พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ห (หน้าที่ 9)

  1. หย่อย,หย่อย ๆ
    หมายถึง ว. เรื่อย ๆ, บ่อย ๆ, เช่น มากันหย่อย ๆ ไม่ขาดสาย, น้อย ๆ เช่น ให้เงินทีละหย่อย.
  2. หย่า
    หมายถึง ก. เลิกเป็นผัวเมียกัน; (กฎ) ทำให้การสมรสสิ้นสุดลงโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้ง ๒ ฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล; เลิก เช่น หย่านม หย่าศึก.
  3. หย่ากัน
    หมายถึง ก. ไม่กินกัน (ใช้แก่คู่ขาการพนันบางชนิด) เช่น ในการเล่นไพ่ ๒ คนนั้นเขาหย่ากัน.
  4. หย่านม
    หมายถึง ก. เลิกกินนมแม่ (ใช้แก่เด็กและลูกสัตว์), อดนม ก็ว่า.
  5. หย้าว
    หมายถึง น. เหย้า.
  6. หรคุณ
    หมายถึง [หอระคุน] น. จำนวนวันตั้งแต่แรกตั้งศักราชมา; เรียกชาดสีแดงเสนว่า ชาดหรคุณ.
  7. หรณะ
    หมายถึง [หะระนะ] น. การนำไป. (ป., ส.).
  8. หรดาล
    หมายถึง [หอระดาน] น. แร่ชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยธาตุสารหนูและกำมะถัน มีปรากฏในธรรมชาติ ๒ ชนิด คือ หรดาลแดงกับหรดาลกลีบทอง มักจะปรากฏอยู่ปนกัน ในปัจจุบันสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้ทั้ง ๒ ชนิด. (ป.; ส. หริตาล).
  9. หรดาลกลีบทอง
    หมายถึง น. หรดาลที่มีลักษณะเป็นผลึกแท่งเข็มสั้น เป็นเม็ด เป็นแผ่นอัดแน่น หรือเป็นผง อ่อนนุ่ม มีค่าความถ่วงจำเพาะ ๓.๔๙ สีเหลือง เป็นมัน มีสูตรเคมี As2S3 ใช้ประโยชน์เป็นสารให้สีเหลือง ใช้เขียนลายรดนํ้า สมุดดำ เป็นต้น. (อ. orpiment).
  10. หรดาลแดง
    หมายถึง น. หรดาลที่มีลักษณะเป็นผลึกแท่งเข็มสั้น เป็นเม็ด หรือเป็นก้อนอัดแน่น อ่อนนุ่ม มีค่าความถ่วงจำเพาะ ๓.๕ สีแดงหรือแดงส้ม เป็นมัน มีสูตรเคมี AsS, As2S2, As4S4 ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหนังสัตว์ ใช้เป็นตัวทำให้ขนร่วง ใช้ในงานอุตสาหกรรมทำกระสุนปืนส่องวิถี ใช้ในงานความร้อนสูง เช่น ดอกไม้ไฟ พลุสี ใช้เป็นสารฆ่าสัตว์แทะ เช่น หนู และใช้เป็นสีทา. (อ. realgar).
  11. หรดี
    หมายถึง [หอระดี] น. ทิศตะวันตกเฉียงใต้. (ป.; ส. ไนรฺฤติ).
  12. หรบ ๆ
    หมายถึง ว. หรับ ๆ.
  13. หรรษ,หรรษ-,หรรษา
    หมายถึง [หันสะ-, หันสา] น. ความรื่นเริง, ความยินดี. (ส. หรฺษ).
  14. หรอ
    หมายถึง [หฺรอ] ก. สึกเข้าไป, กร่อนเข้าไป, ในคำว่า สึกหรอ ร่อยหรอ.
  15. หรอก
    หมายถึง [หฺรอก] (ปาก) ว. ดอก เช่น ไม่เป็นไรหรอก.
  16. หรอย ๆ
    หมายถึง ว. ต้อย ๆ, หย็อย ๆ, (ใช้แก่กิริยาที่เด็กวิ่ง).
  17. หระ
    หมายถึง [หะระ] น. ชื่อพระอิศวร. (ป., ส. หร ว่า นำไป).
  18. หรับ ๆ
    หมายถึง ว. เร่า ๆ, สั่นรัว, (ใช้แก่กิริยาดิ้นเป็นต้น), หรบ ๆ ก็ว่า.
  19. หรัสว,หรัสว-
    หมายถึง [หะรัดสะวะ-] ว. สั้น; เล็ก, น้อย; ตํ่า, เตี้ย. (ส.; ป. รสฺส).
  20. หรัสวมูรดี
    หมายถึง [หะรัดสะวะมูระดี] ว. มีร่างเล็ก, เตี้ย. (ส.).
  21. หรัสวางค์
    หมายถึง [หะรัดสะวาง] น. คนเตี้ย. ว. มีร่างเตี้ย. (ส.).
  22. หรา
    หมายถึง [หฺรา] ว. ก๋า, ร่า, เช่น เต้นหรา.
  23. หริ
    หมายถึง [หะริ] น. ชื่อพระนารายณ์. ว. สีขมิ้น, สีเหลืองอมแดง, สีเขียว. (ป., ส.).
  24. หริคันธ์,หริจันทน์
    หมายถึง [หะริคัน, หะริจัน] น. จันทน์แดง. (ป., ส.).
  25. หริณะ
    หมายถึง [หะรินะ] น. กวาง, เนื้อชนิดหนึ่ง, กระต่าย. ว. สีขมิ้น, สีเหลืองอมแดง, สีเขียว. (ป., ส.).
  26. หริต
    หมายถึง [หะริด] น. ของเขียว; ผัก, หญ้า. ว. เขียว; สีนํ้าตาล, สีเหลือง, สีเหลืองอ่อน. (ป., ส.).
  27. หริตกี,หรีตกี
    หมายถึง [หะริตะกี, หะรีตะกี] น. ต้นสมอไทย. (ป., ส.).
  28. หริรักษ์
    หมายถึง [หะริรัก] น. พระนารายณ์.
  29. หริวงศ์
    หมายถึง [หะริวง] น. วงศ์หรือเชื้อพระนารายณ์คือพระรามเป็นต้น. (ส.).
  30. หริ่ง
    หมายถึง น. ชื่อหนูขนาดเล็กหลายชนิดในวงศ์ Muridae เช่น หนูหริ่งบ้าน (Mus musculus) หนูหริ่งไม้หางพู่ (Chiropodomys gliroides).
  31. หริ่ง ๆ
    หมายถึง ว. เสียงร้องของเรไร.
  32. หรีด
    หมายถึง น. ดอกไม้ที่จัดแต่งขึ้นตามโครงรูปต่าง ๆ เช่น วงกลม วงรี มักมีใบไม้เป็นส่วนประกอบด้วย สำหรับใช้เคารพศพ, พวงหรีด ก็เรียก. (อ. wreath).
  33. หรี่
    หมายถึง [หฺรี่] ก. ลดให้น้อยลงหรือเบาลง เช่น หรี่ไฟ หรี่วิทยุ. ว. แคบ ในคำว่า ตาหรี่.
  34. หรี่ตา
    หมายถึง ก. ทำตาให้หยีลงเพื่อให้แสงสว่างเข้าตาน้อยหรือเพื่อเป็นอาณัติสัญญาณบางอย่าง.
  35. หรือ
    หมายถึง สัน. คำบอกความให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จะเอาเงินหรือทอง; คำประกอบกับประโยคคำถาม เช่น ไปหรือ.
  36. หรุบ ๆ
    หมายถึง ว. อาการของสิ่งที่ร่วงลงมาพรู เรียกว่า ร่วงหรุบ ๆ.
  37. หรุบรู่,หรุบหรู่
    หมายถึง ว. มีแสงมัวจนมองอะไรไม่เห็นถนัดชัดเจน เช่น แสงเดือนหรุบรู่, รุบรู่ หรือ รุบหรู่ ก็ว่า.
  38. หรุ่ม
    หมายถึง น. ชื่ออาหารอย่างหนึ่ง ไส้ทำด้วยหมูหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผัดกับถั่วลิสง หัวหอม และเครื่องปรุง ห่อด้วยไข่โรยฝอยขนาดพอดีคำ.
  39. หรุ่ม
    หมายถึง น. ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง.
  40. หรู,หรูหรา
    หมายถึง ว. สวยงามด้วยการรู้จักประดับตกแต่งเกินกว่าปรกติธรรมดา เช่น แต่งตัวสวยหรู จัดห้องเสียหรูหรา.
  41. หร็อมแหร็ม
    หมายถึง ว. มีเล็กน้อย, มีห่าง ๆ ไม่เป็นพวกเป็นหมู่, เช่น ต้นไม้ขึ้นหร็อมแหร็ม, กะหร็อมกะแหร็ม หรือ หย็อมแหย็ม ก็ว่า.
  42. หฤทย์
    หมายถึง [หะรึด] ว. เกี่ยวแก่ใจ; ภายใน; น่ารัก. (ส.).
  43. หฤทัย,หฤทัย-
    หมายถึง [หะรึไท, หะรึไทยะ-] น. หัวใจ, ใจ. (ส. หฺฤทย; ป. หทย).
  44. หฤทัยกลม
    หมายถึง น. คนมีใจอ่อน. (ส. หฺฤทยกลฺม).
  45. หฤทัยกัปน์,หฤทัยกัมป์
    หมายถึง น. อาการเต้นแห่งใจ. (ส.).
  46. หฤทัยปรีย์
    หมายถึง ว. น่ารัก, ชื่นใจ. (ส. หฺฤทยปฺรีย).
  47. หฤทัยพันธน์
    หมายถึง ว. ผูกใจ, ชวนใจ, จับใจ. (ส.).
  48. หฤษฎี
    หมายถึง [หะริดสะดี] น. ความยินดี, ความปลาบปลื้ม. (ส. หฺฤษฺฏี).
  49. หฤษฎ์
    หมายถึง [หะริด] ว. น่าชื่นชม, ยินดี; สนุก, สบาย, ดีใจ. (ส. หฺฤษฺฏ; ป. หฏฺ).
  50. หฤหรรษ์
    หมายถึง [หะรึหัน] ว. ยินดี, ชื่นชม, ร่าเริง.
  51. หฤโหด
    หมายถึง [หะรึโหด] ว. ชั่วร้าย, เลวทราม, ใจร้าย.
  52. หลง
    หมายถึง [หฺลง] ก. สำคัญผิด, เข้าใจผิด, เช่น กาหลงเข้าใจว่าไข่นกดุเหว่าเป็นไข่ของตน; หมกมุ่น, มัวเมา, คลั่งไคล้, เคลิบเคลิ้ม, เช่น หลงในอบายมุข หลงเสน่ห์; พลัด เช่น กาหลงเข้าไปในฝูงหงส์, เข้าไปแล้วหาทางออกไม่ได้ เช่น หลงป่า หลงทาง; เหลืออยู่, ตกค้างอยู่, เช่น มะม่วงหลง ฝนหลงฤดู; มีความจำเลอะเลือน, สติเฟือนไป, เช่น พอแก่ก็ชักจะหลงแล้ว; เรียกเสียงที่แผดดังผิดปรกติ หรือเสียงที่ผิดระดับเสียงดนตรีว่า เสียงหลง.
  53. หลง ๆ ลืม ๆ
    หมายถึง ว. เลอะเลือน, จำได้บ้างไม่ได้บ้าง, ขี้หลงขี้ลืม ก็ว่า.
  54. หลงกล
    หมายถึง ก. แพ้รู้ในกลอุบาย.
  55. หลงจู๊
    หมายถึง น. ผู้จัดการ. (จ.).
  56. หลงตา,หลงหูหลงตา
    หมายถึง ว. ตกค้างอยู่โดยไม่เห็น, ปล่อยให้ผ่านสายตาไปโดยไม่ทันได้สังเกตเห็น.
  57. หลงผิด
    หมายถึง ก. สำคัญผิด, เข้าใจไม่ถูกต้อง; หลงประพฤติไปในทางที่ผิด.
  58. หลงลม,หลงลมปาก
    หมายถึง (ปาก) ก. หลงเชื่อถ้อยคำ เช่น อย่าหลงลมปากคนชวนไปหาลาภทางไกล.
  59. หลงละเมอ
    หมายถึง ก. สำคัญผิด, หลงเพ้อ, เช่น เขาแต่งงานไปนานแล้ว ยังหลงละเมอว่าเขาเป็นโสดอยู่.
  60. หลงลืม
    หมายถึง ก. มีความจำเลอะเลือน, มีความจำเสื่อมจึงทำให้ลืม, มีสติเฟือนไป.
  61. หลงเหลือ
    หมายถึง ก. มีเหลืออยู่บ้างทั้ง ๆ ที่เข้าใจหรือรู้สึกว่าหมดแล้ว เช่น ยังมีเศษสตางค์หลงเหลืออยู่ในกระเป๋า.
  62. หลงใหล
    หมายถึง ก. คลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น หลงใหลนักร้อง; เลอะเลือน, มีสติเฟือน, เช่น คนแก่มักหลงใหล กินแล้วก็ว่าไม่ได้กิน.
  63. หลงใหลได้ปลื้ม
    หมายถึง (สำ) ก. ตื่นเต้นยินดีเมื่อตนเองหรือผู้อื่นได้ดิบได้ดีเป็นต้น เช่น อย่ามัวหลงใหลได้ปลื้มกับรางวัลจนลืมหน้าที่การงานของตน.
  64. หลด
    หมายถึง [หฺลด] น. (๑) ชื่อปลานํ้าจืดหลายชนิดในวงศ์ Mastacembelidae ลำตัวยาว แบนข้าง ปลายจะงอยปากบนเรียวยาว เช่น ชนิด Macrognathus aculeatus, Mastacembelus circumcinctus. (๒) ดู มังกร ๒.
  65. หลน
    หมายถึง [หฺลน] ก. เคี่ยวของบางอย่างเช่นปลาร้าปลาเจ่าให้ละลายและงวดข้น เพื่อปรุงเป็นอาหาร. น. อาหารประเภทเครื่องจิ้มชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยกะทิ หัวหอม หมูหรือกุ้งสับ เคี่ยวรวมกันแล้วใส่ปลาร้าหรือเต้าเจี้ยวแห้งเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกชื่อตามนั้น ปรุงรสให้เปรี้ยว เค็ม หวาน เช่น ปลาร้าหลน เต้าเจี้ยวหลน เต้าหู้ยี้หลน ปลากุเลาหลน รับประทานกับผักสด.
  66. หลบ
    หมายถึง [หฺลบ] ก. หลีก, เลี่ยงไม่ให้พบ, เลี่ยงไม่ให้ถูก เช่น หลบลูกปืน; แอบ เช่น หลบเข้าหลังตู้; กลับเข้าใน เช่น ไข้หลบ; ปกคลุมหลุบลงมา (ใช้เฉพาะการมุงหลังคาตรงอกไก่).
  67. หลบฉาก
    หมายถึง ก. หลบอย่างมีชั้นเชิง (ใช้ในกีฬามวย), โดยปริยายหมายความว่า หลีกหนีไม่ให้พบหน้า.
  68. หลบตา
    หมายถึง ก. หลีกไม่จับตา, ไม่กล้าสบตา, ไม่สู้สายตา.
  69. หลบฝาก
    หมายถึง (โบ) น. ประเพณีที่ชายเข้าไปอาศัยรับใช้การงานให้กับหญิง.
  70. หลบมุม
    หมายถึง (ปาก) ก. หลีกเลี่ยง.
  71. หลบลี้หนีหน้า
    หมายถึง ก. หลีกหนีไปไม่ยอมให้พบหน้า.
  72. หลบหนี้
    หมายถึง ก. หลบไม่ยอมพบเจ้าหนี้.
  73. หลบหน้า,หลบหน้าหลบตา
    หมายถึง ก. หลบไปไม่เผชิญหน้า.
  74. หลบหลังคา
    หมายถึง ก. ปิดหลังคาที่ตรงสันหลังคาให้มิดไม่ให้ฝนรั่วได้. น. เครื่องมุงที่ใช้ปิดสันหลังคาให้มิดไม่ให้ฝนรั่วได้; วิธีสอยชายผ้าอย่างหนึ่ง.
  75. หลวง
    หมายถึง ว. ที่เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น ศาลหลวง วังหลวง; เป็นใหญ่ เช่น ภรรยาหลวง, ใหญ่ เช่น เขาหลวง ผึ้งหลวง; สาธารณะ เช่น ทางหลวง. น. บรรดาศักดิ์ข้าราชการ สูงกว่าขุน ต่ำกว่าพระ เช่น หลวงวิจิตรวาทการ; (ปาก) คำเรียกพระภิกษุโดยความเคารพ เช่น หลวงปู่ หลวงพี่ หลวงน้า, คำเรียกพระจีน พระญวน ว่า หลวงจีน หลวงญวน.
  76. หลวงจีน
    หมายถึง น. ชื่อสมณศักดิ์พระสงฆ์จีนตั้งแต่ระดับพระคณานุกรมของเจ้าคณะใหญ่และรองเจ้าคณะใหญ่ จนถึงผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่ เช่น หลวงจีนวินยานุกร หลวงจีนคณาณัติจีนพรต หลวงจีนใบฎีกา.
  77. หลวงพ่อ
    หมายถึง (ปาก) น. คำเรียกพระพุทธรูปโดยความเคารพ เช่น หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อแก้ว หลวงพ่อวัดไร่ขิง; คำเรียกพระภิกษุที่เป็นพ่อหรืออยู่ในวัยเดียวกับพ่อ.
  78. หลวม
    หมายถึง ว. ไม่แน่น, ไม่สนิท, เช่น นอตตัวนี้หลวม; ใหญ่เกินพอดี, ยังมีที่ว่างเหลืออยู่, เช่น จัดของใส่กระเป๋าหมดแล้ว กระเป๋ายังหลวมอยู่; โดยปริยายหมายความว่า ไม่กระชับ, ไม่รัดกุม, เช่น สำนวนหลวมไป เหตุผลยังหลวมอยู่, ไม่รอบคอบ เช่น สัญญาฉบับนี้ทำไว้หลวมเกินไป.
  79. หลวมตัว
    หมายถึง ก. เผลอไผลหรือถลำตัวเข้าไปโดยเข้าใจผิดหรือเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์เป็นต้น เช่น เขาหลวมตัวเล่นการพนันจนหมดตัว.
  80. หลอ
    หมายถึง ว. ใช้ประกอบกับคำ เหลือ เป็น เหลือหลอ หมายความว่า หลงเหลืออยู่ เช่น รถชนกันอย่างนี้ จะมีอะไรเหลือหลอเล่า, ถ้าใช้ในความปฏิเสธหมายความว่า หมดเกลี้ยง เช่น กินเสียจนไม่มีอะไรเหลือหลอ; เรียกฟันที่มีช่องว่างระหว่างฟันซึ่งเกิดจากฟันหลุด กร่อน หรือหักจนถึงโคนฟันเป็นต้น ว่า ฟันหลอ.
  81. หลอก
    หมายถึง [หฺลอก] ก. ทำให้เข้าใจผิดสำคัญผิด เช่น หลอกขายของปลอม, ทำให้ตกใจ เช่น ผีหลอก, ล้อ เช่น แลบลิ้นหลอก; ขัดกัน เช่น สีหลอกกัน.
  82. หลอก,หลอก,หลอก ๆ
    หมายถึง ว. ไม่จริง เช่น เผาหลอก, เล่น ๆ เช่น ทำหลอก ๆ ชกกันหลอก ๆ.
  83. หลอกตา
    หมายถึง ก. ทำให้เห็นขนาด ระยะทาง เป็นต้น ผิดไปจากความเป็นจริง เช่น ที่แปลงนี้หลอกตา ดูเล็กนิดเดียวแต่มีเนื้อที่หลายไร่. ว. ที่ทำให้เห็นขนาดหรือรูปร่างผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เสื้อตัวนี้หลอกตา ใส่แล้วดูผอม กระจกหลอกตา.
  84. หลอกลวง
    หมายถึง ก. ใช้อุบายทุจริตลวงให้เข้าใจผิด, (กฎ) แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด.
  85. หลอกล่อ
    หมายถึง ก. หลอกให้เชื่อโดยมีเครื่องจูงใจ, ล่อหลอก ก็ว่า.
  86. หลอกล้อ
    หมายถึง ก. ทำกิริยาอาการเย้าเล่น, ล้อหลอก ก็ว่า.
  87. หลอกหลอน
    หมายถึง ก. เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้สะดุ้งตกใจกลัว เช่น ถูกผีหลอกหลอน, อาการที่ภาพหรือเสียงอันน่ากลัว น่าหวาดเสียว หรือสะเทือนใจที่ตนเคยประสบมา คอยรบกวนจิตใจอยู่ เช่น ภาพเด็กที่ถูกรถชนตายมาคอยหลอกหลอนจิตใจอยู่ตลอดเวลา.
  88. หลอกเล่น
    หมายถึง ก. แสดงกิริยาหรือวาจาเพื่อความสนุก, ล้อเล่น ก็ว่า.
  89. หลอด
    หมายถึง [หฺลอด] น. ของกลมยาวขนาดเล็กที่มีรูตลอด เช่น หลอดกาแฟ หลอดแก้ว, โดยปริยายเรียกสิ่งของบางอย่างที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น หลอดตะเกียง หลอดไฟฟ้า หลอดวิทยุ หลอดนีออน หลอดทดลอง, เรียกแกนที่มีช่วงกลางคอดคล้ายลูกล้อสำหรับพันด้ายว่า หลอดด้าย, เรียกด้ายที่พันหลอดเช่นนั้นว่า ด้ายหลอด, ลักษณนามเรียกสิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่น ยาฉีด ๓ หลอด.
  90. หลอด
    หมายถึง น. ชื่อหอยทะเลกาบคู่ในสกุล Solen วงศ์ Solenidae เปลือกประกบกันเป็นรูปทรงกระบอกเปิดหัวเปิดท้าย หัวเปิดมีท่อสำหรับทางน้ำเข้าออก ท้ายเปิดสำหรับยื่นตีนขุดดินโคลนฝังตัว เช่น ชนิด S. strictus ซึ่งพบมากที่ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม.
  91. หลอดลม
    หมายถึง น. ทางเดินอากาศหายใจส่วนล่าง อยู่ระหว่างท่อลมส่วนอกกับถุงลมปอด. (อ. bronchus, lower airways).
  92. หลอดลมฝอย
    หมายถึง น. ทางเดินอากาศหายใจส่วนล่างในปอด ขนาดไม่เกิน ๑ มิลลิเมตร. (อ. bronchiole).
  93. หลอดอาหาร
    หมายถึง น. ทางเดินอาหารอยู่ระหว่างคอหอยส่วนล่างกับกระเพาะอาหาร. (อ. oesophagus, esophagus).
  94. หลอดเลือด
    หมายถึง น. ส่วนของร่างกายที่มีลักษณะเป็นหลอดสำหรับนำเลือดไปสู่หรือออกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย, เส้นเลือด ก็เรียก. (อ. blood vessel).
  95. หลอน
    หมายถึง [หฺลอน] ก. อาการที่ภาพซึ่งน่ากลัวหรือน่าสะเทือนใจคงอยู่ในมโนภาพ เช่น ภาพที่เด็กถูกรถทับตายต่อหน้าต่อตามาหลอนอยู่ตลอดเวลา.
  96. หลอม
    หมายถึง [หฺลอม] ก. ทำให้ละลายด้วยความร้อน เช่น เขาหลอมทองคำด้วยไฟพ่นจากเป่าแล่น, โดยปริยายหมายถึงอบรมบ่มนิสัยให้มีจิตใจโน้มน้าวไปทางใดทางหนึ่ง เช่น หลอมความคิด หลอมจิตใจ, หล่อหลอม ก็ว่า.
  97. หลอมตัว
    หมายถึง ก. ละลายรวมกัน, เปลี่ยนภาวะเป็นของเหลวด้วยความร้อน เช่น เขาใช้ไฟจากเป่าแล่นพ่นจนทองคำหลอมตัว.
  98. หลอมละลาย,หลอมเหลว
    หมายถึง (วิทยา) ก. เปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลว. น. เรียกอุณหภูมิที่ของแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวว่า จุดหลอมละลาย จุดหลอมเหลว ขีดหลอมละลาย หรือ ขีดหลอมเหลว.
  99. หละ
    หมายถึง [หฺละ] น. ชื่อโรคที่เป็นแก่เด็กอ่อน เกิดจากสายสะดือเป็นพิษ มีอาการลิ้นกระด้างคางแข็ง.
  100. หละหลวม
    หมายถึง [หฺละหฺลวม] ว. สะเพร่า, ไม่ถ้วนถี่, ไม่รอบคอบ, เช่น ทำงานหละหลวม, ไม่รัดกุม เช่น งานรักษาความปลอดภัยในพิธีนี้หละหลวมมาก.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ห (หน้าที่ 9)"