ค้นเจอ 138 รายการ

ยกเมฆ

หมายถึงเพ่งดูเมฆเมื่อเห็นเป็นรูปอะไรแล้ว ก็ถือเป็นนิมิตเพื่อทำนายว่าดีหรือร้าย เช่นในเวลาจะยกทัพ ถ้าเห็นเมฆเป็นรูปพระนารายณ์ ก็ถือว่าเป็นนิมิตที่ดี ควรยกทัพได้ เช่น ตรงเข้าไปในป่าแล้วปลุกตัว เป่าทั่วด้วยคาถาประกาศิต ขยับยืนยกเมฆดูนิมิต เห็นรูปนารายณ์เรืองฤทธิ์ติดอัมพร. (ขุนช้างขุนแผน), ถ้าเห็นเมฆเป็นรูปคนหัวขาดหรือแขนขาดขาขาด เป็นนิมิตไม่ดี ไม่ควรยกทัพ แม้ผู้ทรงวิทยาคุณอาจบริกรรมต่อหัวหรือแขนขาให้สมบูรณ์ได้ ถึงกระนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นนิมิตที่ดี ไม่ควรยกทัพ เช่น กอดอกยกเมฆดูนิมิต ก็วิปริตเป็นรูปคนหัวหาย จะยกต่อคอแขนไม่ติดกาย เถนสำคัญมั่นหมายไม่คืนมา. (ขุนช้างขุนแผน); เดาเอา, นึกคาดเอาเอง, กุเรื่องขึ้น

เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้ใคร

หมายถึงเดิมเราถือกันว่า ผู้หญิงที่เป็นแม่ร้างเพราะสามีหนีไปนั้น แสดงว่าผู้หญิงผู้นั้นต้องมีอะไรบกพร่องเลวร้าย สังคมมักคิดว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงไม่ยอมเสียสามีให้แก่หญิงใด เพราะเท่ากับเสียศักดิ์ศรีของตน แต่ในปัจจุบันอาจได้ยินบางคนพูดว่า “ถ้าได้ทองเท่าหัว ใครอยากได้ผัวก็เอกไป” แสดงว่าคนเดี๋ยวนี้เห็นแก่เงินมากขึ้น

ลูกรักอยู่หลังลูกชังอยู่หน้า

หมายถึงรักลูกไม่เท่ากัน

วัวพันหลัก

หมายถึงอาการที่วกหรือย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้น เช่น ให้การเป็นวัวพันหลัก, ลักษณะที่วกหรือย้อนกลับไปหาบุคคลที่เป็นต้นตอผู้รับผิดชอบ (มักใช้ในทางชู้สาว) มาจากสำนวนเต็มว่า แม่สื่อแม่ชัก ไม่ได้เจ้าตัว เอาวัวพันหลัก หมายความว่า ชายที่ใช้แม่สื่อไปติดต่อหญิงที่ตนชอบ แล้วไม่ได้ตัวหญิงคนนั้น เลยเอาแม่สื่อนั้นเองเป็นภรรยา หรือผู้หญิงทำทีรับอาสาไปติดต่อหญิงคนใดคนหนึ่งให้แก่ชาย แต่ในที่สุดก็เอาตัวเองเข้าพัวพันจนได้ชายคนนั้นเป็นสามี.

กงเกวียนกำเกวียน

หมายถึงการกระทำใดๆ ที่เคยทำไปในอดีต ส่งผลต่อผู้กระทำนั้นๆ มักใช้กับการกระทำในทางที่ไม่ดี ในลักษณะถูกผลกรรมตามสนอง

กงกำกงเกวียน

หมายถึงการกระทำใดๆ ที่เคยทำไปในอดีต ส่งผลต่อผู้กระทำนั้นๆ มักใช้กับการกระทำในทางที่ไม่ดี ในลักษณะถูกผลกรรมตามสนอง

 สุภาษิตไทย จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ