ค้นเจอ 224 รายการ

ศักราช

หมายถึง[สักกะหฺราด] น. อายุเวลาซึ่งกำหนดตั้งขึ้นเป็นทางการ เริ่มแต่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นที่หมายเหตุการณ์สำคัญ เรียงลำดับกันเป็นปี ๆ ไป เช่น พุทธศักราช ๑, ๒, ๓, ... จุลศักราช ๑, ๒, ๓, ... (ตามความนิยมที่ใช้เป็นธรรมเนียมกันมา, คำ ศักราช ในคำเช่น พุทธศักราช คริสต์ศักราช จะใช้ว่า ศก เป็น พุทธศก คริสต์ศก ก็ได้ แต่คำเช่น มหาศักราช จุลศักราช ไม่นิยมใช้ว่า มหาศก จุลศก ส่วนคำว่า รัตนโกสินทรศก ไม่นิยมใช้ว่า รัตนโกสินทรศักราช), (ปาก) โดยปริยายหมายความว่า ช่วงใดช่วงหนึ่งซึ่งเริ่มต้นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตบุคคล เช่น เริ่มศักราชแห่งชีวิตใหม่ พอเรียนหนังสือจบก็เริ่มศักราชของการทำงาน.

มหาชัย

หมายถึงน. ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง ใช้บรรเลงในงานเกี่ยวกับเกียรติยศของบุคคลที่มาเป็นประธานในงานเช่นนายกรัฐมนตรี หรือเมื่อผู้เป็นประธานของงานกล่าวคำปราศรัยจบลงก็บรรเลงเพลงมหาชัยเป็นพิเศษ หรือบรรเลงในงานรับรองบุคคลสำคัญ งานสโมสรสันนิบาต เป็นต้น และในระหว่างงานดำเนิน ถ้าไม่มีดนตรีบรรเลง จะใช้เพลงมหาชัยเป็นครั้งคราวด้วยก็ได้, ปัจจุบันสำนักพระราชวังและข้อบังคับกระทรวงกลาโหมกำหนดให้ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัยรับและส่งเสด็จในพิธีการที่พระบรมวงศ์เสด็จเป็นประธาน และบรรเลงรับและส่งประธานในพิธีการที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และบรรเลงเป็นเพลงเคารพธงราชวงศ์เวลาผ่านหรือขึ้นลง นายทหารที่มียศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ หรือนายกรัฐมนตรี.

ธงบรมราชวงศ์น้อย

หมายถึง(กฎ) น. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี แบ่งตามความยาวออกเป็น ๒ ตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงบรมราชวงศ์ใหญ่แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีแดงแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของธงตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น ๘ เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงบรมราชวงศ์ใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ.

เข้าลิลิต

หมายถึงก. สัมผัสคำระหว่างบทตามแบบการแต่งลิลิตที่กำหนดไว้ในตำราฉันทลักษณ์ เช่นคำ “สม” กับ “สนม” ในตัวอย่างต่อไปนี้ จำใจจรจากสร้อย อยู่แม่อย่าละห้อย ห่อนช้าคืนสม แม่แลฯ สาวสนมสนองนารถไท้ ทูลสาร พระจักจรจากสถาน ถิ่นเท้า เสด็จแดนทุระกันดาร ใดราช เสมอนา ฤๅพระรานเสน่ห์ร้าว ด่วนร้างแรมไฉนฯ (ตะเลงพ่าย).; เรียกคำที่เติม เอศ ข้างท้ายเพื่อทำคำสุภาพให้เป็นคำเอกตามข้อบังคับโคลงว่า ศ เข้าลิลิต."

ธงบรมราชวงศ์ใหญ่

หมายถึง(กฎ) น. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีเหลือง ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ส่วนของความยาวของผืนธง ที่ตรงกลางตอนต้น ๒ ใน ๓ ส่วนของผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบ มีขนาดกว้างยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธง ภายในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบมีรูปมงกุฎขัตติยราชนารีประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ๒ ชั้นเหนือตั่ง และมีตั่งลดตั้งฉัตรกลีบบัว ๕ ชั้น อยู่ ๒ ข้าง รูปเหล่านี้เป็นสีเหลืองเข้ม.

นาย

หมายถึงน. (กฎ) คำนำหน้าชื่อชายที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป; ผู้เป็นใหญ่, ผู้เป็นหัวหน้า, ผู้จ้าง, เช่น เขาเป็นนาย นายไม่อยู่; ผู้เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าในกิจการนั้น ๆ เช่น นายตรวจ นายทะเบียน, ผู้ควบคุม เช่น นายหมู่ นายหมวด, ผู้ชำนาญในกิจการนั้น ๆ เช่น นายไปรษณีย์ นายช่าง; (ปาก) ใช้นำหน้ายศทหารตำรวจ เช่น นายพล นายพัน นายร้อย นายสิบ, คำนำหน้าตำแหน่ง เช่น นายม้าต้น; เมื่อใช้เป็นคำนำราชทินนาม เป็นบรรดาศักดิ์ของข้าราชการในราชสำนักในสมัยก่อนเลิกบรรดาศักดิ์ เช่น นายนรินทร์ธิเบศ นายมหานุภาพ นายสุจินดา นายวรการบัญชา. (ปาก) ส. คำใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย ใช้สำหรับเพื่อนฝูงในลักษณะที่เป็นกันเอง เช่น เย็นนี้นายจะไปด้วยไหม, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒.

กกุธภัณฑ์

หมายถึง[กะกุดทะ-] น. เครื่องหมายความเป็นพระราชาธิบดีตามที่แสดงไว้ในบรมราชาภิเษก ร. ๗ คือ ๑. พระมหาพิชัยมงกุฎ ๒. พระแสงขรรค์ชัยศรี ๓. ธารพระกร ๔. วาลวีชนี (พัดกับแส้จามรี) ๕. ฉลองพระบาท รวมเรียกว่า เบญจราชกกุธภัณฑ์. (ป. กกุธ ว่า เครื่องหมายความเป็นพระราชา + ภณฺฑ ว่า ของใช้; ระบุไว้ในอภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ ๓๕๘ ว่า พระขรรค์ ฉัตร อุณหิส ฉลองพระบาท วาลวีชนี คือ มีฉัตรแทนธารพระกร; ในจดหมายเหตุบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๒ มีทั้งฉัตรและธารพระกร พระแสงขรรค์ พระแสงดาบ วาลวีชนี พระมหาพิชัยมงกุฎ และฉลองพระบาท รวมเป็น ๗ สิ่ง. วาลวีชนี ที่ปรากฏวัตถุเป็นพัดกับแส้จามรีนั้น แต่ก่อนเป็นพัดใบตาลอย่างที่เรียกว่า พัชนีฝักมะขาม ต่อมาท่านเห็นควรเป็นแส้จามรีจะถูกกว่า เพราะศัพท์ว่าวาลวีชนี หมายความเป็นแส้ขนโคชนิดหนึ่ง จึงสร้างแส้จามรีขึ้น แต่ก็ไม่อาจเลิกพัดใบตาลของเก่า เป็นอันรวมไว้ทั้ง ๒ อย่างในเครื่องที่เรียกว่า วาลวีชนี).

แม่

หมายถึงน. หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก, คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูตน; คำที่ผู้ใหญ่เรียกผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนมหรือรักใคร่เป็นต้นว่า แม่นั่น แม่นี่; คำใช้นำหน้านามเพศหญิง แปลว่า ผู้เป็นหัวหน้า เช่น แม่บ้าน; ผู้หญิงที่กระทำกิจการหรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ค้าขาย เรียกว่า แม่ค้า ทำครัว เรียกว่า แม่ครัว; เรียกสัตว์ตัวเมียที่มีลูก เช่น แม่ม้า แม่วัว; เรียกคนผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น แม่ทัพ แม่กอง; คำยกย่องเทวดาผู้หญิงบางพวก เช่น แม่คงคา แม่ธรณี แม่โพสพ, บางทีก็ใช้ว่า เจ้าแม่ เช่น เจ้าแม่กาลี; เรียกสิ่งที่เป็นประธานของสิ่งต่าง ๆ ในพวกเดียวกัน เช่น แม่กระได แม่แคร่ แม่แบบ; เรียกชิ้นใหญ่กว่าในจำพวกสิ่งที่สำหรับกัน เช่น แม่กุญแจ คู่กับ ลูกกุญแจ; แม่นํ้า เช่น แม่ปิง แม่วัง; คำหรือพยางค์ที่มีแต่สระ ไม่มีตัวสะกด เรียกว่า แม่ ก กา, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ก ข ค ฆ สะกด เรียกว่า แม่กก, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ง สะกด เรียกว่า แม่กง, คำหรือพยางค์ที่มีตัว จ ฉ ช ซ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ด ต ถ ท ธ ศ ษ ส สะกด เรียกว่า แม่กด, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ญ ณ น ร ล ฬ สะกด เรียกว่า แม่กน, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ม สะกด เรียกว่า แม่กม, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ย สะกด เรียกว่า แม่เกย แต่ในมูลบทบรรพกิจมี ย ว อ สะกด, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ว สะกด เรียกว่า แม่เกอว.

 คำในภาษาไทย จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ