พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ส (หน้าที่ 3)

  1. สนับแข้ง
    หมายถึง น. เครื่องสวมแข้ง.
  2. สนั่น
    หมายถึง [สะหฺนั่น] ว. กึกก้อง, ดังลั่น, ดังมาก, เช่น ฟ้าผ่าเสียงดังสนั่น.
  3. สนาดก
    หมายถึง [สะนา-] (แบบ) น. ผู้ได้รับนํ้าสรงในพิธีสนานหลังจากจบการศึกษาแล้ว ซึ่งตามคติชีวิตของชาวฮินดูถือเป็นการสิ้นสุดชีวิตขั้นที่ ๑ ในอาศรม ๔ คือ พรหมจารี และย่างเข้าขั้นที่ ๒ คือ คฤหัสถ์. (ส. สฺนาตก; ป. นหาตก).
  4. สนาน
    หมายถึง [สะหฺนาน] น. การอาบนํ้า. (ส. สฺนาน; ป. นหาน).
  5. สนาบก
    หมายถึง [สะนา-] น. คนที่มีหน้าที่อาบนํ้าให้ผู้อื่น. (ส. สฺนาปก; ป. นหาปก).
  6. สนาบัน
    หมายถึง [สะนา-] น. การอาบนํ้า, การอาบนํ้าให้ผู้อื่น. (ส.; ป. นหาปน).
  7. สนาม
    หมายถึง [สะหฺนาม] น. ลาน, ที่ว่าง, ที่โล่ง, ที่เล่น, เช่น เขานั่งอยู่ริมสนาม เด็ก ๆ วิ่งเล่นในสนาม, ที่สำหรับเล่นหรือแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เช่น สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ สนามชนวัว.
  8. สนามกีฬา
    หมายถึง น. สถานที่สำหรับฝึกซ้อมหรือแข่งขันกีฬา.
  9. สนามบิน
    หมายถึง น. (กฎ) พื้นที่ที่กำหนดไว้บนพื้นดินหรือน้ำสำหรับใช้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพื่อการขึ้นลงหรือเคลื่อนไหวของอากาศยาน รวมตลอดถึงอาคาร สิ่งติดตั้งและบริภัณฑ์ซึ่งอยู่ภายในสนามบินนั้น; (ปาก) ท่าอากาศยาน.
  10. สนามบินอนุญาต
    หมายถึง (กฎ) น. สนามบินที่บุคคลได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศและสนามบินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศกำหนด.
  11. สนามรบ
    หมายถึง น. บริเวณที่คู่สงครามต่อสู้กัน เช่น เขาได้ผ่านสนามรบมามากแล้ว.
  12. สนามวัด
    หมายถึง น. สถานที่ที่สำนักเรียนพระปริยัติธรรมแต่ละสำนักได้กำหนดให้เป็นที่ทดสอบบาลีก่อนที่จะส่งเข้าสอบบาลีสนามหลวง.
  13. สนามสอบ
    หมายถึง น. สถานที่สำหรับจัดสอบไล่หรือสอบคัดเลือก.
  14. สนามหลวง
    หมายถึง น. สถานซึ่งกำหนดให้เป็นที่สอบไล่นักธรรมและบาลี ในคำว่า สอบธรรมสนามหลวง สอบบาลีสนามหลวง.
  15. สนามเด็กเล่น
    หมายถึง น. สถานที่ที่จัดให้เด็กเล่น มักมีอุปกรณ์การเล่น เช่น ชิงช้า ไม้ลื่น.
  16. สนามเพลาะ
    หมายถึง น. คูที่ขุดกำบังตัวในเวลารบ.
  17. สนามแม่เหล็ก
    หมายถึง (วิทยา) น. บริเวณที่มีอำนาจแม่เหล็ก, บริเวณที่มีเส้นแรงแม่เหล็กผ่าน.
  18. สนามไฟฟ้า
    หมายถึง (วิทยา) น. บริเวณที่มีอำนาจไฟฟ้า, บริเวณที่มีเส้นแรงไฟฟ้าผ่าน.
  19. สนายุ
    หมายถึง [สะนา-] (แบบ) น. เอ็น. (ส. สฺนายุ).
  20. สนิกะ
    หมายถึง [สะนิกะ] (แบบ) ว. ค่อย ๆ, เบา ๆ. (ป.).
  21. สนิท
    หมายถึง [สะหฺนิด] ว. อย่างใกล้ชิด, ชิดชอบ, เช่น เพื่อนสนิท คนสนิท เขาสนิทกันมาก, แนบชิด เช่น เข้าปากไม้ได้สนิท; กลมกล่อม, กลมกลืน, ในลักษณะที่เข้ากันได้ดีไม่มีอะไรบกพร่อง ซึ่งดูประหนึ่งว่าเป็นเนื้อเดียวหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น ประตูปิดสนิท สีเข้ากันสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ผนังห้องแต่ละด้านแม้จะทาสีต่างกันแต่สีก็เข้ากันได้สนิท; อย่างแท้จริง หรือทั้งหมดโดยไม่มีอะไรแทรกหรือเจือปน เช่น มะปรางหวานสนิท เชื่อสนิท ตีหน้าสนิท. (ป. สินิทฺธ ว่า เสน่หา, รักใคร่; ส. สฺนิคฺธ).
  22. สนิทปาก
    หมายถึง ว. ไม่รู้สึกกระดากใจหรือตะขิดตะขวงใจ เช่น พูดเท็จได้สนิทปาก พูดคำหยาบโลนได้สนิทปาก, สนิทปากสนิทคอ ก็ว่า.
  23. สนิทสนม
    หมายถึง ก. ชอบพอ, คุ้นเคยกันดี, เช่น สองคนนี้สนิทสนมกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก. ว. แนบเนียน เช่น เขาพูดเท็จได้อย่างสนิทสนม เขาชำระแผลให้คนเป็นโรคเรื้อนได้อย่างสนิทสนมโดยไม่รังเกียจ.
  24. สนิทใจ
    หมายถึง ว. ไม่มีอะไรต้องแคลงใจหรือสงสัย เช่น เชื่ออย่างสนิทใจ, ถ้าใช้ในความปฏิเสธว่า ไม่สนิทใจ หมายความว่า มีลักษณะพึงรังเกียจ เช่น พื้นสกปรกนั่งแล้วไม่สนิทใจ ผ้าเช็ดมือในห้องน้ำรวม ใช้ได้ไม่สนิทใจเลย.
  25. สนิธ
    หมายถึง [สะหฺนิด] (โบ) ว. สนิท.
  26. สนิม
    หมายถึง [สะหฺนิม] น. ส่วนของผิวโลหะที่แปรสภาพไปจากเดิมเนื่องด้วยปฏิกิริยาเคมีเป็นสาเหตุให้เกิดการผุกร่อน เช่น มีดขึ้นสนิม; (ปาก) มลทิน เช่น สนิมในใจ.
  27. สนิม
    หมายถึง [สะหฺนิม] น. ถนิม, เครื่องประดับ ในคำว่า สนิมพิมพาภรณ์. (ข. ธฺนิม).
  28. สนิมขุม
    หมายถึง น. สนิมซึ่งเกิดที่ผิวโลหะแล้วทำให้ผิวโลหะเป็นจุด ๆ หรือเป็นรู ๆ เช่น พระพุทธรูปสัมฤทธิ์เกิดสนิมขุม.
  29. สนิมสร้อย
    หมายถึง [สะหฺนิมส้อย] ว. ถนิมสร้อย, หนักไม่เอาเบาไม่สู้, ทำเป็นเหยาะแหยะ, ทำเป็นอ่อนแอ, (ใช้เป็นคำตำหนิ), เช่น ดุว่านิดหน่อยก็น้ำตาร่วง ทำเป็นแม่สนิมสร้อยไปได้.
  30. สนุก
    หมายถึง [สะหฺนุก] ว. ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน, ทำให้เบิกบานใจ, เช่น หนังสือเรื่องนี้อ่านสนุก ภาพยนตร์เรื่องนี้สนุก. (ข. สฺรณุก).
  31. สนุกสนาน
    หมายถึง ว. ร่าเริงบันเทิงใจ, เพลิดเพลินเจริญใจ, เช่น เด็ก ๆ เล่นสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน.
  32. สนุกเกอร์
    หมายถึง [สะนุก-] น. ชื่อกีฬาในร่มชนิดหนึ่งเล่นบนโต๊ะบิลเลียด ผู้เล่นใช้ไม้แทงลูกเรียกว่า ไม้คิว แทงลูกกลมสีขาวให้กระทบลูกกลมสีต่าง ๆ ซึ่งมีลูกแดง ๑๕ ลูก ลูกดำ ชมพู นํ้าเงิน นํ้าตาล เขียว และเหลือง อีกอย่างละ ๑ ลูก ให้ลงหลุมทีละลูกตามที่กำหนดไว้ในกติกา หรือทำให้คู่ต่อสู้ไม่สามารถแทงลูกสีขาวให้กระทบกับลูกที่ต้องถูกกระทบได้ ซึ่งเรียกว่า ทำสนุก. (อ. snooker).
  33. สนุข
    หมายถึง [สะหฺนุก] น. สุข. (แผลงมาจาก สุข).
  34. สนุต
    หมายถึง [สะนุด] ว. ไหล, ย้อย, (ใช้แก่น้ำนมแม่). (ส.).
  35. สนุ่น
    หมายถึง [สะหฺนุ่น] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Salix tetrasperma Roxb. ในวงศ์ Salicaceae ชอบขึ้นริมนํ้า ใบเรียวเล็ก ท้องใบขาว เปลือกและรากใช้ทำยา, ตะไคร้บก ก็เรียก.
  36. สนุ่น
    หมายถึง [สะหฺนุ่น] น. สวะหรือซากผุพังของพืชพรรณที่ซับซ้อนกันมาก ๆ ในบึงหรือหนองนํ้า สามารถเหยียบเดินไปได้.
  37. สนเข็ม
    หมายถึง ก. ร้อยด้ายหรือไหมเป็นต้นเข้าไปในรูเข็ม.
  38. สนเดก
    หมายถึง (แบบ) น. สำนัก. (ป. สนฺติก).
  39. สนเทศ
    หมายถึง น. คำสั่ง, ข่าวสาร, ใบบอก. (ส.; ป. สนฺเทส).
  40. สนเท่ห์
    หมายถึง ก. สงสัย, ฉงน, ไม่แน่ใจ, เช่น รู้สึกสนเท่ห์, มักใช้เข้าคู่กับคำ ฉงน เป็น ฉงนสนเท่ห์. (ป., ส. สนฺเทห).
  41. สนแผง,สนหางสิงห์
    หมายถึง น. ชื่อไม้ต้นชนิด Thuja orientalis L. ในวงศ์ Cupressaceae ใบเป็นแผง ใบและเมล็ดใช้ทำยาได้.
  42. สนใจ
    หมายถึง ก. ตั้งใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดเรื่องใดเป็นพิเศษ เช่น เขาสนใจวิชาคณิตศาสตร์มาก, ใฝ่ใจใคร่รู้ใคร่เห็นเป็นต้น เช่น เขาสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก.
  43. สบ
    หมายถึง ก. พบ, ปะ, เช่น สบโชค สบตา สบเหมาะ ฟันบนสบฟันล่าง, ถูก, ต้อง, เช่น สบใจ สบปาก สบอารมณ์. น. บริเวณที่แม่น้ำตั้งแต่ ๒ สายขึ้นไปมาบรรจบกัน เช่น สามสบ คือบริเวณที่แม่น้ำบีคี่ใหญ่ ห้วยซองกะเลีย และแม่น้ำรันตี รวม ๓ สาย มาสบกัน แล้วไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อย. ว. ทุก ๆ, เสมอ, เช่น สบไถง ว่า ทุกวัน, สบสมัย ว่า ทุกสมัย. (ข.).
  44. สบง
    หมายถึง [สะบง] น. ผ้านุ่งของภิกษุสามเณร. (ข. สฺบ่ง).
  45. สบจ
    หมายถึง [สะบด] (แบบ) น. คนชาติตํ่าช้า. (ป. สปจ; ส. ศฺวปจ).
  46. สบถ
    หมายถึง [สะบด] ก. เปล่งถ้อยคำเพื่อเน้นให้คนเชื่อโดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษตนหรือให้ภัยพิบัติต่าง ๆ เกิดกับตนถ้าหากตนไม่ปฏิบัติตามหรือไม่เป็นไปอย่างที่พูดไว้. (ป. สปถ; ส. ศปถ).
  47. สบประมาท
    หมายถึง ก. แสดงกิริยาวาจาดูถูกดูหมิ่นซึ่ง ๆ หน้า เช่น เขาถูกสบประมาทในที่ประชุม, ประมาทหน้า.
  48. สบสังวาส
    หมายถึง ว. อยู่ร่วมกัน เช่น พระสงฆ์ที่มีศีลเสมอกันร่วมทำสังฆกรรมด้วยกันได้ เรียกว่า สงฆ์สบสังวาส.
  49. สบัน
    หมายถึง [สะ-] (แบบ) ก. สาบาน. (ป. สปน).
  50. สบาย
    หมายถึง [สะบาย] ว. อยู่ดีกินดี เช่น เดี๋ยวนี้เขาสบายขึ้น ลูก ๆ ทำงานหมดแล้ว, เป็นสุขกายสุขใจ เช่น เวลานี้เขาสบายแล้ว เพราะมีฐานะดีขึ้น ไม่มีวิตกกังวลใด ๆ; สะดวก เช่น ทำตามสบายไม่ต้องเกรงใจ มีรถส่วนตัวสบายกว่าไปรถประจำทาง, มักใช้เข้าคู่กับคำ สุข หรือ สะดวก เป็น สุขสบาย หรือ สะดวกสบาย; พอเหมาะพอดี เช่น เก้าอี้ตัวนี้นั่งสบาย; ไม่ลำบากกาย เช่น เขาทำงานสบายขึ้น ไม่ต้องแบกหามเหมือนเมื่อก่อน; ไม่เจ็บไม่ไข้ เช่น เวลานี้เขาสบายดี ไม่ป่วยไข้; มีความพอใจเมื่อได้สัมผัส เช่น สบายหู สบายตา สบายกาย. (ป. สปฺปาย).
  51. สบายอารมณ์
    หมายถึง ว. มีอารมณ์เบิกบาน เช่น เขาทำงานไปร้องเพลงไปอย่างสบายอารมณ์ วันนี้ขอดูภาพยนตร์ให้สบายอารมณ์สักวัน.
  52. สบายใจ
    หมายถึง ว. ไม่มีทุกข์มีร้อน เช่น ลูก ๆ เรียนจบหมดแล้วก็สบายใจ ทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วสบายใจ.
  53. สบู่
    หมายถึง [สะ-] น. ชื่อไม้พุ่ม ๒ ชนิดในสกุล Jatropha วงศ์ Euphorbiaceae คือ สบู่ขาว หรือ สบู่ดำ (J. curcas L.) ก้านใบและใบอ่อนสีเขียว และ สบู่แดง (J. gossypifolia L.) ก้านใบและใบสีแดง, ทั้ง ๒ ชนิดมียางใส เมล็ดนำไปหีบได้นํ้ามันใช้เป็นเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ทุกส่วนเป็นพิษ.
  54. สบู่
    หมายถึง [สะ-] น. สิ่งที่ผลิตขึ้นโดยนำไขสัตว์เช่นไขวัว หรือนํ้ามันพืชเช่นนํ้ามันมะพร้าวนํ้ามันมะกอกไปต้มกับด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ จะได้สบู่แข็ง หรือนำไปต้มกับด่างโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ จะได้สบู่อ่อน ใช้ชำระล้างและซักฟอก. (โปรตุเกส sapu).
  55. สบู่เลือด
    หมายถึง น. ชื่อไม้เถามีหัวชนิด Stephania venosa (Blume) Spreng. ในวงศ์ Menispermaceae ใบ เถา และผิวของหัวมีนํ้ายางสีแดง.
  56. สบเสีย
    หมายถึง ก. ชอบพอ, โปรดปราน.
  57. สบเสีย
    หมายถึง ก. ดูถูก.
  58. สปริง
    หมายถึง [สะปฺริง] น. สิ่งที่ยืดหรือหดแล้วคืนตัวได้เอง มักทำด้วยโลหะ เช่น นาฬิกาเรือนนี้สปริงหลุด จึงไม่เดิน. ว. ที่ยืดหรือหดแล้วคืนตัวได้เอง เช่น เบาะสปริง เตียงสปริง. (อ. spring).
  59. สปริงตัว
    หมายถึง ก. ดีดตัวออก เช่น นักบินสปริงตัวออกจากเครื่องบิน.
  60. สปอร์
    หมายถึง น. หน่วยขยายพันธุ์ขนาดเล็ก ทำหน้าที่คล้ายเมล็ดพืชแต่ไม่มีเอ็มบริโอ เมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสมจะเจริญเป็นต้นใหม่ได้. (อ. spore).
  61. สปาเกตตี
    หมายถึง น. ชื่ออาหารอิตาลีชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งสาลี เป็นเส้นกลมตันคล้ายเส้นขนมจีนแต่โตกว่าเล็กน้อย. (อ. spaghetti).
  62. สพั้น
    หมายถึง [สะ-] น. ทองเหลือง, ทองแดง. (ข. สฺพาน่).
  63. สพาบ
    หมายถึง [สะ-] ว. พังพาบ เช่น ก็มาให้มึงล้มสพาบ. (ม. คำหลวง ชูชก). (ข.).
  64. สภา
    หมายถึง น. องค์การหรือสถานที่ประชุม เช่น สภาผู้แทนราษฎร สภาสตรีแห่งชาติ สภามหาวิทยาลัย วุฒิสภา. (ป., ส.).
  65. สภากาชาด
    หมายถึง น. องค์การพยาบาลและบรรเทาทุกข์.
  66. สภาค
    หมายถึง [สะพาก] ว. ร่วมกัน, อยู่หมวดเดียวกัน; เหมือนกัน, เท่ากัน. (ป.).
  67. สภาจาร
    หมายถึง น. ขนบธรรมเนียมขององค์การหรือสถานที่ประชุม. (ส.).
  68. สภานายก,สภาบดี
    หมายถึง น. ผู้เป็นประธานในที่ประชุม. (ส.).
  69. สภาผู้แทนราษฎร
    หมายถึง (กฎ) น. สภานิติบัญญัติสภาหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกับวุฒิสภาแล้วประกอบเป็นรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๕๔๐) สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๕๐๐ คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น จำนวน ๑๐๐ คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน ๔๐๐ คน มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และมีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามระบบการปกครองแบบรัฐสภา.
  70. สภาพ
    หมายถึง น. ความเป็นเองตามธรรมดาหรือตามธรรมชาติ เช่น สภาพความเป็นอยู่ สภาพดินฟ้าอากาศ, ลักษณะในตัวเอง; ภาวะ, ธรรมชาติ. (ป. สภาว; ส. สฺวภาว).
  71. สภาพธรรม
    หมายถึง น. หลักแห่งความเป็นเอง.
  72. สภาพเดิม
    หมายถึง น. ลักษณะหรือภาวะหรือธรรมชาติที่เป็นมาแต่แรก.
  73. สภาว,สภาว-,สภาวะ
    หมายถึง [สะพาวะ-] น. สภาพ เช่น สภาวะดินฟ้าอากาศ. (ป.).
  74. สภาวการณ์
    หมายถึง น. เหตุการณ์ที่เป็นไปตามธรรมชาติ เช่น บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวการณ์เดือดร้อนเพราะภัยธรรมชาติ.
  75. สม
    หมายถึง ว. เหมาะ, เหมาะกับ, ควรแก่, เช่น บ่าวสาวคู่นี้สมกัน เขาแต่งตัวสมฐานะ แสดงละครได้สมบทบาท เขาต่อสู้กันอย่างสมศักดิ์ศรี เด็กคนนี้แต่งตัวไม่สมวัย, รับกัน เช่น หัวแหวนสมกับเรือนแหวน; ตรงกับ เช่น สมคะเน สมปรารถนา สมความตั้งใจ. (ปาก) สมน้ำหน้า เช่น สมแล้วที่สอบตก เพราะขี้เกียจนัก.
  76. สม
    หมายถึง ใช้ประกอบกับคำกริยาบางคำมีความหมายว่า ร่วมด้วยกัน รวมกัน เช่น สมคิด สมรู้.
  77. สม,สม-.สม-
    หมายถึง [สะมะ-, สมมะ-, สม-] ว. เท่ากัน, เสมอกัน.
  78. สมการ
    หมายถึง [สะมะกาน, สมมะกาน] (คณิต) น. ข้อความที่แสดงความเท่ากันของนิพจน์ ๒ นิพจน์ เฉพาะบางค่าของตัวไม่ทราบค่าที่ปรากฏในนิพจน์นั้น ๆ หรือการเหมือนกันของข้อความย่อย ๒ ข้อความที่ปรากฏอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของเครื่องหมาย =. (อ. equation).
  79. สมการเคมี
    หมายถึง (เคมี) น. สมการที่เขียนขึ้นโดยอาศัยสัญลักษณ์ของธาตุ เพื่อแสดงปฏิกิริยาเคมีและปริมาณของธาตุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในปฏิกิริยาเคมีนั้น ๆ. (อ. chemical equation).
  80. สมคบ
    หมายถึง ก. ร่วมคบคิดกัน (ใช้ในทางไม่ดี) เช่น เขาสมคบกันไปปล้น.
  81. สมควร
    หมายถึง ว. ควรยิ่ง, เหมาะสมยิ่ง, เช่น เขาทำงานดีสมควรขึ้นเงินเดือนให้ ๒ ขั้น.
  82. สมคะเน
    หมายถึง ก. เหมาะกับที่คาด, ตรงกับที่คิดไว้.
  83. สมจร
    หมายถึง ก. ร่วมประเวณี เช่น เจ้าสมจรด้วยเมียข้าคนตนเองไซ้ ท่านให้ไหมให้ผัวมันเปนไท... ข้าสมจรด้วยกันพ่อแม่แลเจ้าข้ามิให้แลมันภากันหนีไกล... (สามดวง) มีนิทานเรื่องนางนาคสมจรกับงูดิน.
  84. สมจริง
    หมายถึง ว. ควรถือได้ว่าเป็นจริง, คล้ายกับที่เป็นจริง, เช่น เขาแสดงบทบาทในละครได้อย่างสมจริง; ตามความเป็นจริง เช่น เขาทำได้สมจริงอย่างที่พูดไว้; (วรรณ) เหมือนจริงแต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เช่น นวนิยายสมจริง เรื่องสมจริง.
  85. สมจริงสมจัง
    หมายถึง ว. คล้ายกับที่เป็นจริงมาก เช่น เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ได้สมจริงสมจัง.
  86. สมจารี
    หมายถึง [สะมะ-] น. ผู้ประพฤติสมํ่าเสมอ. (ป.).
  87. สมญา
    หมายถึง [สมยา] น. ชื่อที่ตั้งให้ กร่อนมาจากคำว่า สมัญญา.
  88. สมญานาม
    หมายถึง [สมยานาม] น. สมญา.
  89. สมณ,สมณ-,สมณะ
    หมายถึง [สะมะนะ-] น. ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).
  90. สมณบริขาร
    หมายถึง น. เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา มี ๘ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองนํ้า (ธมกรก), อัฐบริขาร ก็เรียก. (ป.).
  91. สมณศักดิ์
    หมายถึง น. ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด.
  92. สมณสารูป
    หมายถึง ว. ที่สมควรแก่พระ (ใช้แก่กิริยามารยาทเป็นต้น). น. กิริยามารยาทเป็นต้นที่สมควรแก่สมณะ เช่น ภิกษุพูดจาควรมีสมณสารูป. (ป. สมณสารุปฺป).
  93. สมณสาสน์
    หมายถึง [-สาด] น. จดหมายของสมเด็จพระสังฆราชหรือประมุขของประเทศซึ่งเป็นนักบวชที่ใช้ในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ.
  94. สมณโวหาร
    หมายถึง น. ถ้อยคำที่ควรแก่สมณะ เช่น อาตมา ฉันจังหัน กัปปิยภัณฑ์. (ป.).
  95. สมดุล
    หมายถึง [สะมะดุน, สมดุน] ว. เสมอกัน, เท่ากัน. (อ. equilibrium).
  96. สมถ,สมถ-,สมถะ
    หมายถึง [สะมะถะ-] น. การทำใจให้สงบโดยเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์. ว. มักน้อย เช่น คนสมถะมีความเป็นอยู่เรียบง่าย. (ป.; ส. ศมถ).
  97. สมถยานิก
    หมายถึง น. ผู้มีสมถะเป็นยาน, ผู้บำเพ็ญสมถะจนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนา. (ป.).
  98. สมถวิปัสสนา
    หมายถึง น. สมถะและวิปัสสนา เป็นแบบปฏิบัติในการเจริญกรรมฐานทางพุทธศาสนา. (ป.). (ดู วิปัสสนา ประกอบ).
  99. สมทบ
    หมายถึง ก. รวมเข้าด้วย เช่น เดินล่วงหน้าไปก่อนแล้วจะตามไปสมทบ.
  100. สมนอก
    หมายถึง น. เลกของเจ้านายที่ทรงกรมหรือขุนนางที่มีสิทธิ์มีเลก.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ส (หน้าที่ 3)"