พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ห (หน้าที่ 7)

  1. หมายหน้า
    หมายถึง ก. ประมาทหน้า, ดูถูก, เช่น หมายหน้าไว้ว่าจะต้องสอบตกแน่ ๆ; ตราหน้า เช่น เขาถูกหมายหน้าว่าเป็นคนไม่ดี.
  2. หมายหัว
    หมายถึง ก. จดจำไว้ด้วยความประสงค์ร้าย เช่น เขาถูกพวกนักเลงหมายหัวไว้ว่าจะต้องหาทางกำจัดให้ได้, คาดหมายไว้ว่าจะเป็นไปในทางไม่ดี เช่น เด็กคนนี้ถูกหมายหัวไว้ว่าจะต้องสอบตกแน่ ๆ.
  3. หมายอาญา
    หมายถึง (กฎ) น. หนังสือบงการซึ่งออกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สั่งให้เจ้าหน้าที่จับ ขัง จำคุก หรือปล่อยผู้ต้องหา จำเลยหรือนักโทษ หรือให้ทำการค้น รวมทั้งสำเนาหมายเช่นนี้อันได้รับรองว่าถูกต้อง และคำบอกกล่าวทางโทรเลขว่าได้ออกหมายจับแล้วด้วย.
  4. หมายเกณฑ์
    หมายถึง (กฎ) น. หนังสือสั่งเกณฑ์ซึ่งเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ออกไปถึงผู้ถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์.
  5. หมายเรียก
    หมายถึง (กฎ) น. ในคดีอาญา หมายถึง หมายสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมาที่พนักงานสอบสวน หรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือมาศาลเนื่องในการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาคดีหรือการอย่างอื่น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, ในคดีแพ่ง หมายถึง หมายซึ่งศาลออกเรียกบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแพ่ง หรือเรียกบุคคลมาเป็นพยาน หรือให้ส่งพยานหลักฐานให้ศาล; หมายที่นายอำเภอออกเรียกบุคคลที่เป็นทหารกองเกินมาตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการ.
  6. หมายเลข
    หมายถึง น. เลขลำดับ เช่น หมายเลขโทรศัพท์, ลำดับที่ เช่น ผู้ประกวดหมายเลข ๑.
  7. หมายเหตุ
    หมายถึง น. คำอธิบาย ข้อความ หรือข้อมูลเพิ่มเติม.
  8. หมายใจ
    หมายถึง ก. ปองไว้, มุ่งหวังไว้, คาดไว้.
  9. หมาร่า
    หมายถึง น. ชื่อต่อหลายชนิดในวงศ์ Sphecidae ใช้ดินเหนียวทำรังขนาดกำปั้นหรือเล็กกว่าติดตามฝ้า คาน เสาบ้าน หรือบริเวณที่ร่มอื่น ๆ ในรังมีหนอนหรือเหยื่อที่ถูกต่อยให้สลบเพื่อเป็นอาหารของลูกอ่อน เช่น ชนิด Eumenes petiolata.
  10. หมาลอบกัด
    หมายถึง (สำ) น. คนที่ลอบทำร้ายหรือกลั่นแกล้งผู้อื่นลับหลัง.
  11. หมาสองราง
    หมายถึง (สำ) น. คนที่ทำตัวเข้าด้วยทั้ง ๒ ฝ่าย.
  12. หมาหมู่
    หมายถึง (ปาก) น. กลุ่มคนที่กลุ้มรุมทำร้ายคนคนเดียว.
  13. หมาหยอกไก่
    หมายถึง (สำ) น. เรียกอาการที่ชายหยอกล้อหญิงในทำนองชู้สาวเป็นทีเล่นทีจริง.
  14. หมาหวงก้าง
    หมายถึง (สำ) น. คนที่หวงของที่ตนไม่มีสิทธิ์, คนที่กันท่าคนอื่นในสิ่งที่ตนได้ใช้ประโยชน์แล้วหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้.
  15. หมาหวงราง
    หมายถึง (สำ) น. คนที่หวงแหนสิ่งที่ตนเองกินหรือใช้ไม่ได้ แต่ไม่ยอมให้คนอื่นกินหรือใช้, หมาในรางหญ้า ก็ว่า.
  16. หมาหัวเน่า
    หมายถึง (สำ) น. คนซึ่งเป็นที่รังเกียจของคนอื่นจนไม่สามารถเข้ากับใครได้, คนที่ไม่มีใครรักหรือคบหา.
  17. หมาหางด้วน
    หมายถึง (สำ) น. คนที่ทำอะไรผิดพลาดจนได้รับความอับอายแล้วชวนให้ผู้อื่นทำตามโดยยกย่องการกระทำนั้นว่าดี ควรเอาอย่าง.
  18. หมาเห็นข้าวเปลือก
    หมายถึง (สำ) น. คนที่อยากได้สิ่งที่เป็นประโยชน์หรืออำนวยความสุขสำราญให้แก่ตน แต่สุดความสามารถที่จะเอามาใช้หรืออำนวยประโยชน์ให้แก่ตนได้.
  19. หมาเห่าใบตองแห้ง
    หมายถึง (สำ) น. คนที่ชอบพูดเอะอะแสดงว่าเก่ง แต่ไม่กล้าจริง.
  20. หมาเห่าไม่กัด
    หมายถึง (สำ) น. คนที่ดีแต่ส่งเสียงเอะอะอวดเก่ง แต่ไม่ยอมต่อสู้หรือตอบโต้.
  21. หมาใน
    หมายถึง น. ชื่อหมาชนิด Cuon alpinus ในวงศ์ Canidae ขนสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเทา หางสีคลํ้ายาวเป็นพวง อาศัยอยู่ตามป่าทึบ ออกหากินเป็นฝูงเวลาเช้ามืดและพลบคํ่า ล่าสัตว์อื่นกิน เช่น เก้ง กวาง หมูป่า สัตว์เล็ก ๆ.
  22. หมาในรางหญ้า
    หมายถึง (สำ) น. คนที่หวงแหนสิ่งที่ตนเองกินหรือใช้ไม่ได้ แต่ไม่ยอมให้คนอื่นกินหรือใช้, หมาหวงราง ก็ว่า.
  23. หมาไม้
    หมายถึง น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Martes flavigula ในวงศ์ Mustelidae หัวคล้ายหมา ใบหูกลม ขอบหูขาว ลำตัวยาวสีนํ้าตาลอ่อน หางยาว ขนที่คาง ลำคอ และหน้าอกสีเหลือง ขนด้านบนของหัวสีดำ เล็บแหลมคม กินผลไม้และเนื้อสัตว์ ว่องไวมาก กลิ่นแรง อาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่.
  24. หมาไล่เนื้อ
    หมายถึง (สำ) น. คนที่รับใช้ผู้อื่นเมื่อเวลายังทำประโยชน์ให้ได้ ผู้เป็นนายก็เมตตาเลี้ยงดู แต่เมื่อทำประโยชน์ไม่ได้แล้ว ผู้เป็นนายก็ทอดทิ้งไม่ไยดีหรือหาเรื่องลงโทษขับไล่ไสส่งเป็นต้น เปรียบเสมือนหมาไล่เนื้อ เมื่อแก่สิ้นเขี้ยวสิ้นเล็บ ใช้ไล่ล่าสัตว์ไม่ได้ เจ้าของก็ไม่เมตตาเลี้ยงดูอีกต่อไป.
  25. หมิ่น
    หมายถึง ก. แสดงกิริยาท่าทาง พูดจา หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเชิงดูถูกว่ามีฐานะต่ำต้อยหรือไม่ดีจริงไม่เก่งจริงเป็นต้น, ดูหมิ่น หรือ ดูหมิ่นถิ่นแคลน ก็ว่า.
  26. หมิ่น
    หมายถึง ว. ในที่เกือบตก เกือบพลาดตก.
  27. หมิ่นประมาท
    หมายถึง ก. แสดงกิริยาวาจาดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น. (กฎ) น. ชื่อความผิดทางอาญาฐานใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง.
  28. หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
    หมายถึง [หฺมิ่นพฺระบอรมมะเดชานุพาบ] ก. กระทำการอันเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์.
  29. หมิ่นเหม่
    หมายถึง ว. อาการที่เข้าไปหรืออยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ใกล้อันตรายหรือเสียหายเป็นต้น, ล่อแหลม.
  30. หมี
    หมายถึง น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Ursidae ตาและใบหูกลมเล็ก ริมฝีปากยื่นแยกห่างออกจากเหงือกสามารถยืนและเดินด้วยขาหลังได้ ประสาทการดมกลิ่นดีกว่าประสาทตาและหู กินพืชและสัตว์ ในประเทศไทยมี ๒ ชนิด คือ หมีควาย (Selenarctos thibetanus) ตัวใหญ่ ขนยาวดำ ที่อกมีขนสีขาว รูปง่าม และ หมีหมา หรือ หมีคน (Helarctos malayanus) ตัวเล็กกว่าหมีควาย ขนสั้นดำ ที่อกมีขนสีขาวรูปคล้ายเกือกม้า.
  31. หมีเหม็น
    หมายถึง น. ชื่อไม้ต้นชนิด Litsea glutinosa (Lour.) C.B. Rob. ในวงศ์ Lauraceae ใบรูปรี มีขนนุ่ม ดอกสีเหลืองอ่อน.
  32. หมี่
    หมายถึง น. เรียกแป้งข้าวเจ้าที่โรยเป็นเส้นลงในนํ้าเดือดพอสุกแล้วนำมาตากแห้งว่า เส้นหมี่, ชื่ออาหารประเภทหนึ่งที่ทำด้วยเส้นหมี่ เช่น หมี่กรอบ หมี่กะทิ. (จ.).
  33. หมี่
    หมายถึง น. ชื่อผ้าชนิดหนึ่ง ทอโดยเอาเชือกมัดด้ายหรือไหมเป็นเปลาะ ๆ ตามลาย แล้วย้อมสี เมื่อทอแล้วจะได้ลวดลายต่าง ๆ ตามที่มัดไว้, ผ้ามัดหมี่ ก็เรียก.
  34. หมึก
    หมายถึง น. นํ้าที่ใช้ในการขีดเขียน ตามปรกติมีสีดำจัด จึงใช้เปรียบกับของดำว่า ดำเป็นหมึก, น้ำหมึก ก็ว่า. (จ.); โดยปริยายหมายถึงสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ขีดเขียนหรือพิมพ์หนังสือเป็นต้น เช่น หมึกแดง หมึกแห้ง หมึกพิมพ์ หมึกพิมพ์ลายมือ.
  35. หมึก
    หมายถึง ดู ปลาหมึก.
  36. หมึกจีน
    หมายถึง น. แท่งหมึกสีดำ ก่อนใช้ต้องฝนกับน้ำ แล้วใช้พู่กันป้ายเขียน.
  37. หมืน
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ) ก. เป็นผื่นขึ้นมาก ๆ ตามผิวเนื้อ.
  38. หมื่น
    หมายถึง ว. จำนวนนับเท่ากับ ๑๐ พัน.
  39. หมื่น
    หมายถึง (ปาก) ว. ทะลึ่ง, ทะเล้น.
  40. หมื่น
    หมายถึง (โบ) น. ชื่อบรรดาศักดิ์ในราชการ เหนือพันขึ้นไป.
  41. หมุด
    หมายถึง น. เครื่องสำหรับตรึงหรืออุดรู; เรียกเข็มที่หัวเป็นปุ่ม ใช้กลัดกระดาษหรือผ้าเป็นต้น ว่า เข็มหมุด; ผ้ากอซที่ใช้สอดเข้าไปในโพรงฝีเป็นต้นเพื่อซับของเหลวภายใน.
  42. หมุน
    หมายถึง ก. หันเวียนไปในแนวโค้ง เช่น โลกหมุน, ทำให้หันเวียนไปในแนวโค้ง เช่น หมุนเข็มนาฬิกา, (ปาก) นำสิ่งของไปจำนำหรือขายเพื่อเอาเงินมาใช้.
  43. หมุนเงิน
    หมายถึง ก. ทำให้เงินเปลี่ยนมือโดยวิธีให้กู้หรือลงทุนเป็นต้นเพื่อมุ่งผลประโยชน์.
  44. หมุนเวียน
    หมายถึง ก. เวียนไป, เปลี่ยนมือไป.
  45. หมุบ,หมุบ ๆ
    หมายถึง [หฺมุบ] ว. อาการที่หยิบ กัด หรือเคี้ยวโดยเร็ว เช่น พอได้โอกาสก็คว้าหมุบ ปลาฮุบเหยื่อหมุบ ๆ.
  46. หมุบหมับ
    หมายถึง ว. อาการที่หยิบฉวยหรือกินโดยเร็ว เช่น แย่งกันกินหมุบหมับ, บางทีก็ใช้แยกกัน เช่นคว้าคนละหมุบคนละหมับ.
  47. หมุบหมิบ
    หมายถึง ว. อาการที่ริมฝีปากเผยอขึ้นและหุบลงโดยเร็ว, อาการของปากที่พูดอย่างไม่ออกเสียง เช่น ทำปากหมุบหมิบ สวดมนต์หมุบหมิบ, ขมุบขมิบ ก็ว่า.
  48. หมุยขาว
    หมายถึง ดู กระเบียน (๒).
  49. หมุ่ย
    หมายถึง ว. เสียงอย่างเสียงฆ้อง, มุย ก็ว่า.
  50. หมู
    หมายถึง น. เรียกเรือขุดชนิดเล็ก ลักษณะคล้ายเรือพายม้า แต่หัวจะเรียวเล็กกว่าเรือพายม้ามาก ว่า เรือหมู.
  51. หมู
    หมายถึง น. ชื่อขวานชนิดหนึ่ง ด้ามสั้น สันหนา ใช้ตัด ถาก และฟัน.
  52. หมู
    หมายถึง น. (๑) ชื่อปลานํ้าจืดในสกุล Botia วงศ์ Cobitidae ลำตัวยาว แบนข้าง คอดหางใหญ่ มีหนวด ๓ คู่ หนังหนาคลุมเกล็ดมิด มีเขี้ยวพับเก็บได้ในร่องบริเวณด้านหน้าของตา เช่น หมูขาว (B. modesta) หมูลาย (B. hymenophysa). (๒) ดู ซ่อนทราย (๑).
  53. หมู
    หมายถึง (ปาก) น. ใบพลูสดหั่นผสมฝิ่นแล้วนำมาสูบ.
  54. หมู
    หมายถึง น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดในวงศ์ Suidae เป็นสัตว์กีบคู่ ตัวอ้วน จมูกและปากยื่นยาว มีทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงและที่เป็นสัตว์ป่า หาอาหารโดยใช้จมูกดุด; (ปาก) บุคคลที่อาจหลอกหรือเอาชนะได้ง่าย เช่น นักมวยต่างประเทศคนนี้อย่าไปคิดว่าหมูนะ.
  55. หมู,หมู,หมู ๆ
    หมายถึง (ปาก) ว. ง่าย, สะดวก, เช่น วิชาคำนวณสำหรับเขาแล้วหมูมาก เขาเลือกทำแต่งานหมู ๆ.
  56. หมูตั้ง
    หมายถึง น. ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง ทำด้วยหัวหมู หูหมู หนังหมู แล่เป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมเครื่องปรุงแล้วเคี่ยวให้เข้ากัน อัดเป็นแท่งแข็ง เวลากินหั่นเป็นชิ้น ๆ จิ้มนํ้าจิ้มหรือยำเป็นต้น.
  57. หมูน้ำ
    หมายถึง ดู พะยูน.
  58. หมูป่า
    หมายถึง น. ชื่อหมูซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหมูบ้าน รูปร่างลักษณะคล้ายหมูบ้าน แต่ปากและจมูกยื่นยาวกว่าปลายบานใช้สำหรับดุดดิน ลำตัวมีขนดกหยาบสีดำ ๆ ขนแผงคอยาว ตัวผู้มีเขี้ยวใหญ่ยื่นยาวพ้นปาก กินพืช ลูกอ่อนสีนํ้าตาลอ่อน มีลายขาวเป็นทางตามยาว ในประเทศไทยเป็นชนิด Sus scrofa พบในป่าทุกภาค.
  59. หมูยอ
    หมายถึง น. ของกินทำด้วยเนื้อหมูผสมเครื่องปรุงบดแล้วอัดเป็นแท่ง และนึ่งให้สุก.
  60. หมูสนาม
    หมายถึง น. บุคคลหรือคณะบุคคลที่ด้อยฝีมือหรือมีเล่ห์เหลี่ยมไหวพริบไม่ทันผู้อื่น.
  61. หมูสามชั้น
    หมายถึง น. เนื้อหมูส่วนท้องที่ชำแหละให้ติดทั้งหนัง มัน และเนื้อ.
  62. หมูสี
    หมายถึง น. ชื่อมะพร้าวพันธุ์หนึ่งของชนิด Cocos nucifera L. มี ๒ พันธุ์ย่อย คือ หมูสีหม้อ ต้นขนาดกลาง และหมูสีเล็ก ต้นขนาดเล็ก.
  63. หมูสี
    หมายถึง น. เรียกตาไม้เสาเรือนที่สูงจากพื้นดินประมาณศอกหนึ่ง ถือว่าเป็นเสามีลักษณะไม่ดี; เรียกจอมปลวกขนาดย่อมที่ขึ้นใต้ถุนบ้านว่า ปลวกหมูสี.
  64. หมูหย็อง
    หมายถึง น. ของกินทำด้วยหมูเนื้อแดงปรุงรส ต้มเคี่ยวให้เปื่อยจนงวด นำไปผัดจนแห้ง ขยี้ให้เป็นฝอย.
  65. หมูหริ่ง,หมูหรึ่ง
    หมายถึง น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Arctonyx collaris ในวงศ์ Mustelidae ขนบนลำตัวมีแถบขาวพาดจากจมูกไปถึงบนหัว จมูกคล้ายหมู หางสั้น ขนใต้คอขาว เล็บยาวและคมมากใช้ขุดดินเพื่อหาอาหาร กินพืช ผลไม้ และสัตว์เล็ก ๆ.
  66. หมูหัน
    หมายถึง น. ลูกหมูผ่าเอาเครื่องในออก เสียบเหล็กหมุนย่างจนหนังสุกกรอบ.
  67. หมูเขาจะหามเอาคานเข้าไปสอด
    หมายถึง (สำ) น. คนที่เข้าไปขัดขวางขณะที่ผู้อื่นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งกำลังจะสำเร็จ.
  68. หมูเขี้ยวตัน
    หมายถึง (ปาก) น. บุคคลที่คิดว่าจะหลอกหรือเอาชนะได้ง่าย ๆ แต่กลับปรากฏว่าตรงกันข้าม เช่น นักมวยที่สั่งมาชกโดยคิดว่าจะเป็นหมู กลับกลายเป็นหมูเขี้ยวตันไป.
  69. หมูเทโพ
    หมายถึง น. ชื่อแกงคั่วส้มชนิดหนึ่ง ใช้หมูแทนปลาแกงกับผักบุ้งเป็นต้น.
  70. หมูแดง
    หมายถึง น. เนื้อหมูคลุกนํ้าซีอิ๊วหรือเต้าหู้ยี้เป็นต้นแล้วย่างให้สุกระอุ.
  71. หมูแนม
    หมายถึง น. ชื่ออาหารว่าง มีหลายแบบ เช่น หมูแนมสด (แบบปลาแนม) หมูแนมแข็ง หมูแนมญวน, หมูแนมสดทำด้วยเนื้อหมูไม่ติดมันบดหรือโขลกรวมกับข่าและแป้งแดงจีน ทำให้สุกด้วยการผัดในน้ำสะเออะให้เนื้อหมูกระจายแล้วผสมด้วยมันหมูแข็งและหนังหมูต้มสุกหั่นชิ้นเล็ก ๆ ยาว ๆ ข้าวคั่วป่นเป็นต้น ปรุงรสเปรี้ยว เค็มและหวาน รับประทานกับผักสด เช่น ใบทองหลาง ใบผักกาดหอม, หมูแนมแข็งต้องห่อหมูที่โขลกหรือบดและผสมเครื่องปรุงแล้วด้วยใบทองหลางที่ซ้อนบนใบตอง มัดแน่น เก็บไว้ ๓ วัน จึงปิ้งทั้งห่อ แกะออกรับประทานกับผักและน้ำจิ้ม หรือรับประทานแบบเมี่ยงเครื่องสด, หมูแนมญวนใช้เนื้อหมูล้วนสับ ใส่เกลือรวนให้สุก ใส่ยอดสะระแหน่และแตงกวาหั่น แล้วห่อด้วยข้าวเกรียบแก้ว ตัดเป็นคำ ๆ รับประทานกับน้ำจิ้มและผักต่าง ๆ.
  72. หมูแผ่น
    หมายถึง น. ของกินทำด้วยเนื้อหมูแล่เป็นแผ่นบาง ๆ ปรุงรส ผึ่งแดดให้แห้ง แล้วปิ้งให้สุก.
  73. หมูแฮม
    หมายถึง น. ขาหลังของหมูแช่น้ำเกลือแล้วรมควัน, แฮม ก็ว่า.
  74. หมูในอวย
    หมายถึง (สำ) น. สิ่งที่อยู่ในกำมือ.
  75. หมูในเล้า
    หมายถึง (สำ) น. สิ่งที่อยู่ในเงื้อมมือ.
  76. หมูไปไก่มา
    หมายถึง (สำ) ลักษณะของการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันด้วยการให้สิ่งของแลกเปลี่ยนหรือตอบแทนซึ่งกันและกันเป็นต้น.
  77. หมู่
    หมายถึง น. กลุ่มชนิดเดียวกัน เช่น หมู่ดาว หมู่เมฆ, พวกชนิดเดียวกัน เช่น หมู่มนุษย์ หมู่โจร; กำลังพลของทหาร ตำรวจ เป็นต้น มีจำนวนไม่เกิน ๑๐ คน มีหัวหน้าเรียกว่า ผู้บังคับหมู่ หรือทั่ว ๆ ไปเรียกว่า ผู้หมู่, ถ้าเป็นทหารบกหรือตำรวจจะต้องมียศเป็นนายสิบ, ถ้าเป็นทหารเรือหรือทหารอากาศจะต้องมียศเป็นจ่า.
  78. หมู่
    หมายถึง ดู คอแดง.
  79. หมู่
    หมายถึง น. ระยะเวลา เช่น หมู่นี้สุขภาพไม่ค่อยดี หมู่นั้นไม่ว่าง.
  80. หมู่บ้าน
    หมายถึง (กฎ) น. ท้องที่ที่รวมบ้านหลายบ้านให้อยู่ในความปกครองอันเดียวกัน และมีประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าปกครอง.
  81. หม่น
    หมายถึง ว. มีลักษณะมัว ๆ หรือคล้ำ ๆ (ใช้แก่สี) เช่น สีฟ้าหม่น สีเขียวหม่น.
  82. หม่นหมอง
    หมายถึง ว. ไม่ผ่องใส, ไม่สบายใจ, ไม่เบิกบาน, เช่น หน้าตาหม่นหมอง จิตใจหม่นหมอง, หมองหม่น ก็ว่า.
  83. หม่นไหม้
    หมายถึง ว. มีทุกข์ร้อนตรมตรอมใจ.
  84. หม่อ
    หมายถึง น. เรียกลูกวัวหรือควายเล็ก ๆ ว่า ลูกหม่อ.
  85. หม่อง
    หมายถึง น. คำนำหน้าชื่อผู้ชายพม่า (พม่า หม่อง ว่า น้อง); เรียกยาขี้ผึ้งชนิดหนึ่งใช้ทา นวด เป็นต้น ว่า ยาหม่อง.
  86. หม่อน
    หมายถึง น. ชื่อไม้ต้นชนิด Morus alba L. ในวงศ์ Moraceae ใช้ใบสำหรับเลี้ยงตัวไหม ผลสุกกินได้.
  87. หม่อม
    หมายถึง น. หญิงสามัญที่เป็นภรรยาของเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หรือหม่อมเจ้า, บุตรชายหญิงของพระองค์เจ้าหรือหม่อมเจ้า, (โบ) เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หรือ หม่อมเจ้า ที่ต้องโทษถูกถอดจากบรรดาศักดิ์, คำนำหน้าชื่อราชนิกุล ราชินีกุลชั้นผู้ใหญ่ทั้งชายหญิงที่ไม่มีตำแหน่ง, คำนำหน้าชื่อหญิงสามัญซึ่งไม่มีบรรดาศักดิ์ได้เป็นภรรยาของเจ้าคุณราชพันธ์ในตระกูลบุนนาคทั้ง ๓ ชั้น เช่น หม่อมปาน หม่อมรอด, คำนำหน้านามบุคคลที่เป็นผู้ดีมีตระกูลทั้งชายหญิง เช่น เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา สมัยธนบุรี เรียกว่า หม่อมบุนนาค.
  88. หม่อมฉัน
    หมายถึง ส. คำใช้แทนตัวผู้พูดสำหรับเจ้านายที่มีศักดิ์เสมอกันหรือสำหรับผู้หญิงใช้พูดกับเจ้านาย, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑.
  89. หม่อมราชวงศ์
    หมายถึง น. คำนำหน้าชื่อบุตรของหม่อมเจ้า.
  90. หม่อมหลวง
    หมายถึง น. คำนำหน้าชื่อบุตรของหม่อมราชวงศ์.
  91. หม่อมห้าม
    หมายถึง น. หญิงสามัญที่เป็นเมียของเจ้านาย, ใช้คำนำหน้านามว่า หม่อม.
  92. หม่อมเจ้า
    หมายถึง น. คำนำหน้านามโอรสธิดาในพระองค์เจ้าชั้นพระบรมวงศ์.
  93. หม่า
    หมายถึง (ปาก) ก. กิน เช่น ในห้องมีของกินมาก เข้าไปหม่าเสียซิ; ปล่อยไว้ไม่เป็นระเบียบ เช่น เสื้อผ้าข้าวของไม่เก็บ หม่าไว้เต็มห้อง; หมัก, แช่ให้อ่อนตัว, เช่น หม่าข้าว หม่าแป้ง หม่าปูน.
  94. หม่ำ
    หมายถึง (ปาก) ก. กิน (มักใช้แก่เด็กทารก).
  95. หม้อ
    หมายถึง น. ภาชนะประเภทหนึ่ง มีรูปทรงต่าง ๆ สำหรับใส่ของหรือใช้งานบางอย่าง, เรียกตามสิ่งที่ใช้ทำก็มี เช่น หม้อดิน หม้อทองเหลือง หม้ออะลูมิเนียม, เรียกตามสิ่งที่บรรจุก็มี เช่น หม้อข้าว หม้อน้ำมนตร์, เรียกตามวัตถุประสงค์ที่ใช้สอยก็มี เช่น หม้อตุ๋น หม้อนึ่ง.
  96. หม้อกระดี่
    หมายถึง น. หม้อแกงขนาดใหญ่ปากกว้าง ทำด้วยดิน มีขีดเป็นรอยโดยรอบ.
  97. หม้อขาง
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ, อีสาน) น. กระทะที่ทำด้วยเหล็กขาง.
  98. หม้อข้าวหม้อแกงลิง
    หมายถึง ดู หม้อแกงลิง.
  99. หม้อตาล
    หมายถึง น. ชื่อขนมหวานชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งสาลีเป็นรูปทรงหม้อตาลขนาดเล็กแล้วหยอดน้ำตาล มีสีต่าง ๆ.
  100. หม้อตาล
    หมายถึง น. ภาชนะดินเผามีรูปร่างคล้ายหม้อทรงเตี้ยสำหรับใส่นํ้าตาลโตนด, เรียกหมวกที่มีรูปทรงคล้ายหม้อตาลอย่างหมวกที่พลทหารเรือและจ่าทหารเรือเป็นต้นสวมว่า หมวกทรงหม้อตาล.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ห (หน้าที่ 7)"