ค้นเจอ 246 รายการ

อภัย,อภัย-

หมายถึง[อะไพ, อะไพยะ-] น. ความไม่มีภัย, ความไม่ต้องกลัว. (ป., ส.), นิยมใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น ขออภัย หมายความว่า ขอให้ยกโทษให้ ขออย่าได้ถือโทษ, ให้อภัย หมายความว่า ยกโทษให้. ก. ยกโทษ เช่น ฉันอภัยให้เธอ.

เที่ยว

หมายถึงก. กิริยาที่ไปที่โน่นที่นี่เรื่อยไป, มักใช้พูดประกอบกับกริยาอื่น เช่น เที่ยวหา เที่ยวพูด เที่ยวกิน เที่ยวนอน; ไปไหน ๆ เพื่อความเพลิดเพลินตามสบาย เช่น ไปเที่ยว เดินเที่ยว ท่องเที่ยว, เตร็ดเตร่ไปเพื่อหาความสนุกเพลิดเพลินตามที่ต่าง ๆ เช่น เที่ยวงานกาชาด.

จ๊ะจ๋า

หมายถึงว. เรียกอาการที่เด็กเริ่มหัดพูดพูดอย่างน่ารักน่าเอ็นดู เช่น ลูกฉันเริ่มหัดพูดจ๊ะจ๋าแล้ว. ก. อาการที่คู่รักพูดคุยกันอย่างมีความสุข เช่น สองคนนั้นเขากำลังจ๊ะจ๋ากันอยู่ อย่าไปกวนเขา.

ศรัทธา

หมายถึง[สัดทา] น. ความเชื่อ, ความเลื่อมใส, เช่น สิ้นศรัทธา ฉันมีศรัทธาในความดีของเขา บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ ประสาทะ เป็น ศรัทธาประสาทะ. ก. เชื่อ, เลื่อมใส, เช่น เขาศรัทธาในการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณ. (ส. ศฺรทฺธา; ป. สทฺธา).

ฝ่ายค้าน

หมายถึงน. ฝ่ายที่แสดงความเห็นโต้แย้งความเห็นของฝ่ายเสนอในการโต้วาที, ตรงข้ามกับ ฝ่ายเสนอ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ไม่ได้ร่วมเป็นรัฐบาล ซึ่งทำหน้าที่ค้านรัฐบาลในรัฐสภา, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีความเห็นโต้แย้งกับผู้อื่น เช่น เรื่องนี้แม้ใครจะเห็นด้วยก็ตาม แต่ฉันขอเป็นฝ่ายค้าน.

หนวกหู

หมายถึงก. รู้สึกรำคาญหูเพราะเสียงเซ็งแซ่อื้ออึง เช่น เด็ก ๆ เล่นกันเกรียว หนวกหูเหลือเกิน, โดยปริยายหมายความว่า รำคาญ เช่น เธอพูดมากฉันหนวกหูเต็มทีแล้ว. ว. เซ็งแซ่อื้ออึงรำคาญหู เช่น เด็ก ๆ จุดประทัดเล่นกัน เสียงหนวกหูจริง.

มา

หมายถึงก. เคลื่อนออกจากที่เข้าหาตัวผู้พูด เช่น มานี่ มาหาฉันหน่อย, ตรงกันข้ามกับ ไป. ว. ใช้ประกอบคำกริยาแสดงอดีต เช่น นานมาแล้ว ดังกล่าวมาแล้ว ไปมาแล้ว หรือแสดงทิศทางเข้าหาตัวผู้พูด เช่น หันมาทางนี้ เอามานี่ หรือแสดงอาการที่ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน เช่น ความเป็นมา อยู่มาวันหนึ่ง ส่งจดหมายบอกข่าวมา.

เชิญ

หมายถึงก. แสดงความปรารถนาเพื่อขอให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความเคารพหรืออ่อนน้อม เช่น เชิญเทวดา เชิญมารับประทานอาหาร; ถือ อุ้ม ชู หรือนำไปเป็นต้นด้วยความเคารพ เช่น เชิญพระแสง เชิญพระพุทธรูป เชิญธง เชิญขันหมาก; กล่าวอนุญาตให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความสุภาพหรืออ่อนน้อม เช่น เชิญเถิด เชิญครับ เชิญตามสบาย.

เวร

หมายถึงน. ความพยาบาท, ความปองร้าย, บาป, เช่นเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร; คำแสดงความรู้สึกเดือดร้อนเพราะกรรมหรือชะตากรรมของตนในอดีต เช่นเวรของฉันแท้ ๆ ทำเงินเดือนหายไปทั้งเดือน, กรรมเวร หรือ เวรกรรม ก็ว่า. (ป.; ส. ไวร).

เสียดาย

หมายถึงก. รู้สึกอยากได้สิ่งที่เสียไปพลาดไปเป็นต้น ให้กลับคืนมา เช่น เธอเสียดายแหวนเพชรที่หายไป, รู้สึกว่าพลาดโอกาสที่ควรจะมีจะได้ เช่น เสียดายที่เขาไม่เชิญฉันไปงานนี้ด้วย, รู้สึกไม่อยากให้เสียไปโดยไม่ได้ประโยชน์ เช่น เปิดน้ำเปิดไฟทิ้งไว้ น่าเสียดาย; อาลัยถึงสิ่งที่จากไป เช่น เขาเสียดายที่คนดี ๆ ตายในอุบัติเหตุครั้งนี้หลายคน.

สามารถ

หมายถึง[สามาด] เป็นคำช่วยกริยาบอกว่ามีคุณสมบัติที่จะทำได้ เช่น เขาสามารถเดินได้ชั่วโมงละ ๕ กิโลเมตร เพื่อนฉันสามารถขี่จักรยานไต่ลวดได้. ว. มีคุณสมบัติที่จะทำได้ โดยเฉพาะทางความรู้หรือความชำนาญเป็นต้น เช่น ลูกเขาเป็นคนสามารถเรียนอะไรก็เรียนได้. (ส. สมรฺถ; ป. สมตฺถ).

เกล้ากระหม่อม

หมายถึงส. คำใช้แทนตัวผู้พูด เพศชาย เพ็ดทูลพระอนุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอที่มิได้ทรงกรม, พระวรวงศ์เธอที่ทรงกรม และสมเด็จพระสังฆราช, ถ้าผู้พูดเป็นเพศหญิงใช้ว่า เกล้ากระหม่อมฉัน, เขียนย่อว่า เกล้าฯ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑.

 คำไทยที่มักเขียนผิด จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ