สุภาษิตไทย

50 สํานวนสุภาษิต ที่ใช้บ่อย ในชีวิตประจำวัน

สุภาษิตไทย รวม 50 สํานวนสุภาษิต ที่ใช้บ่อย มาทำการเรียนรู้กัน จะมีคำไหนที่เรารู้จักไหมนะ ไปดูกันเลย

คำสุภาษิต

คำสุภาษิต คือ คำในภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย มักมีความหมายในการตักเตือนสั่งสอนในทางบวก มีความหมายที่ดี

คำสุภาษิตส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของสำนวนโวหาร หรือคำพังเพย แต่บางครั้งเมื่อเราได้ฟัง ก็ไม่ค่อยเข้าใจความหมายของสุภาษิตเท่าไหร่ ต้องนำไปประกอบกับเหตุการณ์หรือกับตัวบุคคลเพิ่มเติม ถึงจะได้ความหมายที่เป็นคติเตือนใจ ซึ่งคำสุภาษิตนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ

  1. คำสุภาษิตที่ฟังแล้วเข้าใจได้ทันที โดยที่ไม่ต้องแปลความหมายให้เข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ ตัวอย่างเช่น น้ำขึ้นให้รีบตัก
  2. คำสุภาษิตที่ฟังแล้วไม่เข้าใจในทันที ต้องแปลความหมายของมันให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อนถึงจะรู้ความหมายของคำสุภาษิตนั้น ๆ เช่น รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ

และก็ยังมีคำที่ใกล้เคียงคำสุภาษิตอยู่อีก จนบางคำแทบแยกประเภทไม่ออกเลย นั่นคือ

สำนวนไทย

สำนวน หรือ สำนวนไทย คือ คำพูดในลักษณะเปรียบเทียบ และต้องแปลความหมายก่อน ดูคล้าย ๆ กับคำสุภาษิตประเภทที่ 2 เลย

คำพังเพย

คำพังเพย คือ คำพูดที่พูดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะสอนอะไร แต่เป็นการพูดเชิงเปรียบเทียบว่าสถานการณ์นั้นเป็นอย่างไร เป็นลักษณะให้แง่คิดที่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้


รวม 50 สํานวนสุภาษิต ที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน

  1. ขายผ้า เอาหน้ารอด หมายถึง ยอมเสียทุกอย่างเพื่อรักษาชื่อเสียง
  2. ขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึง ทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ได้ผลไม่คุ้มกับที่ต้องเสียไป
  3. คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ หมายถึง คนดีไปที่ไหนก็มีคนอยากคบหาสมาคมด้วย ไม่ลำบาก
  4. คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับมาได้ หมายถึง ทำงานเป็นทีมจะให้สถานการณ์ที่ดีกว่า
  5. คบคนดีมีศรีแก่ตัว คบคนชั่วอัปราชัย หมายถึง อัปราชัย ในที่นี้มีความหายเท่ากับ ปราชัย คือจะพ่ายแพ้ หมายถึงไม่เป็นมงคลแก่ตัว
  6. คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล หมายถึง คบใครก็จะเป็นคนอย่างนั้น
  7. คบคนให้ดูหน้าซื้อผ้าให้ดูเนื้อ หมายถึง ก่อนคบค้าสมาคมกับใคร ดูที่มาที่ไปให้ดีๆ
  8. ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี หมายถึง มีความสำนึกในความดีของสิ่งหรือบุคคลที่มีพระคุณต่อเรา กตเวที แปลว่า การตอบแทนต่อสิ่งหรือบุคคลที่มีพระคุณต่อเรา คนที่มีคุณสมบัตินี้ จะทำให้ตนเองและครอบครัวพบแต่ความเจริญรุ่งเรือง พบแต่ความสำเร็จ คุณสมบัตินี้ถือว่าเป็นทรัพย์อันประเสริฐในตัวบุคคล
  9. ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หมายถึง แม้จะมีความรู้สูงแค่ไหนก็ตาม ถ้าความประพฤติไม่ดีแล้วก็เอาตัวไม่รอด เพราะไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย หรือมีความรู้ แต่ไม่ใช้ความรู้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
  10. คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก หมายถึง ที่อยู่อาศัย แม้จะคับแคบเพียงใด ถ้ารู้จักทำให้ดี ก็น่าอยู่ แต่ถ้าหากมีความคับอกคับใจแล้ว แม้ที่จะกว้างขวางใหญ่โต ก็มิได้ทำให้สบายอกสบายใจเลย มีแต่จะรู้สึกอึดอัดใจแต่ถ่ายเดียว
  11. จับปลาสองมือ หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งทำสิ่งใดที่ยากพร้อม ๆ กัน ทำให้ล้มเหลวทั้งสองสิ่งนั้น สำนวนนี้นิยมใช้กับผู้ชายที่เกี้ยวผู้หญิงสองคนในเวลาเดียวกัน ซึ่งผลสุดท้ายแล้วผู้ชายคนนั้นจะมีปัญหาตามมา
  12. ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด หมายถึง ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ใบบัวมีขนาดเล็ก ถ้าเอาใบบัวใบเดียวไปปิดช้าง ย่อมปิดไม่มิด คนที่ทำความชั่วไว้มากมาย ถึงจะปิดอย่างไรๆ ก็ปิดไม่หมด คนย่อมรู้เข้าจนได้
  13. ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะดูให้แน่ต้องดูถึงย่าถึงยาย หมายถึง วัวที่มีลักษณะดีนั้นให้ดูที่หาง ถ้าปลายหางเป็นพู่เหมือนใบโพธิ์ ก็นับว่าเป็นวัวที่มีลักษณะดีมาก การที่จะเลือกผู้หญิงมาเป็นคู่ครอง ไม่ใช่ดูเพียงตัวผู้หญิงเท่านั้น ต้องดูไปจนถึงแม่ด้วยว่าเป็นคนดีหรือไม่ เพราะลูกกับแม่ก็มักจะมีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกัน และถ้าจะดูให้แน่จริงๆ ต้องสืบประวัติไปจนถึงย่ายายของหญิงนั้นด้วย
  14. ตามใจปากมากหนี้ หมายถึง เห็นแก่กินย่อมสิ้นเปลืองมาก
  15. นายว่า ขี้ข้าพลอย หมายถึง ลักษณะของคนเลว ไร้ความรู้ ถ้าเจ้านายว่าอย่างไร ก็มักจะพลอยประสมโรงซ้ำเติมด้วย
  16. น้ำท่วมปาก หมายถึง การรู้อะไรแล้วพูดไม่ได้ พูดไม่ออกไม่สามารถพูดออกมาได้ เพราะมีความจำเป็นบางอย่างหรือเพราะเกรงจะมีภัยมาถึงตนเองแก่ตนหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย รู้แล้วพูดออกมาไม่ได้ รู้สึกอึดอัด เหมือนน้ำท่วมปาก
  17. น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า หมายถึง ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องเห็นอกเห็นใจกัน จึงควรผูกไมตรีกันไว้
  18. น้ำลด ตอผุด หมายถึง ความชั่วเมื่อทำไว้ในเวลาที่ตนมีอำนาจนั้น อาจไม่มีใครทราบ แต่เมื่อหมดบุญ หมดอำนาจ บรรดาความชั่วที่ปิดบังกันไว้นั้น ก็จะปรากฏออกมา
  19. น้ำเชี่ยว อย่าขวางเรือ หมายถึง เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น ก็อย่าไปขัดขวาง จะได้รับอันตราย เพราะตอนนี้ตนอยู่ในระยะหน้าสิ่งหน้าขวาน คนเรามักไม่มีเหตุผลดุจนน้ำเชี่ยว ถ้าเอาเรือไปขวาง เรือก็จะล่ม
  20. ปลาหมอตายเพราะปาก หมายถึง คนที่ชอบพูดอะไรพล่อยๆ มักจะได้รับอันตรายเพราะปากที่พูดพล่อยๆ นั้น
  21. ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา หมายถึง สมัยก่อนการศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านยังไม่แพร่หลาย คนที่รู้หนังสือมีน้อย บางคนก็ได้ดีเพราะปาก การคิดเลขหรือการคำนวณนั้นมีความสำคัญน้อยลงมาอีก แม้เดี๋ยวนี้คนที่มีความรู้ดีแต่พูดไม่เก่ง ก็เอาดีได้ยาก ส่วนความชั่วความดีนี้ ทำลงไปแล้วย่อมเป็นเสมือนตราที่ประทับลงไปให้รู้ว่าคนนั้นเป็นคนดี หรือคนชั่ว
  22. พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง หมายถึง คำพูดบางครั้งหากพูดออกไปอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเองหรือคนรอบข้าง หากอยู่เฉย ๆ ไม่พูดอะไรออกไปยังจะก่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า
  23. มีเงินเขานับว่าเป็นน้อง มีทองเขานับว่าเป็นพี่ หมายถึง เมื่อมั่งมีเงินมีทองแล้ว ใคร ๆ ก็ประจบอยากเข้ามาเป็นญาติพี่น้องด้วย
  24. รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ หมายถึง รักจะคบกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป รักจะอยู่สั้น ๆ ให้คิดอาฆาต
  25. รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี หมายถึง วัวถ้าไม่ผูกไว้ ก็อาจหายได้ ถ้าลูกดื้อ พ่อแม่ก็ต้องดุต้องตีบ้าง แต่การที่พ่อแม่ตีไม่ใช่ตีด้วยความเกลียดชัง เพราะพ่อแม่ที่ตีนั้นก็ไม่อยากตี บางทีตีแล้วแอบไปร้องไห้ สงสารลูกก็มี แต่ถ้าไม่ตีเสียบ้าง ต่อไปถ้าลูกกลายเป็นคนชั่วช้าเลวทราม พ่อแม่จะต้องเสียน้ำตามากกว่านั้น
  26. รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม หมายถึง การศึกษาหาความรู้ไว้ ยิ่งมากยิ่งดี เพราะการมีความรู้มาก ไม่เหมือนการแบกข้าวแบกของ ซึ่งจะรู้สึกว่าหนักบ่า มีความรู้มิได้หนักบ่าหนักแรงอะไร ความรู้ที่เวลานี้เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ วันหน้าอาจเห็นคุณค่าของมันก็ได้
  27. ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง หมายถึง พูดว่าคนอื่นอย่างไร ตนเองก็กลับเป็นอย่างนั้นเสียเองเหมือนอิเหนาที่ปรารภว่าไม่รักไม่ต้องการบุษบา แต่ตัวเองกลับลักพาบุษบาไป
  28. สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง หมายถึง คนเราแม้จะมีความรู้สูงอย่างนักปราชญ์ ก็อาจผิดพลาดได้เหมือนกัน ทุกคนจึงไม่ควรประมาท แม้สัตว์สี่เท้าเช่น วัวควายซึ่งมีสี่เท้าก็ยังอาจก้าวพลาดถึงล้มลงได้ ภาษิตนี้บางทีก็มีพูดต่อไปอีกว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง สองตีนโด่เด่ คงจะเซลงบ้าง”
  29. หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว หมายถึง การทำอะไรเพื่อประชดประชัน ไม่ได้ประโยชน์อะไร ผลเสียจะตกแก่ตน ส่วนผลดีจะไปได้แก่คนที่เราประชดให้
  30. อดเปรี้ยวไว้กินหวาน หมายถึง ให้มีความอดทน อดใจรอผลข้างหน้าที่จะดีกว่า คือละทิ้งสิ่งที่ไม่ดี เพราะอดใจรอเอาสิ่งที่ดีกว่า
  31. อย่าชิงสุกก่อนห่าม หมายถึง ตามปรกติผลไม้ เช่นมะม่วงก่อนจะสุก จะต้องห่ามเสียก่อน การกระทำอะไรต้องให้เป็นไปตามจังหวะขั้นตอนของมัน ถ้าทำผิดลำดับอาจเสียหาย เหมือนผลไม้ที่ยังไม่แก่ เอามาบ่มแม้จะสุก แต่ก็จะเข้าทำนองหัวหวานก้นเปรี้ยว หรือยังเรียนหนังสือไม่จบ ยังหาเงินไม่ได้ ริมีลูกมีเมียเสียก่อน ตัวเองก็จะเดือดร้อนลูกเมียก็จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย
  32. อย่าชี้โพรงให้กระรอก หมายถึง คืออย่าไปสอนผู้รู้ เพราะเขารู้อยู่แล้ว เหมือนกับกระรอกมันย่อมรู้จักโพรงของมัน ไม่ต้องไปชี้บอกกับมันดอก
  33. อย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หมายถึง อย่าทำอะไรที่ต้องเสียทรัพย์โดยไม่ได้ประโยชน์คุ้มกับเงินทองที่ต้องเสียไป เหมือนตำน้ำพริกเพียงครกหนึ่งแล้วเอาไปละลายในแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำมาก จะทำให้น้ำในแม่น้ำกลายเป็นน้ำพริกอย่างในหม้อแกงไม่ได้
  34. อย่าเห็นขี้ดีกว่าไส้ หมายถึง อย่าเห็นผู้อื่นดีกว่าญาติพี่น้องลูกหลานของตน
  35. อย่าเอาจมูกคนอื่นหายใจ หมายถึง ต้องรู้จักช่วยตัวเอง อย่าคิดแต่จะพึงพาอาศัยคนอื่นเสมอไป ถ้าเราทำอะไรได้เองก็สะดวก แต่ถ้าต้องคอยอาศัยคนอื่นเขาร่ำไป ย่อมไม่ได้รับความสะดวก เหมือนคนมีรถยนต์แล้วขับไม่เป็น จะไปไหนทีก็ต้องพึ่งคนขับอยู่เรื่อย ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ไปไม่ได้
  36. อย่าเอาทองไปลู่กระเบื้อง หมายถึง คืออย่าลดตัวลงไปสู้กับคนชั่วต่ำ มีแต่เสียศักดิ์ศรี เพราะไม่คู่ควรกัน
  37. อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ หมายถึง พิมเสนเป็นของมีค่างมากกว่าเกลือ คืออย่าลดตัวลงไปสู้กับคนชั่วต่ำ มีแต่เสียศักดิ์ศรี เพราะไม่คู่ควรกัน
  38. อย่าเอาลูกเขามาเลี้ยง อย่าเอาเมี่ยงเขามาอม หมายถึง อย่าเอาของคนอื่นมาชื่นชมยินดี
  39. อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน หมายถึง อย่าหาเรื่องใส่ตัว การพูดหรือทำอะไรก้าวก่ายไปถึงผู้อื่นโดยมิบังควร ย่อมทำให้ตนได้รับความเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น
  40. อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง หมายถึง อย่าวางใจหรือไว้วางใจใครคนอื่นง่ายเกินไป จะเป็นเราที่เดือดร้อนในภายหลังได้
  41. เข้าตามตรอก ออกตามประตู หมายถึง ทำอะไรให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี
  42. เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า ได้หน้าอย่าลืมหลัง หมายถึง อย่าประมาทต้องเตรียมให้พร้อม และให้มีสติกำหนดจดจำให้ดี
  43. เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ หมายถึง ทั้งๆ ที่ตนไม่มีส่วนได้เป็นผลประโยชน์กับเขาเลย แต่ก็พลอยเข้าไปพัวพันในเรื่องร้าย ทำให้ต้องพลอยรับบาปรับเคราะห์เสียหายไปกับเขาด้วย
  44. เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย หมายถึง ผู้หญิงที่จะผูกมัดจิตใจสามีได้ ไม่ใช่เพียงเพราะความสวยอย่างเดียว เพราะความสวยงามเป็นของไม่จีรังยั่งยืนอะไร แต่ความดีโดยเฉพาะฝีมือในการปรุงอาหาร ถ้าหากสามารถทำให้ถูกปากสามีได้ ย่อมผูกใจสามีให้รักไปจนตาย
  45. โลภมาก ลาภหาย หมายถึง โลภมากเกินไป ในที่สุดจะไม่ได้อะไรเลย ท่าสอนให้รู้จักมีความพอประมาณไว้บ้าง
  46. ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว หมายถึง ทำทุกข์ให้แก่ผู้ใด เคราะห์กรรมที่ทำกับเขา อาจตกตามมาถึงตัวเองบ้าง อย่างบางคนชอบล่าสัตว์ บางทีไปยิงลูกของตน โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ป่าก็มี
  47. ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง หมายถึง ความสวยงามเกิดขึ้นได้จากการปรุงแต่ง
  48. ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ หมายถึง ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน
  49. ไม่เห็นน้ำ อย่าเพิ่งตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอก อย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้ หมายถึง อย่าด่วนทำอะไรล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ทราบว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในภายหน้า จะเหนื่อยเปล่า
  50. ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก หมายถึง จะอบรมสั่งสอนอะไรก็ทำเสียตั้งแต่เด็ก เพราะอบรมสั่งสอนง่าย จะสอนให้เป็นอะไรก็ได้ ส่วนคนแก่นั้นสอนยาก เหมือนไม้แก่ถ้าดัดก็หัก ผิดกับไม้อ่อนซึ่งดัดง่ายไม่หัก

คิดว่าน่าจะเต็มอิ่มกับสํานวนสุภาษิตทั้ง 50 คำกันไปแล้วเนอะ หวังว่าน่าจะพอมีประโยชน์ให้นำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวันกัน

หากยังไม่เจอคำไหน หรือคิดว่ามีตกหล่นไป สามารถแจ้งแนะนำกันเข้ามาได้เลย


รวมสํานวนสุภาษิต ที่นิยมใช้ ใช้งานบ่อย ในชีวิตประจำวัน