พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ห (หน้าที่ 2)

  1. หทัย
    หมายถึง [หะไท] น. หัวใจ, ใจ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระหทัย. (ป.; ส. หฺฤทย).
  2. หน
    หมายถึง น. ทาง, ทิศ, เช่น หนเหนือ หนใต้; ครั้ง, คราว, เช่น กี่หน; ที่, สถานที่, เช่น ถึงยามค่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย น้องจะลอยลมบนไปหนใด. (นิราศอิเหนา), มักใช้เข้าคู่กับคำ แห่ง เป็น แห่งหน เช่น ไม่รู้ว่าเวลานี้เขาอยู่แห่งหนตำบลใด.
  3. หนทาง
    หมายถึง น. ทาง, ช่องทาง, เช่น เวลานี้เขาหมดหนทางทำมาหากินแล้ว.
  4. หนนะ
    หมายถึง [หะนะนะ] น. การฆ่า, การตี, การกำจัด. (ป., ส.).
  5. หนวก
    หมายถึง [หฺนวก] ว. อาการที่หูขาดสมรรถภาพในการได้ยินเสียง.
  6. หนวกหู
    หมายถึง ก. รู้สึกรำคาญหูเพราะเสียงเซ็งแซ่อื้ออึง เช่น เด็ก ๆ เล่นกันเกรียว หนวกหูเหลือเกิน, โดยปริยายหมายความว่า รำคาญ เช่น เธอพูดมากฉันหนวกหูเต็มทีแล้ว. ว. เซ็งแซ่อื้ออึงรำคาญหู เช่น เด็ก ๆ จุดประทัดเล่นกัน เสียงหนวกหูจริง.
  7. หนวด
    หมายถึง [หฺนวด] น. ขนที่ขึ้นเหนือริมฝีปากบนของคน, สิ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว ๆ ขึ้นตามบริเวณปากของสัตว์บางชนิด เช่น หนวดกุ้ง หนวดปลาหมึก หนวดแมว.
  8. หนวดนาคราช
    หมายถึง [หฺนวดนากคะราด] น. ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง. (พจน. ๒๔๙๓).
  9. หนวดพราหมณ์
    หมายถึง [หฺนวดพฺราม] น. ปลายสายของซอสามสายที่พาดผ่านหย่องลงมาสอดเข้าที่รูหน้าของทวนล่างไปออกทางด้านหลัง แล้วขมวดเข้าด้วยกัน ทิ้งชายซึ่งเรียกว่าหนวดพราหมณ์ไว้.
  10. หนวดพราหมณ์
    หมายถึง [หฺนวดพฺราม] น. (๑) ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคล้ายต้นจามจุรี แต่ไม่มีกลิ่นหอม. (พจน. ๒๔๙๓). (๒) ชื่อกล้วยไม้ชนิด Seidenfadenia mitrata Garay ในวงศ์ Orchidaceae ดอกสีม่วงแดง กลิ่นหอม, เอื้องหนวดพราหมณ์ ก็เรียก.
  11. หนวดพราหมณ์
    หมายถึง [หฺนวดพฺราม] น. ชื่อปลานํ้าจืดชนิด Polynemus longipectoralis ในวงศ์ Polynemidae ลำตัวยาว แบนข้าง หัวแหลมมน ปากอยู่ตํ่า ตาเล็ก เกล็ดเล็กสากมือ ครีบหลังมี ๒ ตอน ครีบหางใหญ่เป็นแฉกเรียวแหลมตอนปลาย ที่สำคัญคือตรงส่วนล่างของครีบอกมีก้านครีบแยกเป็นเส้นยาวมากรวม ๗ เส้นยาวไม่เท่ากัน ลำตัวด้านหลังสีเทาหรือเขียวหม่น ส่วนท้องและครีบสีเหลืองหรือส้มคลํ้า ขนาดยาวได้ถึง ๒๕ เซนติเมตร พบบ้างในนํ้ากร่อยหรือทะเล.
  12. หนวดพราหมณ์
    หมายถึง [หฺนวดพฺราม] น. เชือกหลาย ๆ เส้นที่ผูกโยงปลายเสาหรือที่โยงเอาของขึ้นไปในที่สูง.
  13. หนวดแมว
    หมายถึง [หฺนวด-] น. หญ้าหนวดแมว. (ดู พยับเมฆ ๒).
  14. หนอ
    หมายถึง [หฺนอ] อ. คำออกเสียงแสดงความรำพึง เช่น ชีวิตนี้ไม่เที่ยงหนอ น่าอนาถจริงหนอ.
  15. หนอก
    หมายถึง [หฺนอก] น. ก้อนเนื้อที่ต้นคอของสัตว์บางชนิดเช่นวัว, ก้อนเนื้อที่นูนขึ้นมาที่ต้นคอของคนบางคน เช่น เธออ้วนจนคอเป็นหนอก, เนื้อใต้ท้องน้อย เช่น นุ่งผ้าขัดหนอก.
  16. หนอก
    หมายถึง [หฺนอก] (ถิ่น-พายัพ, อีสาน) น. ต้นบัวบก. [ดู บัวบก (๑)].
  17. หนอกช้าง
    หมายถึง [หฺนอก-] (ถิ่น-พายัพ, อีสาน) น. ผักชีล้อม. (ดู ชีล้อม).
  18. หนอง
    หมายถึง [หฺนอง] น. นํ้าเลือดเสียกลายเป็นสีขาวข้นที่ลัดอยู่ตามแผลและฝี, น้ำหนอง ก็ว่า.
  19. หนอง
    หมายถึง [หฺนอง] น. แอ่งนํ้า.
  20. หนองแซง
    หมายถึง [หฺนอง-] น. ชื่อมะม่วงพันธุ์หนึ่งของชนิด Mangifera indica L. รสมัน มีถิ่นกำเนิดจากอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี.
  21. หนองใน
    หมายถึง น. ชื่อกามโรคชนิดหนึ่ง เกิดหนองมีเชื้อในช่องปัสสาวะ.
  22. หนอน
    หมายถึง [หฺนอน] น. ชื่อตัวอ่อนของแมลงหลายชนิดเมื่อฟักออกจากไข่ มีรูปร่างทรงกระบอกหรือรูปกรวย ลำตัวอ่อนนุ่มเป็นปล้อง เคลื่อนที่โดยการคืบคลานไป.
  23. หนอน
    หมายถึง [หฺนอน] น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีลำตัวยาวอ่อนนุ่ม ไม่มีรยางค์.
  24. หนอนกระทู้
    หมายถึง ดู กระทู้ ๓.
  25. หนอนกระสือ
    หมายถึง ดู กระสือ ๓.
  26. หนอนกอ
    หมายถึง น. ชื่อหนอนของผีเสื้อซึ่งเจาะกินเข้าไปในลำต้นข้าว ทำให้ข้าวไม่ออกรวง หรือออกรวงแต่เมล็ดลีบเป็นสีขาว ซึ่งเรียกว่า ข้าวหัวหงอก ส่วนใหญ่เป็นหนอนของผีเสื้อชีปะขาว.
  27. หนอนด้น
    หมายถึง ดู ตัวจี๊ด.
  28. หนอนตายหยาก
    หมายถึง น. (๑) ชื่อพรรณไม้ ๒ ชนิดในสกุล Stemona วงศ์ Stemonaceae ชนิด S. collinsae Craib เป็นไม้เถาล้มลุก, กะเพียดช้าง หรือ ปงช้าง ก็เรียก; ชนิด S. tuberosa Lour. เป็นไม้ล้มลุก ต้นตั้งตรง ขึ้นเป็นกอเตี้ย, กะเพียด หรือ กะเพียดหนู ก็เรียก, ทั้ง ๒ ชนิดนี้มีรากอวบคล้ายรากกระชาย ใช้เป็นยาฆ่าแมลงและทำยาพอกแผลกำจัดหนอน. (๒) ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Clitoria macrophylla Wall. ในวงศ์ Leguminosae รากคล้าย ๒ ชนิดแรกแต่โตกว่า ดอกสีขาว, อัญชันป่า ก็เรียก.
  29. หนอนบ่อนไส้
    หมายถึง (สำ) น. ฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาทำทีเป็นพวกเพื่อบ่อนทำลาย.
  30. หนอนพยาธิ
    หมายถึง [หฺนอนพะยาด] (ปาก) น. พยาธิตัวกลม.
  31. หนอนม้วนใบข้าว
    หมายถึง ดู ขยอก ๑.
  32. หนอนหนังสือ
    หมายถึง (สำ) น. คนที่ชอบหมกมุ่นอยู่กับการอ่านหนังสือ.
  33. หนัก
    หมายถึง ว. มีน้ำหนักมาก, ตรงข้ามกับ เบา; แรง เช่น ฝนตกหนัก, รุนแรง เช่น รบหนัก ไข้หนัก, มาก เช่น บุญหนักศักดิ์ใหญ่; ที่ให้ผลช้ากว่าปรกติ เช่น ทุเรียนหนัก ข้าวหนัก.
  34. หนักกบาล,หนักกบาลหัว
    หมายถึง (ปาก) ว. เป็นภาระของ, เป็นเรื่องของ, เช่น ถึงจะแก่คาบ้าน ก็ไม่หนักกบาลหัวใคร. (เพลงพื้นบ้าน), หนักกะลาหัว หนักหัว หรือ หนักหัวกบาล ก็ว่า.
  35. หนักกะลาหัว
    หมายถึง (ปาก) ว. เป็นภาระของ, เป็นเรื่องของ, เช่น ฉันจะทำอย่างนี้ แล้วมันหนักกะลาหัวใคร, หนักกบาล หนักกบาลหัว หนักหัว หรือ หนักหัวกบาล ก็ว่า.
  36. หนักข้อ
    หมายถึง ก. กำเริบ เช่น เด็กคนนี้ชักจะหนักข้อขึ้นทุกวัน พ่อแม่ว่ากล่าวอย่างไรก็ไม่ฟัง. ว. รุนแรง เช่น เดี๋ยวนี้โจรผู้ร้ายมักกระทำการหนักข้อ.
  37. หนักท้อง
    หมายถึง ว. พอให้อิ่ม, พอประทังหิว, เช่น กินพอให้หนักท้อง.
  38. หนักนิดเบาหน่อย
    หมายถึง ว. เกินพอดีไปบ้างหรือน้อยกว่าพอดีไปบ้าง เช่น เป็นสามีภรรยากัน หนักนิดเบาหน่อยก็ควรอภัยให้กัน.
  39. หนักปาก
    หมายถึง ว. ไม่ทันได้พูด เช่น คุยกันอยู่ตั้งนาน หนักปากไปหน่อย เลยไม่ได้ถามว่าชื่ออะไร.
  40. หนักมือ
    หมายถึง ว. มากไป เช่น แกงหม้อนี้ใส่เกลือหนักมือไปหน่อย, แรงไป เช่น เด็กเล่นตุ๊กตาหนักมือไปหน่อย แขนตุ๊กตาเลยหลุด; กำเริบ เช่น โจรผู้ร้ายหนักมือขึ้นทุกวัน.
  41. หนักสมอง
    หมายถึง ว. ที่ต้องใช้ความคิดมาก เช่น ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาหนักสมอง, หนักหัว ก็ว่า.
  42. หนักหนา,หนักหนาสากรรจ์
    หมายถึง ว. มากยิ่ง, ยิ่งนัก, ร้ายแรง, เช่นความผิดครั้งนี้หนักหนาทีเดียว อาจจะต้องถูกไล่ออกจากงาน, นักหนา ก็ใช้.
  43. หนักหน่วง
    หมายถึง ว. จริงจัง, มาก, ยิ่ง, เช่น เขาพยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อส่งเสียให้ลูกเรียน.
  44. หนักหน้า
    หมายถึง ก. มีภาระต้องรับผิดชอบทั้งหมด เช่น เรื่องนี้หัวหน้าคณะหนักหน้าอยู่คนเดียว.
  45. หนักหัว
    หมายถึง ว. ที่ต้องใช้ความคิดมาก เช่น ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาหนักหัว, หนักสมอง ก็ว่า; (ปาก) เป็นภาระของ, เป็นเรื่องของ, เช่น ถึงจะสุกคาขั้ว ก็ไม่หนักหัวใคร. (เพลงพื้นบ้าน), หนักกบาล หนักกบาลหัว หนักกะลาหัว หรือ หนักหัวกบาล ก็ว่า.
  46. หนักหัวกบาล
    หมายถึง (ปาก) ว. เป็นภาระของ, เป็นเรื่องของ, เช่น ฉันจะไปที่ไหน ก็ไม่เห็นจะหนักหัวกบาลใคร, หนักกบาล หนักกบาลหัว หนักกะลาหัว หรือ หนักหัว ก็ว่า.
  47. หนักอก
    หมายถึง ก. วิตก เช่น อย่าประพฤติตัวเหลวไหลทำให้พ่อแม่หนักอก. ว. ลำบากใจ เพราะต้องแบกภาระไว้มาก เช่น ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาล, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ หนักใจ เป็น หนักอกหนักใจ.
  48. หนักแน่น
    หมายถึง ว. มั่นคง, ไม่ท้อถอย, เช่น เขามีใจหนักแน่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น; ไม่โกรธง่าย เช่น เขาเป็นคนใจคอหนักแน่น ไม่โกรธใครง่าย ๆ; ไม่หูเบา เช่น ต้องทำใจให้หนักแน่น อย่าเชื่อใครง่าย ๆ.
  49. หนักแผ่นดิน
    หมายถึง (สำ) ว. ไม่รู้คุณของแผ่นดินที่อาศัย, ทรยศต่อบ้านเมืองของตน, เสนียดสังคม.
  50. หนักใจ
    หมายถึง ก. วิตก เช่น เขาหนักใจในการสอบครั้งนี้. ว. ลำบากใจ เช่น เขารู้สึกหนักใจที่ต้องไปค้ำประกันลูกของเพื่อน, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ หนักอก เป็น หนักอกหนักใจ.
  51. หนักไม่เอา เบาไม่สู้
    หมายถึง (สำ) ว. ไม่มีความอดทนที่จะทำการงาน.
  52. หนัง
    หมายถึง น. เรียกขนุนพันธุ์ที่มียวงสีเหลือง เนื้อนุ่มแต่ไม่เหลว ว่า ขนุนหนัง. (ดู ขนุน ๑). (เทียบ ม. nanga).
  53. หนัง
    หมายถึง น. ส่วนของร่างกายที่หุ้มเนื้ออยู่, หนังสัตว์ที่เอามาทำเป็นของใช้หรือเป็นอาหาร; การมหรสพอย่างหนึ่งเอาหนังสัตว์มาสลักเป็นภาพ เช่น หนังตะลุง, หนังใหญ่, (ปาก) ภาพยนตร์ เช่น โรงหนัง ถ่ายหนัง ฉายหนัง เล่นหนัง.
  54. หนังกลับ
    หมายถึง น. หนังที่ผิวไม่เรียบ มีลักษณะฟูน้อย ๆ คล้ายเนื้อผ้ากำมะหยี่ เช่น เข็มขัดหนังกลับ รองเท้าหนังกลับ, โดยปริยายเรียกสุนัขขี้เรื้อนว่า สุนัขหนังกลับ.
  55. หนังกลางวัน
    หมายถึง น. การมหรสพอย่างหนึ่ง ใช้หนังสลักเป็นรูปภาพคล้ายหนังใหญ่ แต่ระบายสีต่าง ๆ เชิดหน้าจอ แสดงในเวลากลางวัน ใช้ปี่พาทย์และเกราะบรรเลงประกอบ ผู้เชิดกับผู้พากย์เป็นคนละคน.
  56. หนังกลางวัน
    หมายถึง น. ชื่อมะม่วงพันธุ์หนึ่งของชนิด Mangifera indica L. ผลยาว ๆ.
  57. หนังกำพร้า
    หมายถึง น. หนังที่เป็นผิวชั้นนอกสุดของคนและสัตว์, ผิวหนัง ก็เรียก.
  58. หนังง่า
    หมายถึง น. ตัวหนังใหญ่ที่สลักเป็นรูปยักษ์หรือลิงในท่าเหาะ (ลัทธิ).
  59. หนังตะลุง
    หมายถึง น. การมหรสพอย่างหนึ่ง ใช้หนังสลักเป็นรูปภาพขนาดเล็ก คีบด้วยไม้ตับอันเดียว เชิดภายในโรงให้แสงไฟส่องผ่านตัวหนังสร้างเงาให้ปรากฏบนจอผ้าขาวหน้าโรง ใช้ปี่ กลอง และฆ้องคู่บรรเลงประกอบ ผู้เชิดเป็นผู้พากย์.
  60. หนังสด
    หมายถึง น. การมหรสพอย่างหนึ่ง ลักษณะคล้ายโขนแต่เดินเรื่องเร็วกว่า ผู้แสดงสวมหัวโขนไม่ปิดคลุมใบหน้า ร้องและเจรจาเอง ใช้ปี่พาทย์บรรเลงประกอบ, โขนสด ก็เรียก.
  61. หนังสติ๊ก
    หมายถึง น. เครื่องยิงชนิดหนึ่ง ทำด้วยแถบยางผูกติดกับสิ่งที่เป็นง่าม ซึ่งมักเป็นไม้ ยิงด้วยลูกกระสุนที่ตามปรกติเป็นลูกดินปั้นกลม ๆ.
  62. หนังสือ
    หมายถึง น. เครื่องหมายใช้ขีดเขียนแทนเสียงหรือคำพูด เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ, ลายลักษณ์อักษร เช่น ขอให้เขียนเป็นหนังสือไว้ด้วย, จดหมายที่มีไปมา เช่น หนังสือราชการ, เอกสาร, บทประพันธ์; ข้อความที่พิมพ์หรือเขียนเป็นต้นแล้วรวมเป็นเล่ม; (กฎ) เอกสารที่เขียนหรือพิมพ์ขึ้น.
  63. หนังสือบริคณห์สนธิ
    หมายถึง (กฎ) ดู บริคณห์สนธิ.
  64. หนังสือพิมพ์
    หมายถึง น. สิ่งพิมพ์ข่าวและความเห็นเป็นต้นเสนอประชาชน ตามปรกติออกเป็นรายวัน; (กฎ) สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม.
  65. หนังสือรับรองการทำประโยชน์
    หมายถึง (กฎ) น. หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ออกให้ผู้มีสิทธิในที่ดิน เพื่อแสดงว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว.
  66. หนังสือราชการ
    หมายถึง น. เอกสารที่เป็นหลักฐานในราชการ ได้แก่ หนังสือที่มีไปมาระหว่างส่วนราชการ หนังสือที่ส่วนราชการมีไปถึงหน่วยงานอื่นซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการ หนังสือที่หน่วยงานอื่นซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือที่บุคคลภายนอกมีมาถึงส่วนราชการ เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐาน และเอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ.
  67. หนังสือสัญญา
    หมายถึง (กฎ) น. ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่าจะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร.
  68. หนังสือเดินทาง
    หมายถึง น. หนังสือสำคัญประจำตัวซึ่งทางราชการของประเทศหนึ่งออกให้แก่พลเมืองของประเทศนั้น เพื่อให้ความคุ้มครองในการเดินทางไปในดินแดนต่างประเทศ.
  69. หนังสือเวียน
    หมายถึง น. หนังสือราชการที่มีข้อความเหมือนกัน ส่งไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรหัสตัวพยัญชนะ ว หน้าเลขทะเบียนหนังสือส่ง, ภาษาปากใช้ว่า จดหมายเวียน; หนังสือที่ผู้บังคับบัญชาเวียนแจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับทราบหรือถือปฏิบัติ.
  70. หนังหน้าไฟ
    หมายถึง (สำ) น. ผู้ได้รับความเดือดร้อนก่อนผู้อื่น เช่น ลูกทำความผิดมา พ่อแม่ก็ต้องเป็นหนังหน้าไฟ.
  71. หนังหุ้มกระดูก
    หมายถึง (สำ) น. เรียกลักษณะของคนหรือสัตว์ที่ผอมมากจนมองเห็นแนวโครงกระดูกว่า ผอมจนหนังหุ้มกระดูก.
  72. หนังเงียบ
    หมายถึง (ปาก) น. ภาพยนตร์ที่ไม่มีเสียงในฟิล์ม.
  73. หนังเรียด
    หมายถึง น. หนังที่ทำเป็นเส้นแบน ๆ เล็ก ๆ สำหรับใช้โยงเร่งเสียง โดยสอดเข้าไปกับไส้ละมานที่ถักไว้รอบ ๆ ขอบหนังทั้ง ๒ หน้าของตะโพน เปิงมาง กลองสองหน้า เป็นต้น มักร้อยถี่จนมองแทบไม่เห็นตัวหุ่นกลอง ถ้าเร่งหนังเรียดให้ตึงขึ้นเท่าใด หน้ากลองก็ยิ่งตึงขึ้นเท่านั้น.
  74. หนังเหนียว
    หมายถึง ว. อยู่ยงคงกระพัน เช่น ลือกันว่าโจรคนนี้หนังเหนียว ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า, โดยปริยายหมายความว่า มีประสบการณ์มากรู้เท่าทันไปทุกสิ่งทุกอย่าง.
  75. หนังโลม
    หมายถึง น. ตัวหนังใหญ่ที่แสดงบทเข้าพระเข้านาง เช่น หนุมานเกี้ยวนางเบญกาย, โลม ก็ว่า.
  76. หนังใหญ่
    หมายถึง น. การมหรสพอย่างหนึ่ง ใช้หนังสลักเป็นรูปภาพขนาดใหญ่กว่าหนังตะลุงมาก คีบด้วยไม้ตับ ๒ อันสำหรับจับเชิด เชิดได้ทั้งหลังจอและหน้าจอ ใช้ปี่พาทย์และเกราะบรรเลงประกอบ ผู้เชิดกับผู้พากย์เป็นคนละคนกัน.
  77. หนังไก่
    หมายถึง น. ชื่อแพรหรือกระดาษพิมพ์ที่มีเนื้อย่นคล้ายหนังไก่.
  78. หนับ
    หมายถึง ว. มาก เช่น เหนียวหนับ, มีเสียงดังอย่างดึงของเหนียวจนขาดหรือปล่อย เช่น ดึงหนังสติ๊กดังหนับ.
  79. หนั่น
    หมายถึง ว. แน่น, แน่นหนา, เช่น เนื้อหนั่น. (โบ) ก. หนุน.
  80. หนา
    หมายถึง น. ส่วนสูงมากจากผิวพื้น. ว. มีส่วนสูงมากจากผิวพื้น; แน่นทึบ, มาก, ตรงข้ามกับ บาง.
  81. หนา
    หมายถึง คำประกอบท้ายคำอื่นที่มีความหมายไปในเชิงบังคับหรืออ้อนวอน เช่น อยู่เถิดหนา.
  82. หนากาสรี
    หมายถึง [หฺนากาสะหฺรี] น. ดอกชบา. (ช.).
  83. หนาด
    หมายถึง น. ชื่อไม้พุ่มชนิด Blumea balsamifera (L.) DC. ในวงศ์ Compositae ใบใหญ่มีขน กลิ่นฉุน ใช้ทำยาได้ เชื่อกันว่าผีกลัว.
  84. หนาตา
    หมายถึง ว. ที่เห็นว่ามีมาก, มาก (ใช้แก่การเห็น), เช่น วันนี้มีคนมาชมมหรสพหนาตากว่าวันก่อน, บางทีก็ใช้ว่า หนาหูหนาตา โดยมี หนาหู เป็นคำสร้อย เช่น ละครเรื่องนี้มีคนไปดูหนาหูหนาตากว่าปรกติ.
  85. หนาน
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ) น. เรียกคนที่สึกจากเพศภิกษุว่า หนานนั่น หนานนี่.
  86. หนาม
    หมายถึง น. ส่วนแหลม ๆ ที่งอกออกจากต้นหรือกิ่งของไม้บางชนิดเป็นต้น เช่น หนามงิ้ว หนามพุทรา.
  87. หนาม
    หมายถึง น. ชื่อหอยทะเลกาบเดี่ยวในสกุล Murex วงศ์ Muricidae เปลือกมีหนามสั้นหรือยาวโดยรอบ เช่น ชนิด M. trapa.
  88. หนามขี้แรด
    หมายถึง น. ชื่อไม้เถาเนื้อแข็งชนิด Acacia pennata Willd. ในวงศ์ Leguminosae ต้นมีหนาม เปลือกใช้ย้อมแหอวนและใช้ทำยาได้.
  89. หนามควายนอน
    หมายถึง ดู การเวก ๓.
  90. หนามจี้
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ) น. ต้นคนทา. (ดู คนทา).
  91. หนามพรม
    หมายถึง น. ชื่อไม้พุ่มชนิด Carissa cochinchinensis Pierre ในวงศ์ Apocynaceae ต้นมีหนามแข็ง, พรม ก็เรียก.
  92. หนามพุงดอ,หนามรอบตัว,หนามเหม็น
    หมายถึง ดู พุงดอ.
  93. หนามยอกอก
    หมายถึง (สำ) น. คนหรือเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกเหมือนมีอะไรมาทิ่มแทงอยู่ในอกตลอดเวลา.
  94. หนามยอกเอาหนามบ่ง
    หมายถึง (สำ) ก. ตอบโต้หรือแก้ด้วยวิธีการทำนองเดียวกัน.
  95. หนามหลัง
    หมายถึง ดู ตามิน.
  96. หนามเขียะ
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ) น. ต้นกระบองเพชร. (ดู กระบองเพชร ๒).
  97. หนามเตย
    หมายถึง น. ลายหยักบนตัวหนังสือขอม; ส่วนที่เป็นหยัก ๆ บนหลังจระเข้; โลหะที่มีลักษณะเป็นเขี้ยวคล้ายหนามสำหรับเกาะยึดหัวแหวนเป็นต้น.
  98. หนามแดง
    หมายถึง น. (๑) ชื่อไม้เถาเนื้อแข็งชนิด Maytenus marcanii Ding Hou ในวงศ์ Celastraceae ใช้ทำยาได้. (๒) ชื่อไม้พุ่มชนิด Carissa carandas L. ในวงศ์ Apocynaceae ดอกสีขาว หลอดดอกสีชมพู กลิ่นหอม ผลสีขาว สุกสีแดงคล้ำ กินได้, มะนาวไม่รู้โห่ ก็เรียก.
  99. หนามแหลมไม่มีใครเสี้ยม
    หมายถึง (สำ) น. คนที่มีปฏิภาณไหวพริบตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีใครสอน, มักใช้เข้าคู่กับ มะนาวกลมเกลี้ยงไม่มีใครกลึง.
  100. หนามใหญ่
    หมายถึง ดู หัวโขน ๓.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ห (หน้าที่ 2)"