ค้นเจอ 167 รายการ

กรีส

หมายถึง[กะหฺรีด] น. อาหารเก่า, คูถ, อุจจาระ, ขี้, เช่น หนึ่งน้ำมูตรกรีส ฤๅเกียจฤๅกีด คำคนติฉิน. (สรรพสิทธิ์). (ป.; ส. กรีษ); (แบบ) มาตราวัดความยาวเท่ากับ ๑ เส้น ๑๑ วา ๑ ศอก หรือ ๑๒๕ ศอก, ความจุเท่ากับ ๔ อัมพณะ คือ ประมาณ ๔๔ ทะนาน. (ลิปิ). (ป. กรีส; ส. กรฺษ).

ช่วงชัย

หมายถึงน. การเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่ง นิยมเล่นในเทศกาล เช่น สงกรานต์ มีผู้เล่นหลายคน แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ชายฝ่ายหนึ่ง หญิงฝ่ายหนึ่ง ยืนหันหน้าเข้าหากัน ห่างพอที่จะใช้ลูกช่วงที่ทำด้วยผ้าขาวม้าเป็นต้นเป็นลูกกลม ๆ ผูกให้แน่นโยนหรือปาให้กัน ถ้าฝ่ายใดรับได้แล้วปาไปถูกคนใดคนหนึ่งของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายนั้นก็เป็นฝ่ายแพ้ มี ๓ ชนิด คือ ช่วงรำ ผู้แพ้ต้องออกไปรำ ช่วงใช้ ผู้แพ้ต้องไปอยู่อีกข้างหนึ่ง และช่วงขี้ข้า ผู้แพ้ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งขี่คอ.

เสร็จ

หมายถึง[เส็ด] ก. จบ, สิ้น, เช่น พอเสร็จงานเขาก็กลับบ้าน; (ปาก) สมใจหมาย เช่น ถ้าเขาเชื่อเรา เขาก็เสร็จเราแน่; เสียที, เสียรู้, เช่น ถ้าเราไว้ใจคนขี้โกง เราก็เสร็จเขาแน่; เสียหาย, พัง, เช่น เกิดพายุใหญ่ นาเสร็จไปหลายร้อยไร่; ตาย เช่น ใครที่ป่วยเป็นมะเร็งถึงขั้นนี้แล้ว อีกไม่นานก็เสร็จแน่; เกิดผลร้าย เช่น ขืนเสนอเรื่องนี้ขึ้นไป มีหวังเสร็จแน่. ว. แล้ว เช่น พอพูดเสร็จก็เดินออกไป.

ไส้

หมายถึงน. ส่วนของทางเดินอาหารซึ่งอยู่ระหว่างกระเพาะอาหารกับทวารหนัก เป็นท่อยาวขดไปขดมาอยู่ในช่องท้อง มีหน้าที่ย่อย ดูดซึมอาหารและนํ้า พักและขับถ่ายกากอาหาร, ลำไส้ ก็เรียก; เรียกของที่อยู่ข้างในซึ่งมีลักษณะเช่นนั้น เช่น ไส้ตะเกียง หรือที่ใส่ข้างใน เช่น ไส้ขนม ไส้ดินสอ; โดยปริยายหมายความว่า ความลับ เช่น สาวไส้ให้กากิน รู้ไส้; คนในครอบครัว, คนภายใน, คนใกล้ชิด, เช่น เห็นขี้ดีกว่าไส้ ไส้เป็นหนอน.

ทรง

หมายถึง[ซง] น. รูปร่าง เช่น ทรงกระบอก ทรงปั้นหยา ทรงกระสอบ ทรงกระทาย (ลักษณะชามหรือถ้วยมีรูปคล้ายกระทาย), แบบ เช่น ทรงผม. ก. ตั้งอยู่ได้ เช่น ทรงตัว; จำ เช่น ทรงพระไตรปิฎก; รองรับ เช่น ธรรมย่อมทรงผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว; มี เช่น ทรงคุณวุฒิ; คงอยู่ เช่น ไข้ยังทรงอยู่ นํ้าทรง; ในราชาศัพท์มีความหมายว่า ขี่ หรือ ถือ เป็นต้น ตามเนื้อความของคำที่ตามหลัง เช่น ทรงม้า ว่า ขี่ม้า ทรงช้าง ว่า ขี่ช้าง ทรงศร ว่า ถือศร ทรงศีล ว่า รับศีล ทรงธรรม ว่า ฟังเทศน์ ทรงบาตร ว่า ตักบาตร ทรงราชย์ ว่า ครองราชสมบัติ; ถ้าประกอบหน้านามบางคำ เช่น ชัย ภพ ศรี ศักดิ์ ธรรม เป็น พระทรงชัย พระทรงภพ พระทรงศรี พระทรงศักดิ์ พระทรงธรรม หมายถึง กษัตริย์; ถ้าประกอบหน้านามที่เป็นพาหนะหรืออาวุธเป็นต้นของพระเป็นเจ้า หมายถึง พระเป็นเจ้านั้น ๆ เช่น พระทรงโค หมายถึง พระอิศวร พระทรงครุฑ พระทรงศร พระทรงสังข์ หมายถึง พระนารายณ์ พระทรงหงส์ หมายถึง พระพรหม; ใช้นำหน้าคำกริยาสามัญให้เป็นราชาศัพท์ เช่น ทรงทราบ ทรงยินดี ทรงขอบใจ; ใช้นำหน้าคำนามราชาศัพท์ให้เป็นกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงพระสรวล ทรงพระเมตตา ทรงพระประชวร, ในลักษณะนี้จะหมายความว่า มี ก็ได้ เช่น ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระคุณ ทรงพระนาม, เมื่อกริยาเป็นราชาศัพท์อยู่แล้วไม่นิยมใช้คำว่า ทรง นำหน้าซ้อนลงไปอีก เช่นไม่ใช้ว่า ทรงตรัส ทรงประทับ ทรงพระราชทาน. (ราชา) ว. เรียกช้าง ม้า ที่ขึ้นระวางแล้วว่า ช้างทรง ม้าทรง.

แกลบ

หมายถึง[แกฺลบ] น. ชื่อแมลงพวกเดียวกับแมลงสาบ แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ ยาว ๑.๓-๑.๕ เซนติเมตร กว้าง ๕-๑๐ มิลลิเมตร ลำตัวแบน รูปไข่ ขอบหน้าด้านหลังของปล้องอกยื่นออกไปคลุมหัว หนวดยาว ขายาวมีหนามคลุมเต็ม บางชนิดอาศัยอยู่ตามขี้เลื่อย หรือกองแกลบที่ผุพัง เช่น ชนิด Pycnocelis surinamensis ในวงศ์ Blaberidae แต่บางชนิดอาศัยอยู่ในบ้านเรือน ตามกองกระดาษหรือเศษขยะมูลฝอย เช่น ชนิด Blattella germanica, Supella supellectilium ในวงศ์ Blattellidae.

คลี

หมายถึง[คฺลี] (โบ) น. ลูกกลม เช่น เล่นคลี โยนคลี, (โบ) การเล่นแข่งขันอย่างหนึ่ง ผู้เล่นขี่ม้าตีลูกกลมด้วยไม้ เช่น ให้พระยาสามนต์คนดี มาตีคลีพนันในสนาม. (สังข์ทอง); (ถิ่น-อีสาน) การเล่นแข่งขันอย่างหนึ่งแต่ละฝ่ายใช้ไม้ตีลูกกลมซึ่งทำด้วยไม้ขนาดลูกมะนาวหรือโตกว่าเล็กน้อย ฝ่ายที่ตีลูกไปสู่ที่หมายทางฝ่ายของตนได้ก่อนเป็นฝ่ายชนะ; การเล่นลูกกลมด้วยลีลาเยื้องกรายเพื่อบูชาเทพเจ้า เช่น นางเริ่มเดาะคลีบูชาพระศรีเทวี. (กามนิต). (เทียบ ส. คุฑ, คุล, โคล; ป. คุฬ ว่า ลูกกลม).

ชันโรง

หมายถึง[ชันนะ-] น. ชื่อผึ้งขนาดเล็กหลายชนิดในวงศ์ Apidae เช่น ชนิด Trigona terminata, Melipona apicalis โดยทั่วไปมีขนาดลำตัวยาวไม่เกิน ๑๐ มิลลิเมตร อกกว้างไม่เกิน ๒.๕ มิลลิเมตร อยู่รวมกันเป็นฝูงและแบ่งวรรณะเป็นผึ้งผู้ ผึ้งเมีย และผึ้งงานเหมือนกัน แต่ผึ้งงานไม่มีเหล็กในเหมือนผึ้งธรรมดา รังทำจากขี้ผึ้งผสมขี้ดินและยางไม้ ขนาดหอยโข่งหรือตะโหงกวัว จึงมักจะเรียกผึ้งหอยโข่ง หรือผึ้งตะโหงกวัว แต่มีชื่ออื่นอีกมากมายแตกต่างไปตามท้องถิ่น เช่น หูด ขี้ตังนี หรือ กินชัน, อีสานเรียก ขี้สูด.

แตก

หมายถึงก. แยกออกจากส่วนรวม เช่น แก้วแตก ชามแตก, ทำให้แยกออกจากส่วนรวม เช่น แตกสามัคคี แตกหมู่คณะ; คุมหรือควบคุมไว้ไม่อยู่ เช่น แตกฝูง ไฟธาตุแตก ใจแตก ตบะแตก; ปะทุ เช่น ถ่านแตก; ผลิ เช่น แตกกิ่งก้าน แตกใบอ่อน แตกหน่อ; ไหลออกมาเอง เช่น เหงื่อแตก เยี่ยวแตก ขี้แตก; มีรอยแยก, แยกออกเป็นรอย, เช่น กำแพงแตก หน้าขนมแตก; เรียกผู้อ่านหนังสือออกคล่องว่า อ่านหนังสือแตก, เรียกเสียงห้าวเมื่อเริ่มเป็นหนุ่มว่า เสียงแตก, เรียกอาการที่พูดจนแสบคอหรือตะโกนดังจนสุดเสียงว่า พูดจนคอแตก ตะโกนจนคอแตก.

เขี่ย

หมายถึงก. ใช้ไม้หรือสิ่งอื่น ๆ ทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเคลื่อนที่ไป เช่น เขี่ยฟุตบอล เขี่ยสวะ; ค่อย ๆ สะกิดออก เช่น เขี่ยผงที่ลูกตา เอาก้านพลูเขี่ยตา; สะกิด เช่น เอานิ้วเขี่ยหลัง; คุ้ยเขี่ยให้ไฟกลับลุกขึ้นอีก เช่น เขี่ยขี้ไต้ เขี่ยขี้เถ้า, เอานิ้วเคาะหรือดีดบุหรี่หรือเอาบุหรี่เคาะที่สิ่งอื่นเพื่อให้ขี้บุหรี่ร่วง เรียกว่า เขี่ยบุหรี่; ขีดไปขีดมาหรือปัดไปปัดมาเพื่อให้กระจายออก เช่น เขี่ยดินเพื่อหาของที่ตกอยู่ในดิน ไก่เขี่ยดินหาอาหาร; (ปาก) เขียนหรือวาดอย่างหวัด ๆ เช่น ช่วยเขี่ย ๆ ประวัติเรื่องนี้ให้หน่อยเถอะ ลายมือเป็นไก่เขี่ย; ปัดไปให้พ้น เช่น ถูกเขี่ยออกไป.

เหนียว

หมายถึง[เหฺนียว] ว. ดึงขาดยาก, ทนทานไม่หักไม่ขาดง่าย, แกะออกยาก, ไม่ยุ่ย, ไม่เปื่อย, เช่น กิ่งมะขามเหนียวมาก ด้ายหลอดเหนียวมาก มือเหนียวตีนเหนียว; มีลักษณะคล้ายยางใช้ติดสิ่งอื่นได้ เช่น เอาแป้งมันผสมน้ำตั้งไฟแล้วกวนจนเหนียว, อาการที่ทำให้รู้สึกเหนอะหนะ เช่น เหงื่อออกจนเนื้อตัวเหนียวไปหมด; (ปาก) คงกระพัน, ทนทานต่อศาสตราวุธ, ฟัน แทง หรือยิงไม่เข้า, เช่น เขาเป็นคนหนังเหนียว; ตระหนี่ เช่น เขาเป็นคนเหนียวมาก, มักใช้ว่า ขี้เหนียว. น. ชื่อดินที่มีลักษณะเหนียวใช้ปั้นได้ เรียกว่า ดินเหนียว; ชื่อข้าวที่มีลักษณะเหนียวมาก ใช้นึ่งเป็นอาหาร เรียกว่า ข้าวเหนียว; ชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว คลุกมะพร้าวขูด โรยน้ำตาลเคี่ยวและข้าวตากคั่ว เรียกว่า ขนมเหนียว.

 คำในภาษาไทย จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ