ค้นเจอ 154 รายการ

อาขยาต

หมายถึง[-ขะหฺยาด] ว. กล่าวแล้ว. น. ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน เช่น กโรติ = ย่อมกระทำ ประกอบด้วย กรฺธาตุ ติวิภัตติ ปัจจุบันกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก โอปัจจัย. (ป., ส.).

วิภัตติ

หมายถึง[วิพัด] น. การแบ่ง, การจัดเป็นพวก, การจำแนก; (ไว) ประเภทคำในภาษาบาลีเป็นต้นที่แปลงท้ายคำแล้วเพื่อบอกการกหรือกาล เช่น ปุริโส (อันว่าบุรุษ) เป็น กรรตุการก ปุริสํ (ซึ่งบุรุษ) เป็น กรรมการก จรติ (ย่อมเที่ยวไป) เป็น ปัจจุบันกาล จริ (เที่ยวไปแล้ว) เป็นอดีตกาล จริสฺสติ (จักเที่ยวไป) เป็น อนาคตกาล. (ป.).

แกมมา

หมายถึง(ฟิสิกส์) น. คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือโฟตอน (photon) ที่มีพลังงานสูงมาก มีช่วงคลื่นสั้นมาก มักเรียกกันว่า รังสีแกมมา เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร/วินาที มีอำนาจในการเจาะทะลุได้สูง สามารถเจาะทะลุแผ่นตะกั่วหนาหลายเซนติเมตรได้ เกิดจากการเสื่อมสลายของสารกัมมันตรังสี เช่น ธาตุเรเดียม ธาตุโคบอลต์-๖๐ หรือเกิดจากการที่อนุภาคบีตาพุ่งชนอะตอมของธาตุ ใช้ประโยชน์ในการแพทย์รักษาโรคมะเร็งและในการเกษตร. (อ. gamma).

กระชอน

หมายถึงน. ชื่อแมลงชนิด Gryllotalpa orientalis ในวงศ์ Gryllotalpidae ลำตัวยาว ขนาดย่อมกว่านิ้วก้อยเล็กน้อย สีนํ้าตาล ปีกสั้น บินได้ในระยะใกล้ ขาคู่หน้าสั้นแบน รูปร่างคล้ายอุ้งมือ ปลายมีหนามแข็ง ใช้ขุดดิน อาศัยอยู่ในดิน กินรากพืชและแมลงเล็ก ๆ.

ข้านอกเจ้าข้าวนอกหม้อ

หมายถึง(สำ; โบ) น. จำนวนคนซึ่งมีจำนวนมาก ย่อมกระทำหรือประพฤตินอกออกไปจากคำสั่งหรือแบบอย่างขนบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมามากเช่นกัน ดังข้อความว่า กาลแต่ก่อนเจ้านายน้อยตัว ก็ไม่รั่วไม่ร้ำข้างไหนหนัก ครั้นภายหลังเจ้านายมากขึ้นก็เกิดการรั่วร้ำไปต่าง ๆ เป็นการข้านอกเจ้า เข้านอกหม้อ ลูกนอกพ่อ หลานนอกปู่ เป็นขึ้น. (พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๔).

พอง

หมายถึงก. อาการที่โป่งหรือฟูขึ้นมาเพราะมีอากาศหรือน้ำเป็นต้นอยู่ภายใน เช่น ลูกโป่งพองลม ถูกน้ำร้อนลวกหนังพอง เหยียบไฟเท้าพอง, ทำให้โป่ง ฟู หรือตั้งขึ้น เช่น อึ่งอ่างพองตัว เป่าลูกโป่งให้พอง เป่าปี่จนแก้มพอง ลิงพองขน แมวทำขนพอง; ขยายตัวให้โตขึ้น เช่น เห็ดหูหนูเมื่อแช่น้ำย่อมพองตัว ข้าวตังเมื่อเอาไปทอดก็จะพอง.

โศลก

หมายถึง[สะโหฺลก] น. คำประพันธ์ในวรรณคดีสันสกฤต ๔ บาท เป็น ๑ บท ตามปรกติมีบาทละ ๘ พยางค์ เรียกว่า โศลกหนึ่ง เช่น กามโกฺรธวิยุกฺตานามฺ ยตีนำ ยตเจตสามฺ อภิโต พฺรหฺมนิรฺวาณมฺ วรฺตเต วิทิตาตฺมนามฺ ผู้บำเพ็ญพรต พรากจากกามและโกรธ ข่มใจได้ รู้แจ้งอาตมัน ย่อมมีนิพพาน คือพรหมโดยทั่วไป. (ศรีมัทภควัทคีตา), บทสรรเสริญยกย่อง; ชื่อเสียง, เกียรติยศ.

กว่า

หมายถึง[กฺว่า] ว. เกิน เช่น กว่าบาท; เป็นคำใช้เปรียบเทียบในการประมาณ เช่น มากกว่า น้อยกว่า ดีกว่า, ย่อมพลกว่าพลแกว่น. (ม. คำหลวง มหาราช). บ. เลยไป, พ้นไป. สัน. ก่อน, ยังไม่ทัน, เช่น กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้, มักใช้เข้าคู่กับคำ จะ...ก็ เป็น กว่าจะ...ก็ หรือ กว่า...จะ...ก็, โบราณใช้ว่า ยิ่ง ก็มี เช่น ใจกว่าห้วงอรรณพ. (ม. คำหลวง นครกัณฑ์); ใช้เป็นกริยาว่า ไปจาก ก็มี เช่น แทบทางที่จะกว่า. (ม. คำหลวง จุลพน), ผิออกนางธจะกว่า. (ม. คำหลวง กุมาร); ใช้เป็นวิเศษณ์ว่า จากไป ก็มี เช่น ลํ๋ตายหายกว่า. (จารึกสยาม).

เจตภูต

หมายถึง[เจดตะพูด] น. สภาพเป็นผู้คิดอ่าน คือ มนัส, ที่เรียกในภาษาสันสกฤตว่า “อาตมัน” เรียกในภาษาบาลีว่า “อัตตา” ก็มี “ชีโว” ก็มี, มีอยู่ในลัทธิว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรสูญ แม้คนและสัตว์ตายแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนเจตภูตเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป”, ลัทธินี้ทางพระพุทธศาสนาจัดเป็นสัสตทิฐิ แปลว่า ความเห็นว่าเที่ยง, ตามสามัญที่เข้าใจกัน เจตภูต คือวิญญาณที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่าออกจากร่างได้ในเวลานอนหลับ.

ผู้

หมายถึงน. คำใช้แทนบุคคล เช่น นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หรือใช้แทนคำว่า คน เช่น ผู้นั้น ผู้นี้ ทุกผู้ทุกนาม หรือใช้แทนสิ่งที่ถือเสมือนคน เช่น ศาลเป็นผู้ตัดสิน; คำใช้ประกอบคำกริยาหรือประกอบคำวิเศษณ์ให้เป็นนามขึ้น เช่น ผู้กิน ผู้ดี. ว. คำบอกเพศ หมายความว่า ตัวผู้ เช่น ม้าผู้ วัวผู้. ส. ที่, ซึ่ง, เช่น บุคคลผู้กระทำความดีย่อมได้รับความสุข.

กระทรวง

หมายถึง[-ซวง] น. หมู่, พวก, เช่น ทุกหมวดทุกกระทรวงทรง ฤทธิเรื้อง. (ยอพระเกียรติกรุงธน), ชนิด, อย่าง, เช่น อนึ่งนั้นอุเบกขาว่าเพ่งเฉย คือแหวกเลยสุขทุกข์อาลัยห่วง ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขสิ้นทั้งปวง สามกระทรวงนี้เป็นชื่อเวทนา. (ปกีรณำพจนาดถ์), แบบ, อย่าง, กระบวน, เช่น ส่วนองค์พระอัยกาก็ทรงพาหนะหัสดินทร กรินทรราชเป็นทัพหลวงตามกระทรวงพยุหยาตรา. (ม. ร่ายยาว มหาราช), โดยสมควรแก่กระทรวงแล้วส่งไป. (สามดวง), ผจญคนกลิ้งกลอกกลับหลอกลวง เอากระทรวงสัตย์ซื่อให้เสื่อมเท็จ. (สุ. สอนเด็ก). (ดู กระซุง).

กิ้งกือ

หมายถึงน. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายวงศ์ มีเปลือกตัวแข็ง ลำตัวยาวแบ่งเป็นปล้อง ไม่แบ่งอกหรือท้องให้เห็น ปล้องตามลำตัวจับกันเป็นคู่ตามยาวยืดหดเข้าหากันได้ ทำให้สามารถขดตัวเป็นวงกลมได้เมื่อถูกรบกวน ปล้องแต่ละคู่จะมีขา ๒ คู่ ยกเว้นปล้องแรกไม่มีขา ปล้องที่ ๒ ถึง ๔ มีขาเพียงคู่เดียว จำนวนขาอาจมีได้ถึง ๒๔๐ คู่ ชนิดตัวโตที่พบบ่อย ๆ อยู่ในสกุล Graphidostreptus ส่วนตัวขนาดย่อมอยู่ในสกุล Cylindroiulus ทั้ง ๒ สกุลอยู่ในวงศ์ Julidae.

 คำในภาษาไทย จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ