ค้นเจอ 226 รายการ

กรด

หมายถึง[กฺรด] น. ชื่อไม้เถาชนิด Combretum tetralophum C.B. Clarke ในวงศ์ Combretaceae มักขึ้นในที่นํ้าท่วม เช่น ตามฝั่งนํ้าลำคลอง ใบโดยมากออกรอบข้อ ๒ หรือ ๓ ใบ ใบอ่อนสีม่วงดำ เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเขียว ผลมีสันแข็งเป็น ๔ ครีบ, เถาวัลย์กรด ก็เรียก; อีกชนิดหนึ่ง คือ C. trifoliatum Vent. มีลักษณะคล้ายกันมาก แต่ผลมี ๕ ครีบ เช่น กรดกระถินอินจันพรรณไม้. (นิ. อิเหนา), สีเอยเจ้าสีสด เจ้าปลูกต้นกรดไว้ริมท่า. (กล่อมเด็ก).

สัก

หมายถึงก. เอาของแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน เช่น สักปลาไหล สักหาของในนํ้า สักรอยชํ้าเพื่อรีดเอาเลือดที่คั่งออก, ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือนํ้ามันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระเครื่องหมาย หรือลวดลาย, ถ้าใช้หมึก เรียกว่า สักหมึก, ถ้าใช้นํ้ามัน เรียกว่า สักนํ้ามัน, (โบ) ทำเครื่องหมายโดยใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกแทงที่ผิวหนังเพื่อแสดงเป็นหลักฐาน เช่น สักข้อมือ แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์หรือเป็นเลกมีสังกัดกรมกองแล้ว สักหน้า แสดงว่าเป็นผู้ที่ต้องโทษปาราชิกเป็นต้น.

ทับทิม

หมายถึงน. พลอยสีแดงชนิดหนึ่ง; เรียกสิ่งที่เป็นเกล็ดสีม่วงแก่ เมื่อละลายนํ้าจะออกเป็นสีทับทิม ว่า ด่างทับทิม; เรียกหินที่มีสีคล้ายทับทิมใช้รองแกนในนาฬิกาข้อมือเป็นต้นว่า ทับทิม; เรียกขนมชนิดหนึ่งทำด้วยแป้งมันใส่สีแดงเหมือนเม็ดทับทิมต้มกินกับนํ้าเชื่อมหรือนํ้าหวานว่า ทับทิมลอยแก้ว, ถ้าทำด้วยแห้วหรือมันแกวหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ คลุกแป้ง แล้วทำด้วยกรรมวิธีเดียวกัน เรียกว่า ทับทิมกรอบ. ว. สีแดงชนิดหนึ่งคล้ายทับทิม เรียกว่า สีทับทิม. (ไทยเดิม ทับทิม ว่า แสงแดง). (ส. ทาฑิม).

วิดพื้น

หมายถึง(ปาก) น. ท่ากายบริหารอย่างหนึ่งมี ๒ แบบ แบบหนึ่งเริ่มด้วยท่านอนทอดตัวลงเกือบถึงพื้น มือและปลายเท้าทั้ง ๒ ข้างยันพื้นไว้ งอแขนให้ศอกแนบลำตัว หน้าเงย แล้วเหยียดแขนพร้อมกับยกตัวขึ้น แล้วงอแขนพร้อมทั้งลดตัวลงกลับไปอยู่ในท่าเดิม อีกแบบหนึ่งเริ่มด้วยท่านอน มือและปลายเท้าทั้ง ๒ ข้างยันพื้นไว้ แขนเหยียดตรง หน้าเงย แล้วงอแขนให้ศอกแนบลำตัวพร้อมกับทอดตัวลงเกือบถึงพื้น แล้วเหยียดแขนพร้อมทั้งยกตัวขึ้นกลับไปอยู่ในท่าเดิม, เรียกเป็นทางการว่า ยุบข้อ.

นม

หมายถึงน. ส่วนของร่างกาย อยู่บริเวณหน้าอก มี ๒ เต้า, ของผู้หญิงมีต่อมสำหรับผลิตน้ำนมเป็นอาหารสำหรับลูกอ่อน ส่วนของผู้ชายมีขนาดเล็กและไม่มีน้ำนม, นมของสัตว์บางชนิด เช่น ลิง ค่าง ก็มี ๒ เต้าเช่นเดียวกับคน ส่วนของสัตว์บางชนิด เช่น สุนัข วัว ควาย มีหลายเต้าเรียงอยู่ที่ท้องเป็น ๒ แถว; แม่นม, ราชาศัพท์ว่า พระนม; น้ำนม เช่น เลี้ยงลูกด้วยนม; ชื่อสิ่งที่เป็นเต้าเป็นปุ่มคล้ายนม เช่น นมทองหลาง นมจะเข้; เรียกสิ่งที่มีลักษณะเป็นปุยขาวห่อหุ้มต้นผักกระเฉดว่า นมผักกระเฉด, เรียกสิ่งที่มีลักษณะเป็นปุยขาวห้อยติดอยู่ตามข้อพังพวยว่า นมพังพวย.

กระดูกอึ่ง

หมายถึงน. ชื่อไม้พุ่ม ๓ ชนิดในสกุล Dendrolobium และ Dicerma วงศ์ Leguminosae คือ ชนิด Dendrolobium triangulare (Retz.) Schindl. มักขึ้นในที่โล่งตํ่าซึ่งชุ่มแฉะในฤดูฝน ฝักเล็กแบนคอดกิ่วเป็นข้อ ๆ ใช้ทำยาได้, ขมิ้นนาง ขมิ้นลิง ลูกประคำผี หน้านวล เหนียวหมา หรือ อีเหนียว ก็เรียก; ชนิด D. lanceolatum (Dunn) Schindl. ขึ้นตามป่าผลัดใบที่มีต้นไผ่ สูงประมาณ ๑ เมตร ใบรูปไข่กลับ โคนใบสอบ, กระดูกเขียด แกลบหนู แกลบหูหนู แปรงหูหนู หรือ อึ่งใหญ่ ก็เรียก; และชนิด Dicerma biarticulatum (L.) DC. ชอบขึ้นตามไหล่ทางที่ตัดผ่านทุ่งนา สูงประมาณ ๑ เมตร ใบเล็กคล้ายใบมะขาม ดอกสีม่วง.

อาบัติ

หมายถึงน. โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ มีโทษ ๓ สถาน คือ ๑. โทษสถานหนัก เรียกว่า ครุโทษ หรือ มหันตโทษ ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติขาดจากความเป็นภิกษุ ได้แก่ อาบัติปาราชิก ซึ่งเรียกว่า ครุกาบัติ ๒. โทษสถานกลาง เรียกว่า มัชฌิมโทษ ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติต้องอยู่กรรมก่อนจึงจะพ้นโทษ ได้แก่ อาบัติสังฆาทิเสส และ ๓. โทษสถานเบา เรียกว่า ลหุโทษ ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติที่ตํ่ากว่าอาบัติสังฆาทิเสสต้องปลงอาบัติ คือ บอกอาบัติของตนแก่ภิกษุด้วยกัน ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต ซึ่งเรียกว่า ลหุกาบัติ. (ป., ส. อาปตฺติ).

ต่อ

หมายถึงก. เพิ่มให้ยืดออกไป เช่น ต่อเวลาออกไป ต่อหนังสือสัญญา, เพิ่มให้ยาวออกไป เช่น ต่อเชือก; ทำให้ติดกันเป็นอันเดียว เช่น ต่อสะพาน, เชื่อมให้ติดต่อกัน เช่น ต่อคำ ต่อความ; เอาวัตถุเช่นไม้มาประกอบเข้าเป็นรูป เช่น ต่อกรง ต่อเรือ, เรียกเรือชนิดที่ทำด้วยไม้กระดานโดยนำมาต่อขึ้นเป็นรูปเรืออาศัยกงหรือมือลิงเป็นเครื่องยึด ตัวเรือป่อง หัวและท้ายเรือเรียวเชิดขึ้นตามส่วนเช่นเรือสำปั้น เรือบด เรืออีแปะ ว่า เรือต่อ; ทำให้ติดอย่างไฟ เช่น ต่อไฟ ต่อเทียน; ขอลดราคาให้น้อยลง เช่น ต่อราคา ต่อของ; ท้าพนันโดยยอมลดเปรียบให้ เช่น ต่อให้, ฝ่ายเห็นว่าได้เปรียบเป็นฝ่ายต่อ ฝ่ายเห็นว่าสู้ได้เป็นฝ่ายรอง; นำสัตว์เลี้ยงไปล่อสัตว์ป่า ในคำว่า ต่อนก ต่อไก่. น. เท่าตัว, เท่าทุน, เช่น กิน ๒ ต่อ ใช้ ๒ ต่อ, ทอด เช่น ขึ้นรถ ๒ ต่อ. ว. ออกจะ, น่าจะ, ท่าจะ, เช่น มันต่อจะชอบกลเจ้ามณฑา. (สังข์ทอง); ถัดไป, สืบไป, ติดต่อกันไป, เช่น ต่อนี้ไป ต่อไป อ่านต่อ วิ่งต่อ, เพิ่มขึ้น เช่น เรียนต่อ; เรียกสัตว์เลี้ยงที่นำไปล่อสัตว์ป่า เช่น ไก่ต่อ นกต่อ ช้างต่อ; เรียกสิ่งที่เชื่อมเข้าด้วยกัน เช่น คำต่อ (คือ คำบุรพบทและคำสันธาน) ข้อต่อ. บ. เฉพาะ, ประจันหน้า, เช่น ต่อหน้า ยื่นต่ออำเภอ; เมื่อถึง เช่น มาต่อปีหน้า; แต่ละ, ราย, เช่น ต่อคน ต่อปี; เทียบส่วนกัน เช่น ๓ ต่อ ๑; ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์เป็นการเฉพาะ เช่น ครูต่อหนังสือให้นักเรียน ครูเพลงต่อเพลงให้ศิษย์, เรียนวิชาบางอย่างจากครูเป็นการเฉพาะ เช่น นักเรียนไปต่อหนังสือกับครู ศิษย์ไปต่อเพลงกับครูเพลง.

มาตรา

หมายถึง[มาดตฺรา] น. หลักกำหนดการวัดขนาด จำนวน เวลา และมุม เช่น มาตราชั่ง ตวง วัด มาตราเมตริก; แม่บทแจกลูกพยัญชนะต้นกับสระโดยไม่มีตัวสะกด เรียกว่า แม่ ก กา หรือ มาตรา ก กา, หลักเกณฑ์ที่วางไว้เพื่อให้กำหนดได้ว่าคำที่มีพยัญชนะตัวใดบ้างเป็นตัวสะกดอยู่ในมาตราใดหรือแม่ใด คือ ถ้ามีตัว ก ข ค ฆ สะกด จัดอยู่ในมาตรากกหรือแม่กก, ถ้ามีตัว ง สะกด จัดอยู่ในมาตรากงหรือแม่กง, ถ้ามีตัว จ ฉ ช ซ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ด ต ถ ท ธ ศ ษ ส สะกด จัดอยู่ในมาตรากดหรือแม่กด, ถ้ามีตัว ญ ณ น ร ล ฬ สะกด จัดอยู่ในมาตรากนหรือแม่กน, ถ้ามีตัว บ ป พ ฟ ภ สะกดจัดอยู่ในมาตรากบหรือแม่กบ, ถ้ามีตัว ม สะกด จัดอยู่ในมาตรากมหรือแม่กม, ถ้ามีตัว ย สะกด จัดอยู่ในมาตราเกยหรือแม่เกย, ถ้ามีตัว ว สะกด จัดอยู่ในแม่เกอว; (กฎ) บทบัญญัติในกฎหมายที่แบ่งออกเป็นข้อ ๆ โดยมีเลขกำกับเรียงตามลำดับ; (ฉันทลักษณ์) ระยะเวลาการออกเสียงสระสั้นยาว สระสั้น ๑ มาตรา สระยาว ๒ มาตรา.

ขวัญ

หมายถึง[ขฺวัน] น. ผมหรือขนที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย; มิ่งมงคล, สิริ, ความดี, เช่น ขวัญข้าว ขวัญเรือน; สิ่งที่ไม่มีตัวตน เชื่อกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล เป็นสุขสบายจิตใจมั่นคง ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็ออกจากร่างไป ซึ่งเรียกว่า ขวัญหาย ขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น ทำให้คนนั้นได้รับผลร้ายต่าง ๆ, เรียกผู้ตกใจง่ายคือ เด็กหรือหญิงซึ่งมักจะขวัญหายบ่อย ๆ ว่า ขวัญอ่อน, และอนุโลมใช้ไปถึงสัตว์หรือสิ่งของบางอย่าง เช่น ช้าง ม้า ข้าว เรือน ฯลฯ ว่ามีขวัญเช่นเดียวกับคนเหมือนกัน, โดยปริยายหมายความว่า ยอดกำลังใจ เช่น ขวัญเมือง ว่า ยอดกำลังใจของเมือง; กำลังใจดี เช่น ขวัญดี; ผู้รู้พิธีทำขวัญ เรียกว่า หมอขวัญ; การทำพิธีเชิญขวัญหมายความว่า เรียกขวัญ มาอยู่กับตัว; การเสียเงินค่าปรับให้แก่ผู้ถูกทำร้ายหรือถูกหมิ่นประมาท เรียกว่า ทำขวัญ; เอาเส้นด้ายผูกข้อมือเด็กแล้วกล่าวเรียกขวัญว่า “ขวัญเอ๋ย มาอยู่กับเนื้อกับตัว” แล้วกล่าวให้พรต่อไปตามควร เรียกว่า ผูกขวัญ; เรียกขวัญหรือเชิญขวัญ เรียกว่า รับขวัญ; ทำพิธี เช่น รดนํ้ามนตร์ให้ เสกเป่าให้ หรือกล่าวปลุกใจต่าง ๆ เพื่อให้ขวัญดีมีใจกล้าหาญ เรียกว่า บำรุงขวัญ; สิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทำขวัญแล้ว หรือสิ่งของที่ให้กันในเวลาอื่นเป็นการถนอมขวัญหรือเพื่ออัธยาศัยไมตรี เรียกว่า ของขวัญ; ข้าวบายศรี เรียกว่า ข้าวขวัญ; ไข่ปอกที่เสียบไม้ปักไว้บนยอดบายศรี เรียกว่า ไข่ขวัญ, ไข่ข้าว ก็เรียก; ลูกคนที่รักมากที่สุด เรียกว่า ลูกขวัญ; ผู้ที่เป็นมิ่งขวัญอย่างยอดเยี่ยมหมายถึงหญิงที่รัก เรียกว่า จอมขวัญ; คำยกย่องเรียกภรรยาอันเป็นที่รักว่า เมียขวัญ; กำลังใจเสีย เรียกว่า เสียขวัญ.

 คำในภาษาไทย จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ