ค้นเจอ 232 รายการ

เปียก

หมายถึงก. กวนสิ่งเช่นข้าวหรือแป้งเป็นต้นบนไฟให้สุก เช่น เปียกข้าวเหนียว เปียกสาคู. ว. เรียกข้าวที่ต้มและกวนให้เละ หรือข้าวที่ต้มกับน้ำกะทิเจือเกลือเล็กน้อย กวนให้สุกจนข้นหรือเละ มีรสเค็ม ๆ มัน ๆ ว่า ข้าวเปียก, เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น แป้งเปียก สาคูเปียก, เรียกขนมชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งข้าวเจ้าตั้งไฟกวนกับน้ำตาลหม้อและกะทิ หยอดให้มีขนาดพอคำแล้วโรยถั่วทองคั่ว ว่า ขนมเปียก.

ทอง

หมายถึงน. ธาตุแท้ชนิดหนึ่งเนื้อแน่นมาก สีเหลืองสุกปลั่ง เป็นโลหะมีค่า เช่น บ่อทอง เหรียญทอง ทองแท่ง ทองลิ่ม, เรียกเต็มว่า ทองคำ; เรียกสิ่งที่ทำด้วยทองเหลืองว่า ทอง ก็มี เช่น กระทะทอง หม้อทอง, โดยปริยายหมายถึงสีเหลือง ๆ อย่างสีทอง เช่น เนื้อทอง ผมทอง แสงทอง, ใช้ประกอบสิ่งต่าง ๆ บางอย่างโดยอนุโลมตามลักษณะสี เป็นชื่อเรียกเฉพาะ เช่น ขนมทอง คือขนมชนิดหนึ่ง รูปวงกลม มีนํ้าตาลหยอดข้างบน, ปลาทอง คือปลาชนิดหนึ่ง ตัวสีเหลืองหรือแดงส้ม.

ดา

หมายถึงน. ชื่อแมลงพวกมวน มีหลายสกุล, ชนิดที่ตัวกว้าง รูปไข่ แบน เมื่อพับปีก ปีกจะแนบไปกับสันหลัง ความยาวจากหัวถึงปลายปีก ๖.๒-๘.๒ เซนติเมตร ส่วนท้องกว้าง ๒.๖-๒.๘ เซนติเมตร สีนํ้าตาลแก่หรือนํ้าตาลอมเขียว ด้านหลังของส่วนอกตอนต้นมีลายเป็นแถบ ๕ แถบ คือ แมลงดา หรือ แมลงดานา (Lethocerus indicus) ใช้ตำกับนํ้าพริก กินได้; อีกสกุลหนึ่ง คือ แมลงดาสวน หรือ แมลงสีเสียด (Sphaerodema rusticum และ S. molestum) รูปร่างคล้ายแมลงดานามาก แต่เล็กกว่า ขนาดยาว ๑.๓-๑.๗ เซนติเมตร กว้าง ๐.๙ เซนติเมตร นำมาคั่วกับเกลือ กินได้; และยังมีสกุล Laccotrephes ได้แก่ชนิด L. ruber และ L. robustus ซึ่งมีลำตัวยาว ๓-๔.๔ เซนติเมตร กว้าง ๑-๑.๓ เซนติเมตร สีนํ้าตาลอมแดง มีหางยาว ๒ อัน ยาว ๑.๒-๑.๓ เซนติเมตร, สกุลนี้ แมลงดาโป้งเป้ง ดากลั้นเยี่ยว หรือ ดาเยี่ยว ก็เรียก.

น้ำตาล

หมายถึงน. สารประกอบคาร์โบไฮเดรตประเภทโมโนแซ็กคาไรด์และไดแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีรสหวาน โดยมากได้จากตาล มะพร้าว อ้อย, ถ้าเป็นความหมายเฉพาะอย่างและทำด้วยอะไร ก็เติมคำนั้น ๆ ลงไป เช่น ทำจากตาล เรียกว่า นํ้าตาลโตนด, ทำจากมะพร้าว เรียกว่า นํ้าตาลมะพร้าว, ทำเป็นงบ เรียกว่า นํ้าตาลงบ, ทำจากอ้อย แต่ยังไม่ได้ทำให้เป็นนํ้าตาลทราย เรียกว่า นํ้าตาลทรายดิบ, ทำเป็นเม็ด ๆ เหมือนทราย เรียกว่า นํ้าตาลทราย, ทำเป็นก้อนแข็งเหมือนกรวด เรียกว่า นํ้าตาลกรวด, เคี่ยวให้ข้น ๆ เรียกว่า นํ้าตาลตงุ่น, หยอดใส่ใบตาลหรือใบตองแห้งทำเป็นรูปปี่ เรียกว่า นํ้าตาลปี่, หลอมเป็นปึก เรียกว่า นํ้าตาลปึก, หยอดใส่หม้อ เรียกว่า นํ้าตาลหม้อ, บรรจุใส่ปีบ เรียกว่า น้ำตาลปีบ หรือ น้ำตาลปี๊บ, รองมาใหม่ ๆ ยังไม่ได้เคี่ยว เรียกว่า นํ้าตาลสด, ถ้าต้มให้เดือด เรียกว่า น้ำตาลลวก, ถ้าใส่เปลือกตะเคียน มะเกลือ หรือเคี่ยม เป็นต้น หมักไว้ระยะหนึ่งจนมีแอลกอฮอล์ กินแล้วเมา เรียกว่า นํ้าตาลเมา. ว. สีคล้ายสีนํ้าตาลหม้อที่เคี่ยวแก่ไฟ, ถ้าแก่ไฟจนไหม้ เรียกว่า สีนํ้าตาลไหม้.

 คำในภาษาไทย จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ