้องตัดทิ้ง เช่น แพทย์ + ศาสตร์ = แพทยศาสตร์  พละ + ศึกษา = พลศึกษา
  • มีการอ่านสระท้ายของคำหน้า เช่น ประวัติ+ศาสตร์=ประวัติศาสตร์ (ประ-หวัด-ติ-สาด) แต่ก็มียกเว้นเช่น สุพรรณบุรี
  • การแปลต้องแปลจากหลังมาหน้า (คำตั้งอยู่หลังคำขยายอยู่หน้า) เช่น ราชการ การ เป็นคำตั้ง ราช ขยายการ  = งานของพระเจ้าแผ่นดิน อุบัติเหตุ เหตุ เป็นคำตั้ง อุบัติ ขยายเหตุ = เหตุการณ์ที่เกิดโดยไม่คาดคิด แต่ก็มีคำสมาสบางคำที่แปลจากหลังไปหน้า และหน้าไปหลังได้ถ้ามีความหมายเหมือนกัน ก็ถือเป็นคำสมาส เช่น บุตร + ธิดา = บุตรธิดา ไม่ว่าจะแปลจากหลังไปหน้าหรือหน้าไปหลัง ก็แปลว่า ลูก เหมือนกัน
  • คำที่ขึ้นต้นด้วย “พระ” แล้วคำหลังเป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤตถือว่าเป็นคำสมาส เช่น พระอาทิตย์ พระองค์ พระเจ้า ไม่ใช่คำสมาสเพราะ เจ้า เป็นคำไทยแท้

 

ลักษณะของคำสมาส

  1. เกิดจากการประสมคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป
  2. เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเท่านั้น
    1. คำบาลีสมาสกับคำบาลี เช่น

      บาลี + บาลีรวมเป็นอ่านว่า
      อาณา + เขตอาณาเขตอา - นา - เขด
      ปัญญา + ชนปัญญาชนปัน - ยา - ชน
      อิสร + ภาพอิสรภาพอิด - สะ - หระ - พาบ


    2. คำสันสกฤตสมาสกับคำสันสกฤต เช่น

      สันสกฤต + สันสกฤตรวมเป็นอ่านว่า
      วิทยุ + ศึกษาวิทยุศึกษาวิด - ทะ - ยุ - สึก - สา
      ธรรม + ศาสตร์ธรรมศาสตร์ทำ - มะ - สาด
      อักษร + ศาสตร์อักษรศาสตร์อัก - สอน - ระ - สาด


    3. คำบาลีสมาสกับคำสันสกฤต หรือคำสันสกฤตสมาสกับคำบาลี เช่น

      คำรวมเป็นอ่านว่า
      ยุติ + ธรรมยุติธรรมยุด - ติ - ทำ
      อรรถ + คดีอรรถคดีอัด - ถะ - คะ - ดี
      อัฒ + จันทร์อัฒจันทร์อัด - ทะ - จัน


  3. พยางค์สุดท้ายของคำหน้า ไม่ใส่รูปสระอะ เช่น

    คำรวมเป็นไม่ใช่
    กาละ + เทศะกาลเทศะกาละเทศะ
    ธุระ + กิจธุรกิจธุระกิจ
  4. พยางค์สุดท้ายของคำหน้า ไม่ใส่ตัวการันต์ เช่น

    คำรวมเป็นไม่ใช่
    แพทย์ + ศาสตร์แพทยศาสตร์แพทย์ศาสตร์
  5. ต้องออกเสียงสระที่พยางค์สุดท้ายของคำหน้า ถึงแม้จะไม่มีรูปสระกำกับ เช่น

    คำอ่านว่า
    อุณหภูมิอุน - หะ - พูม
    เทพบุตรเทบ - พะ - บุด
    ประวัติศาสตร์ประ - หวัด - ติ - สาด


  6. เรียงคำหลักไว้หลังคำขยาย เมื่อแปลจึงแปลจากหลังไปหน้า เช่น

    คำสมาสคำขยายคำหลักความหมาย
    ราชการราช (พระเจ้าแผ่นดิน)การ (งาน)งานของพระเจ้าแผ่นดิน
    เทวบัญชา่เทว (เทวดา)บัญชา (คำสั่ง)คำสั่งของเทวดา
    วรรณคดีวรรณ (หนังสือ)คดี (เรื่อง)เรื่องของหนังสือ
    พุทธศาสนาพุทธ (พระพุทธเจ้า)ศาสนาศาสนาของพระพุทธเจ้า
    วีรบุรุษวีร (กล้า)บุรุษบุรุษผู้กล้า


  7. คำบาลีสันสกฤต ที่มีคำว่า พระ ที่แผลงมาจาก วร (วอ - ระ) ประกอบข้างหน้า จัดเป็นคำสมาสด้วยแม้คำว่า พระ จะประวิสรรชนีย์ เช่น

    พระกรรณพระขรรค์พระคฑาพระฉวีพระบาท


  8. คำสมาสส่วนใหญ่มักจะลงท้ายคำว่า ศาสตร์ ภัย กรรม ภาพ ศึกษา วิทยา เช่น

    นิติศาสตร์รัฐศาสตร์วิทยาศาสตร์ศึกษาศาสตร์
    มหันตภัยวาตภัยอัคคีภัยอุทกภัย
    กายกรรมกิจกรรมคหกรรมวิศวกรรม
    กายภาพทัศนียภาพอิสรภาพ

    สุนทรียภาพ

ข้อสังเกต

  1. การประสมคำบางคำมีลักษณะคล้ายคำสมาส คือ คำแรกมาจากคำบาลีหรือสันสกฤต คำหลังเป็นคำไทย เวลาแปลจะแปลจากหน้าไปหลัง อ่านออกเสียงเหมือนคำสมาส แต่ไม่ถือว่าเป็นคำสมาส เช่น

    กรมท่าเทพเจ้าผลไม้พลความพลเมือง
  2. การประสมคำที่มีภาษาอื่นที่ไม่ใช่คำบาลีสันสกฤตปนอยู่ คำคำนั้นไม่ถือเป็นคำสมาส เช่น

    คำมาจาก
    พลกำลังพล (ป.ส.) + กำลัง (ข.)
    พระเขนยพระ (ป.ส.) + เขนย (ข.)
    เคมีภัณฑ์เคมี (อ.) + ภัณฑ์ (ป.ส.)
    คริสต์ศักราชคริสต์ (อ.) + ศักราช (ส.)
  3. มีคำสมาสบางคำไม่ออกเสียงสระตรงพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น

    คำอ่านว่า
    รสนิยมรด - นิ - ยม
    สาธกโวหารสา - ทก - โว - หาน
    สามัญศึกษาสา - มัน - สึก - สา
    สุพรรณบุรีสุ - พัน - บุ - รี
    สุภาพบุรุษสุ - พาบ - บุ - หรุด

 

 

 

หลักการสังเกตคำสมาส

  1. คำสมาสต้องเป็นคำบาลี สันสกฤตเท่านั้น
  2. คำสมาสมีลักษณะคล้ายการนำคำสองคำมาวางเรียงต่อกัน เวลาอ่านจะมีเสียงสระต่อเนื่องกัน
  3. ไม่มีการประวิสรรชนีย์ (ะ) หรือเครื่องหมายทัณฑฆาต ( ์ )
  4. การเรียงคำ คำหลักจะอยู่ข้างหลัง ดังนั้นการแปลจึงแปลความหมายจากหลังมาหน้า
  5. คำ "พระ" ประกอบหน้าคำบาลี สันสกฤต จัดเป็นคำสมาส
  6. คำที่ลงท้ายด้วยคำว่า ศาสตร์ กรรม ภาพ ภัย ศึกษา มักเป็นคำสมาส

 

หมายเหตุ : ยกเว้นคำสมาสบางคำที่วางคำตั้งหรือคำหลักเป็นคำหน้าและวางคำขยายเป็นคำหลังจึงสามารถแปลความหมายจากหน้าไปหลังได้ เช่น 

บุตรธิดา หมายถึง ลูกและภรรยา

สมณพราหมณ์ หมายถึง พระสงฆ์และพราหมณ์ ทาสกรรมกร หมายถึง ทาสและกรรมกร ฯลฯ

 

 

ประโยชน์ของคำสมาส

  1. เป็นความเจริญทางด้านภาษา เมื่อต้องการใช้คำให้สละสลวย ก็สร้างคำขึ้นใหม่ให้พอใช้
  2. เป็นประโยชน์ในการแต่งคำประพันธ์ ประเภทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อให้เข้าตามลักษณะบังคับของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ
  3. เพื่อให้อ่านเขียนได้ถูกต้อง คือ อ่านต่อเนื่องกัน และเขียนได้ถูกต้องตามหลักคำสมาสที่อ่านและออกเสียงสระอะโดยไม่ต้องประวิสรรชนีย์

สามารถ ค้นหาคำสมาส แบบรายคำได้ที่ลิงก์

Download PDF คำสมาส ที่ใช้บ่อย

สำหรับใครที่อยากได้คำสมาส ในรูปแบบไฟล์ PDF สามารถกดที่ปุ่มดาวน์โหลดได้เลย

คำสมาส ที่ใช้บ่อย
PDF – ตัวอย่าง คำสมาส ที่ใช้บ่อย
ดาวน์โหลด

ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำสมาส รวมคำสมาส ลักษณะ และการใช้คำสมาส"

 บทความยอดนิยมเกี่ยวกับ "คำสมาส"