ค้นเจอ 220 รายการ

กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา

หมายถึงคนที่เนรคุณคนเปรียบได้กับคนที่อาศัยพักพิงบ้านเขาอยู่แล้ว คิดทำมิดีมิชอบให้เกิดขึ้นภายในบ้านนั้น ทำให้เจ้าของบ้านที่ให้อาศัยต้องเดือดร้อน

สอดรู้สอดเห็น

หมายถึงเที่ยวเข้าไปรู้ในเรื่องของคนอื่น (มักใช้ในทางไม่ดี) เช่น ใครเขาจะทำอะไรกันที่ไหน ก็เที่ยวไปสอดรู้เขาหมด เขาเป็นคนช่างสอดรู้สอดเห็น มีเรื่องของชาวบ้านมาเล่าเสมอ.

ยกเมฆ

หมายถึงเพ่งดูเมฆเมื่อเห็นเป็นรูปอะไรแล้ว ก็ถือเป็นนิมิตเพื่อทำนายว่าดีหรือร้าย เช่นในเวลาจะยกทัพ ถ้าเห็นเมฆเป็นรูปพระนารายณ์ ก็ถือว่าเป็นนิมิตที่ดี ควรยกทัพได้ เช่น ตรงเข้าไปในป่าแล้วปลุกตัว เป่าทั่วด้วยคาถาประกาศิต ขยับยืนยกเมฆดูนิมิต เห็นรูปนารายณ์เรืองฤทธิ์ติดอัมพร. (ขุนช้างขุนแผน), ถ้าเห็นเมฆเป็นรูปคนหัวขาดหรือแขนขาดขาขาด เป็นนิมิตไม่ดี ไม่ควรยกทัพ แม้ผู้ทรงวิทยาคุณอาจบริกรรมต่อหัวหรือแขนขาให้สมบูรณ์ได้ ถึงกระนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นนิมิตที่ดี ไม่ควรยกทัพ เช่น กอดอกยกเมฆดูนิมิต ก็วิปริตเป็นรูปคนหัวหาย จะยกต่อคอแขนไม่ติดกาย เถนสำคัญมั่นหมายไม่คืนมา. (ขุนช้างขุนแผน); เดาเอา, นึกคาดเอาเอง, กุเรื่องขึ้น

คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก

หมายถึงที่อยู่อาศัย แม้จะคับแคบเพียงใด ถ้ารู้จักทำให้ดี ก็น่าอยู่ แต่ถ้าหากมีความคับอกคับใจแล้ว แม้ที่จะกว้างขวางใหญ่โต ก็มิได้ทำให้สบายอกสบายใจเลย มีแต่จะรู้สึกอึดอัดใจแต่ถ่ายเดียว

อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น

หมายถึงเมื่ออยู่บ้านใคร อย่าอยู่เปล่า ควรทำการทำงานช่วยเหลือเขาเท่าที่จะทำได้ แม้เพียงเอาดินเหนียวมาปั้นวัวปั้นควายให้ลูกเจ้าของบ้านเล่นก็ยังดี เขาจะได้เมตตาสงสาร

เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย

หมายถึงผู้หญิงที่จะผูกมัดจิตใจสามีได้ ไม่ใช่เพียงเพราะความสวยอย่างเดียว เพราะความสวยงามเป็นของไม่จีรังยั่งยืนอะไร แต่ความดีโดยเฉพาะฝีมือในการปรุงอาหาร ถ้าหากสามารถทำให้ถูกปากสามีได้ ย่อมผูกใจสามีให้รักไปจนตาย

บุญมา ปัญญาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก

หมายถึงในเวลาที่มีบุญวาสนา สติปัญญาก็ปลอดโปร่ง กำลังใจดี แม้จะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะหายวันหายคืน เพราะเขาหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากผู้มีวาสนานั้น และจะมีภาษิตต่อท้ายอีกว่า “บุญไม่มา ปัญญาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย” ซึ่งมีนัยตรงข้ามกัน

สาวไส้ให้กากิน

หมายถึงการนำความลับหรือเรื่องเลวร้ายไปบอกให้คนอื่นรู้ ซึ่งไม่ก่อประโยชน์ให้กับใคร แต่ผู้ที่ได้รับฟังกลับได้ล่วงรู้ความลับต่างๆ สำนวนนี้มักจะใช้สื่อถึงการบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่ดี และมักจะมีคู่กรณีที่ต่างคนต่างแฉกันและกัน

ดาบสองคม

หมายถึงการกระทำที่อาจเกิดผลดีและผลร้ายได้พอๆกัน เปรียบได้กับดาบ ถ้าดาบนั้นมีคมทั้งสองข้าง มันก็ดีใช้ฟันได้สะดวก ขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าดาบมีคมทั้งสองข้าง เมื่อเราใช้ดาบฟันไปข้างหนึ่ง คมอีกข้างหนึ่ง ก็อาจทำร้ายถูกตัวเราได้

รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม

หมายถึงการศึกษาหาความรู้ไว้ ยิ่งมากยิ่งดี เพราะการมีความรู้มาก ไม่เหมือนการแบกข้าวแบกของ ซึ่งจะรู้สึกว่าหนักบ่า มีความรู้มิได้หนักบ่าหนักแรงอะไร ความรู้ที่เวลานี้เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ วันหน้าอาจเห็นคุณค่าของมันก็ได้

ลำหักลำโค่น

หมายถึงชั้นเชิงที่ใช้หักโค่นอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรง ดุเดือด หรือโดยไม่ปรานีปราศรัย เช่น นักมวยคนนี้ชกมีลำหักลำโค่นดี. ว. ใช้ชั้นเชิงหักโค่นอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรง ดุเดือด หรือโดยไม่ปรานีปราศรัย เช่น การที่จะเอาชนะนักมวยคนนี้ต้องใช้วิธีลำหักลำโค่น.

เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้ใคร

หมายถึงเดิมเราถือกันว่า ผู้หญิงที่เป็นแม่ร้างเพราะสามีหนีไปนั้น แสดงว่าผู้หญิงผู้นั้นต้องมีอะไรบกพร่องเลวร้าย สังคมมักคิดว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงไม่ยอมเสียสามีให้แก่หญิงใด เพราะเท่ากับเสียศักดิ์ศรีของตน แต่ในปัจจุบันอาจได้ยินบางคนพูดว่า “ถ้าได้ทองเท่าหัว ใครอยากได้ผัวก็เอกไป” แสดงว่าคนเดี๋ยวนี้เห็นแก่เงินมากขึ้น

 สำนวนไทย จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ