ค้นเจอ 131 รายการ

ฝา

หมายถึงน. เครื่องปิดภาชนะต่าง ๆ หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ฝาหม้อ ฝาโอ่ง ฝาท่อ; ฝ้าหรือเยื่อที่จับอยู่ข้างบนของเหลวเช่นนํ้านมเป็นต้น; เครื่องกั้นด้านนอกหรือเครื่องกั้นแบ่งห้องของตัวเรือนโรงเป็นต้น เช่น ฝาบ้าน ฝาเรือน ฝาห้อง; ส่วนที่ปิดปากหอยหรือหุ้มตัวหอยซึ่งเปิดได้, ใช้เป็นลักษณนาม เช่น ขนมถ้วยฝาหนึ่ง ขนมถ้วย ๒ ฝา.

เก้ง

หมายถึงน. ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องในวงศ์ Cervidae ตัวเล็ก ขนสีนํ้าตาลจนถึงนํ้าตาลเข้ม หน้าผากเป็นสันเห็นได้ชัดเจน ตัวผู้มีเขาและเขี้ยว ในประเทศไทยมี ๒ ชนิด ที่รู้จักกันทั่วไปคือ อีเก้ง หรือ ฟาน (Muntiacus muntjak) อีกชนิดหนึ่งคือ เก้งหม้อ หรือ เก้งดำ (M. feae) ตัวโตกว่าชนิดแรก ขนสีนํ้าตาลแก่เกือบดำ ที่หัวมีขนลักษณะคล้ายจุกสีเหลืองแซมดำ, ปักษ์ใต้เรียก กวางจุก.

เสีย

หมายถึงก. เสื่อมลงไป, ทำให้เลวลงไป, เช่น เสียเกียรติ เสียศักดิ์ศรี เสียชื่อ; สูญไป, หมดไป, สิ้นไป, เช่น เสียแขน เสียชีวิต เสียทรัพย์; ชำรุด เช่น ถนนเสีย ทางเสีย; ใช้ไม่ได้ เช่น เครื่องไฟฟ้าเสียหมดทุกอย่าง รถเสียกลางทาง; ยับเยิน, ย่อยยับ, เช่น ปีนี้ฝนแล้งจัดเรือกสวนไร่นาเสียหมด, เสียหาย ก็ว่า; บูด เช่น แกงหม้อนี้เสียหมดทั้งหม้อ, เน่า เช่น ผลไม้เข่งนี้เสียแล้ว; ไม่ดี เช่น ราขึ้น ขนมปังจึงเสียหมดทั้งแถว เธอดัดผมบ่อยเกินไป ทำให้ผมเสีย; จ่ายเงิน, ชำระเงิน, เช่น เสียภาษี เสียค่าโทรศัพท์; หมดทรัพย์สินไปเพราะการพนัน เช่น เสียไพ่ เสียม้า; ตาย เช่น เขาเสียไปหลายปีแล้ว; (โบ) ทิ้ง เช่น ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก. (สุภาษิตพระร่วง), เสียไฟเป่าหิ่งห้อย. (ลอ). ว. ที่ไม่ดี เช่น นิสัยเสีย น้ำเสีย; พิการ เช่น ตาเสีย ขาเสีย; บูด เช่น อย่ากินแกงเสีย จะปวดท้อง.

กระดี่

หมายถึงน. ชื่อปลานํ้าจืดในสกุล Trichogaster วงศ์ Anabantidae เช่นเดียวกับปลาสลิดแต่มีขนาดเล็กกว่า ครีบท้องยาวยื่นเป็นเส้น มี ๓ ชนิด คือ กระดี่หม้อ (T. trichopterus) ข้างตัวมีลายหลายเส้นพาดขวาง มีจุดดำที่กลางลำตัวและคอดหางแห่งละ ๑ จุด, สลาก หรือ สลาง ก็เรียก, กระดี่นาง (T. microlepis) สีขาวนวล และ กระดี่นางฟ้า หรือ กระดี่มุก (T. leeri) พบเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม, บางท้องถิ่นในแถบอีสานเรียก กระเดิด.

เต้า

หมายถึงน. เครื่องบนของเรือนสำหรับสอดที่ช่องปลายเสารับเชิงกลอน, ถ้าอยู่ตามเสาที่ไม่ใช่มุม เรียก เต้าราย, ถ้าอยู่ที่เสามุมรับเชิงชายทั้ง ๒ ข้าง เรียก เต้ารุม; (ราชา) หม้อใส่นํ้า เรียกว่า พระเต้าษิโณทก; นม; นํ้าเต้า; เรียกภาชนะที่มีรูปคล้ายนํ้าเต้า เช่น เต้าปูน เต้านํ้า; ลักษณนามเรียกนมหรือพูลูกตาล เช่น นมเต้าหนึ่ง ตาล ๒ เต้า; เรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะฐานนูนขึ้นอย่างเต้านม.

เห่า

หมายถึงน. ชื่องูพิษในสกุล Naja วงศ์ Elapidae ขนาดยาวประมาณ ๑.๓ เมตร พบหลายสีต่างกันไปในแต่ละตัว เช่น ดำ นํ้าตาล เขียวอมเทา เหลืองหม่น บางตัวมีลายสีขาวและบางตัวไม่มีลาย สามารถยกตัวท่อนหัวตั้งขึ้นและแผ่บริเวณคอกว้างออกได้ เรียกว่า แผ่แม่เบี้ย มีหลายชนิด เช่น เห่าไทย (N. kaouthia) ซึ่งตัวที่มีสีคลํ้า เรียก เห่าหม้อ, เห่าด่างพ่นพิษ (N. atra) ซึ่งสามารถพ่นฉีดพิษออกจากเขี้ยวพิษได้.

จับ

หมายถึงก. อาการที่ใช้มือแตะต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดจนกำไว้ยึดไว้; เกาะ เช่น นกจับคอน; ติด เช่น เขม่าจับก้นหม้อ; กินหรือกลืน ในความว่า คราสจับดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์; เริ่ม เช่น จับเรื่องตั้งแต่ตอนนั้นไป; เกาะกุมตัวไว้ไม่ให้หนี เช่น จับผู้ร้าย, (กฎ) เกาะกุมตัวไว้โดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย, จับกุม ก็ว่า; กิริยาที่ทำขนมจีนให้เป็นหัว ๆ เรียกว่า จับขนมจีน, ลักษณนามของขนมจีนว่า จับ หรือ หัว เช่น ขนมจีน ๕ จับ หรือ ขนมจีน ๕ หัว.

ปาก

หมายถึงน. ส่วนหนึ่งของร่างกายคนและสัตว์ อยู่ที่บริเวณใบหน้า มีลักษณะเป็นช่องสำหรับกินอาหารและใช้สำหรับเปล่งเสียงได้ด้วย; โดยปริยายหมายถึงส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณปาก เช่น ปากเปื่อย; ขอบช่องแห่งสิ่งต่าง ๆ เช่น ปากหม้อ ปากไห; ต้นทางสำหรับเข้าออก เช่น ปากช่อง ปากตรอก; กลีบดอกกล้วยไม้คล้ายรูปกรวยหรือหลอดที่อยู่ตรงกลางเป็นที่อยู่ของเกสร, กระเป๋า ก็เรียก; ใช้เป็นลักษณนามของสิ่งบางอย่างเช่นแหอวนหรือพยานบุคคล เช่น แหปากหนึ่ง อวน ๒ ปาก พยาน ๓ ปาก. ก. พูด เช่น ดีแต่ปาก.

เปียก

หมายถึงก. กวนสิ่งเช่นข้าวหรือแป้งเป็นต้นบนไฟให้สุก เช่น เปียกข้าวเหนียว เปียกสาคู. ว. เรียกข้าวที่ต้มและกวนให้เละ หรือข้าวที่ต้มกับน้ำกะทิเจือเกลือเล็กน้อย กวนให้สุกจนข้นหรือเละ มีรสเค็ม ๆ มัน ๆ ว่า ข้าวเปียก, เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น แป้งเปียก สาคูเปียก, เรียกขนมชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งข้าวเจ้าตั้งไฟกวนกับน้ำตาลหม้อและกะทิ หยอดให้มีขนาดพอคำแล้วโรยถั่วทองคั่ว ว่า ขนมเปียก.

ทอง

หมายถึงน. ธาตุแท้ชนิดหนึ่งเนื้อแน่นมาก สีเหลืองสุกปลั่ง เป็นโลหะมีค่า เช่น บ่อทอง เหรียญทอง ทองแท่ง ทองลิ่ม, เรียกเต็มว่า ทองคำ; เรียกสิ่งที่ทำด้วยทองเหลืองว่า ทอง ก็มี เช่น กระทะทอง หม้อทอง, โดยปริยายหมายถึงสีเหลือง ๆ อย่างสีทอง เช่น เนื้อทอง ผมทอง แสงทอง, ใช้ประกอบสิ่งต่าง ๆ บางอย่างโดยอนุโลมตามลักษณะสี เป็นชื่อเรียกเฉพาะ เช่น ขนมทอง คือขนมชนิดหนึ่ง รูปวงกลม มีนํ้าตาลหยอดข้างบน, ปลาทอง คือปลาชนิดหนึ่ง ตัวสีเหลืองหรือแดงส้ม.

น้ำตาล

หมายถึงน. สารประกอบคาร์โบไฮเดรตประเภทโมโนแซ็กคาไรด์และไดแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีรสหวาน โดยมากได้จากตาล มะพร้าว อ้อย, ถ้าเป็นความหมายเฉพาะอย่างและทำด้วยอะไร ก็เติมคำนั้น ๆ ลงไป เช่น ทำจากตาล เรียกว่า นํ้าตาลโตนด, ทำจากมะพร้าว เรียกว่า นํ้าตาลมะพร้าว, ทำเป็นงบ เรียกว่า นํ้าตาลงบ, ทำจากอ้อย แต่ยังไม่ได้ทำให้เป็นนํ้าตาลทราย เรียกว่า นํ้าตาลทรายดิบ, ทำเป็นเม็ด ๆ เหมือนทราย เรียกว่า นํ้าตาลทราย, ทำเป็นก้อนแข็งเหมือนกรวด เรียกว่า นํ้าตาลกรวด, เคี่ยวให้ข้น ๆ เรียกว่า นํ้าตาลตงุ่น, หยอดใส่ใบตาลหรือใบตองแห้งทำเป็นรูปปี่ เรียกว่า นํ้าตาลปี่, หลอมเป็นปึก เรียกว่า นํ้าตาลปึก, หยอดใส่หม้อ เรียกว่า นํ้าตาลหม้อ, บรรจุใส่ปีบ เรียกว่า น้ำตาลปีบ หรือ น้ำตาลปี๊บ, รองมาใหม่ ๆ ยังไม่ได้เคี่ยว เรียกว่า นํ้าตาลสด, ถ้าต้มให้เดือด เรียกว่า น้ำตาลลวก, ถ้าใส่เปลือกตะเคียน มะเกลือ หรือเคี่ยม เป็นต้น หมักไว้ระยะหนึ่งจนมีแอลกอฮอล์ กินแล้วเมา เรียกว่า นํ้าตาลเมา. ว. สีคล้ายสีนํ้าตาลหม้อที่เคี่ยวแก่ไฟ, ถ้าแก่ไฟจนไหม้ เรียกว่า สีนํ้าตาลไหม้.

 คำในภาษาไทย จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ