พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ล (หน้าที่ 9)

  1. ลือลั่น
    หมายถึง ก. โด่งดังมาก เช่น ได้ยินเสียงลือลั่น.
  2. ลือสาย
    หมายถึง น. คำเรียกผู้เป็นใหญ่เช่นกษัตริย์, มักใช้ว่า ฦๅสาย.
  3. ลื่น
    หมายถึง ก. เคลื่อนที่ไปได้คล่องบนพื้นที่มีความฝืดน้อย เช่น เขาลื่นหกล้ม ลูกแก้วลื่นไปตามราง. ว. มีลักษณะทำให้เคลื่อนที่ไปได้คล่องบนพื้นที่มีความฝืดน้อย เช่น ถนนลื่น กระดานลื่น ทาน้ำมันเสียตัวลื่น, โดยปริยายหมายถึงบุคคลที่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือกลเม็ดแพรวพราวจนจับไม่ติด.
  4. ลื่อ
    หมายถึง น. ลูกของเหลน.
  5. ลื้น,ลื้น ๆ
    หมายถึง ว. เจ็บอาย, เศร้า, สลด, เช่น ว่าแล้วหน้าไม่ลื้น; บวมหรือนูนน้อย ๆ เช่น แขนถูกแมลงต่อยผิวลื้นขึ้นมา เนื้อลื้น ๆ จะเป็นฝี.
  6. ลื้อ
    หมายถึง (ปาก) ส. คำใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย เพศชาย ใช้พูดกับผู้ที่เสมอกันหรือผู้น้อยในทำนองเป็นกันเอง, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒. (จ. ลื่อ ว่า คำใช้เรียกบุรุษที่ ๒).
  7. ลื้อ
    หมายถึง น. ไทยพวกหนึ่งอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา.
  8. ลุ
    หมายถึง ก. ถึง (ในลักษณะที่ต้องใช้ความพยายาม) เช่น ลุความสำเร็จ, ถึง เช่น ลุศักราช, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ ถึง เป็น ลุถึง; (โบ) รู้ความ เช่น ลุท้องตรา ลุหนังสือ.
  9. ลุก
    หมายถึง ก. เคลื่อนขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอน เช่น ลุกจากเก้าอี้ลุกจากที่นอน, ตั้งขึ้น เช่น ขนลุก; เคลื่อนออกจาก เช่น ลุกแต่สุโขทัย. (จารึกสยาม); ไหม้โพลงขึ้น เช่น ไฟลุก.
  10. ลุกลน
    หมายถึง ก. ทำโดยรีบร้อนไม่เป็นระเบียบ เช่น ทำอะไรอย่าลุกลนของจะหล่นแตก. ว. ไม่สุภาพเรียบร้อย เช่น เขาแสดงกิริยาลุกลน พูดลุกลนฟังไม่เป็นศัพท์.
  11. ลุกลาม
    หมายถึง ก. แผ่กว้างออกไปโดยเร็ว เช่น ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็ว.
  12. ลุกลี้ลุกลน
    หมายถึง ว. เร่งรีบอย่างไม่เป็นระเบียบ เช่น เขามีกิริยาลุกลี้ลุกลน เดินลุกลี้ลุกลน.
  13. ลุกฮือ
    หมายถึง ก. ไหม้โพลงขึ้นลุกลามอย่างรวดเร็ว เช่น ไฟไหม้พอมีลมพัดก็ลุกฮือ; อาการที่คนจำนวนมากลุกขึ้นพร้อม ๆ กันเพราะแตกตื่นชั่วขณะเป็นต้น เช่น พอเห็นตำรวจมาก็ลุกฮือ, อาการที่กลุ่มคนกลุ้มรุมกันเข้าต่อสู้กับผู้มีอำนาจ เช่น ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลที่กดขี่ประชาชน.
  14. ลุกะโทษ,ลุแก่โทษ
    หมายถึง ก. สารภาพผิดยอมให้ลงโทษตามแต่จะเห็นสมควร.
  15. ลุง
    หมายถึง น. พี่ชายของพ่อหรือแม่ หรือชายที่มีวัยไล่เลี่ยแต่แก่กว่าพ่อหรือแม่, คำเรียกชายที่ไม่รู้จักแต่มักจะมีอายุแก่กว่าพ่อหรือแม่.
  16. ลุง
    หมายถึง ดู กร่าง.
  17. ลุต
    หมายถึง (แบบ) ก. ลบออก, ตัดออก. (ป. ลุตฺต; ส. ลุปฺต).
  18. ลุท
    หมายถึง (แบบ) น. นายพราน. ว. ดุร้าย, เหี้ยมโหด. (ป. ลุทฺท; ส. ลุพฺธ).
  19. ลุทกะ
    หมายถึง [ลุดทะกะ] น. นายพราน. (ป. ลุทฺทก; ส. ลุพฺธก).
  20. ลุทธ์
    หมายถึง (แบบ) ก. โลภ, อยากได้, มักได้. (ป.; ส. ลุพฺธ).
  21. ลุปต์
    หมายถึง (แบบ) ก. ลบออก, ตัดออก. (ส.; ป. ลุตฺต).
  22. ลุพธกะ
    หมายถึง [ลุบทะกะ] (แบบ) น. นายพราน. (ส.; ป.ลุทฺทก).
  23. ลุพธ์
    หมายถึง (แบบ) น. นายพราน. ก. โลภ, อยากได้, มักได้. (ส.; ป. ลุทฺธ).
  24. ลุมป์
    หมายถึง (แบบ) ก. ปล้น, ทำลาย. (ป., ส.).
  25. ลุมพี
    หมายถึง ดู กะลุมพี.
  26. ลุมพู
    หมายถึง น. ชื่อนกในวงศ์ Columbidae ขนาดใหญ่กว่านกพิราบ อาศัยตามป่าสูง กินผลไม้ มีหลายชนิด เช่นชนิด Ducula aenea ลุมพูขาว (D. bicolor), กระลุมพู ก็เรียก.
  27. ลุย
    หมายถึง ก. เคลื่อนที่ฝ่าเรื่อยเข้าไป เช่น ลุยน้ำ ลุยโคลน ลุยไฟ ลุยป่า ขับรถลุยเข้าไปในฝูงคน, โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ลุยงานให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด หัวหน้าสั่งลูกน้องลุยฝ่ายตรงข้าม.
  28. ลุยลาย
    หมายถึง ก. แกะพื้นลายให้ลึกเป็นร่องระหว่างตัวลาย เช่น ใช้สิ่วลุยลาย.
  29. ลุลาย
    หมายถึง (แบบ) น. ควาย. (ป., ส.).
  30. ลุล่วง
    หมายถึง ก. สำเร็จ (ในสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามบ้าง) เช่น โครงการนี้ลุล่วงไปด้วยดี.
  31. ลุสา
    หมายถึง น. วันมะรืน. (ช.).
  32. ลุอำนาจ
    หมายถึง ก. ตกอยู่ในอำนาจ, ใช้อำนาจ, เช่น ลุอำนาจโทสะ.
  33. ลุแก่อำนาจ
    หมายถึง ก. ตกอยู่ในอำนาจ, ใช้อำนาจ, เช่น ลุอำนาจโทสะ.
  34. ลุแก่โทสะ,ลุโทสะ
    หมายถึง ก. บันดาลโทสะ, โกรธมาก, เช่น เขาทำร้ายผู้อื่นด้วยลุแก่โทสะ.
  35. ลุโสดา
    หมายถึง ก. บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน; (ปาก) หมดกิเลส, รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง, (มักใช้ในความปฏิเสธ) เช่น ฉันยังไม่ลุโสดานี่; บรรลุโสดา ก็ว่า.
  36. ลุ่น,ลุ่น ๆ
    หมายถึง ว. ด้วน, กุด, เช่น ไก่หางลุ่นเพราะถูกถอนขนหางหมด; ห้วน เช่น พูดลุ่น ๆ ไม่น่าฟัง; ควรมีประดับตกแต่ง แต่ไม่มี เช่น ตะพดหัวลุ่น คือ ตะพดไม่ได้เลี่ยมหัว ชกด้วยหมัดลุ่น ๆ คือ ชกด้วยหมัดล้วน ๆ ไม่ได้ใส่นวมเป็นต้น.
  37. ลุ่นตุ้น,ลุ่นโตง
    หมายถึง ว. มีตอนปลายสุดหายเหี้ยนไปหมด เช่น นิ้วลุ่นตุ้น หางลุ่นโตง.
  38. ลุ่ม
    หมายถึง ว. ตํ่า (ใช้แก่ลักษณะพื้นดินซึ่งรับนํ้าที่ไหลท่วมได้หรือนํ้าขึ้นถึง) เช่น ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม, ตรงข้ามกับ ดอน.
  39. ลุ่ม ๆ ดอน ๆ
    หมายถึง ว. สูง ๆ ต่ำ ๆ, ไม่สม่ำเสมอ, เช่น ที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ; ไม่ราบรื่น เช่น ชีวิตลุ่ม ๆ ดอน ๆ.
  40. ลุ่มน้ำ
    หมายถึง น. บริเวณที่ลุ่มซึ่งมีแม่น้ำสำคัญและสาขาไหลผ่าน เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา.
  41. ลุ่มลึก
    หมายถึง ว. ลึกซึ้งมาก เช่น พระพุทธพจน์มีความหมายลุ่มลึก.
  42. ลุ่มหลง
    หมายถึง ก. หมกมุ่น, มัวเมา, เช่น ลุ่มหลงในอบายมุข.
  43. ลุ่มเนื้อ
    หมายถึง ว. มีเนื้อที่เริ่มจะเน่า (มักใช้แก่เนื้อปลา) เช่น ปลาช่อนตัวนี้ลุ่มเนื้อ.
  44. ลุ่มเล้า
    หมายถึง ก. ละเล้า, เคล้าคลึง, คลอเคลีย.
  45. ลุ่ย
    หมายถึง ก. เลื่อนหลุดจากที่เพราะคลายตัวไม่แน่นเหมือนเดิม เช่น ผ้านุ่งที่เหน็บไว้ลุ่ยหลุดออก มวยผมลุ่ยออกมา, คลายออกเป็นเส้น ๆ เช่น ชายผ้าลุ่ย ด้ายที่เย็บไว้ลุ่ย. ว. ไม่มีทางสู้ ในคำว่า แพ้ลุ่ย.
  46. ลุ่ยหู
    หมายถึง ว. อาการที่แพ้อย่างไม่มีทางสู้ (เดิมใช้แก่ปลากัด คือ ฝ่ายแพ้ถูกกัดหูเสียจนหมด).
  47. ลุ้ง
    หมายถึง น. ภาชนะใส่อาหารหรือของอย่างอื่น รูปทรงกระบอกมีฝาปิด สานอย่างตะกร้าหรือเครื่องเขินก็มี ทำด้วยโลหะมีทองเหลืองและเหล็กวิลาดเป็นต้นก็มี, ถ้าใช้ใส่อาหารมักแบ่งข้างในเป็นห้อง ๆ, ถ้าใช้ใส่ชฎา ก็มีฝาเรียวรูปกรวยเพื่อครอบยอดชฎาได้; โลงสำหรับใส่ศพ รูปสี่เหลี่ยมปากผาย ก้นสอบ; ภาชนะดินปั้น ใช้ใส่อัฐิเพื่อนำไปลอยน้ำ.
  48. ลุ้น
    หมายถึง (ปาก) ก. เอาใจช่วยเต็มที่ เช่น นั่งลุ้นฟุตบอลอยู่ข้างสนาม, สนับสนุน เช่น ลุ้นให้ได้ตำแหน่ง.
  49. ลุ้ย
    หมายถึง ก. พูดไม่ยับยั้ง.
  50. ลูก
    หมายถึง น. ผู้มีกำเนิดจากพ่อแม่ หรือโดยปริยายถือว่ามีฐานะเสมือนลูก, คำที่พ่อแม่เรียกลูกของตนโดยตรง หรือเรียกเด็กอื่นหรือผู้เยาว์กว่าผู้พูดหลายปีด้วยความรู้สึกรักและเอ็นดู เช่น ลูกกินยาเสียซิ, คำที่ลูกใช้แทนชื่อตนเวลาพูดกับพ่อแม่ด้วยความรักและเคารพ เช่น ลูกยังไม่ง่วงนอน; เรียกสัตว์ที่ยังไม่โต เช่น ลูกแมว ลูกหมา; เรียกสิ่งที่จะสืบเป็นพันธุ์ไม้มีลักษณะกลม ๆ ว่า ลูกไม้, ผลไม้ ก็เรียก, เมื่อกล่าวถึงผลไม้ชนิดใดโดยเฉพาะ ซึ่งโดยมากเป็นคำพยางค์เดียวอันอาจทำให้เข้าใจผิดเป็นอย่างอื่นได้ ตามปรกติมักมีคำ ลูก ประกอบข้างหน้า เช่น ลูกเกด ลูกชิด; เรียกสิ่งที่มีรูปกลม ๆ หรือยาว ๆ หรือโดยอนุโลมว่า ลูก เช่น ลูกกุญแจ ลูกเต๋า ลูกหิน; ลักษณนามใช้แก่ลูกไม้หรือสิ่งที่มีรูปกลม ๆ หรือยาว ๆ หรือคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น มะม่วง ๕ ลูก ลูกหิน ๒ ลูก ขนมจีบ ๑๐ ลูก มะเขือยาว ๔ ลูก แป้งข้าวหมาก ๓ ลูก. ว. ที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น เคี่ยวกะทิเป็นลูก.
  51. ลูก ๆ หลาน ๆ
    หมายถึง น. ลูกและหลานหลายคน.
  52. ลูกกก
    หมายถึง น. ลูกหัวปี.
  53. ลูกกรง
    หมายถึง น. สิ่งซึ่งเรียงกันเป็นซี่ ๆ ของกรงหรือที่คุมขัง; สิ่งที่เป็นลูกตั้งสำหรับราวบันไดและสะพานเป็นต้น เช่น ลูกกรงบันได ลูกกรงสะพาน ลูกกรงระเบียง.
  54. ลูกกรด
    หมายถึง น. ชื่อปืนชนิดที่ใช้กระสุนลูกกรด; ชื่อกระสุนชนิดหนึ่ง เล็กกว่ากระสุนทั่ว ๆ ไป ปลอกทำด้วยโลหะ หัวกระสุนทำด้วยตะกั่ว มีลูกปรายและดินปืนอยู่ข้างใน มีเชื้อปะทุอยู่ก้นปลอก.
  55. ลูกกรอก
    หมายถึง น. ลูกคนหรือลูกสัตว์มีแมวเป็นต้นที่ตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือในท้อง มีร่างกายครบบริบูรณ์ แต่ขนาดเล็ก เชื่อกันว่าจะให้คุณแก่เจ้าของหรือบางทีก็ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง.
  56. ลูกกระดุม
    หมายถึง ดู กระดุม.
  57. ลูกกระพรวน
    หมายถึง [-พฺรวน] น. โลหะทำเป็นรูปกลมกลวง มีลูกกลิ้งเล็ก ๆ อยู่ข้างในเพื่อให้เกิดเสียง ใช้ผูกคอสัตว์หรือข้อเท้าเป็นต้น, กระพรวน พรวน หรือ ลูกพรวน ก็ว่า; (ถิ่น-พายัพ, อีสาน) มะหิ่ง หรือ หมากหิ่ง.
  58. ลูกกระเดือก
    หมายถึง น. ส่วนของกล่องเสียง มีลักษณะโปนออกมากลางลำคอเหนือท่อลม เห็นได้ชัดในผู้ชาย.
  59. ลูกกระแอม
    หมายถึง น. ลายที่ผูกเป็นตัวลอย ๆ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนคล้ายลายกระหนกหางโต ใช้สำหรับอุดหรือปิดช่องไฟระหว่างลายกระหนกเครือวัลย์. (ดู กระแอม ๒).
  60. ลูกกระได
    หมายถึง น. ลูกบันได.
  61. ลูกกรุง
    หมายถึง ว. เรียกเพลงชนิดที่คนในกรุงหรือในเมืองนิยมว่า เพลงลูกกรุง.
  62. ลูกกลอน
    หมายถึง น. เม็ดยาเปียก ๆ ที่ปั้นเป็นก้อนกลมเพื่อกลืนกิน.
  63. ลูกกลิ้ง
    หมายถึง น. เหล็กหรือวัสดุอื่นที่มีนํ้าหนักมากใช้ลากให้กลิ้งทับดินให้ราบ, เรียกสิ่งที่กลิ้งไปได้เพื่อประโยชน์ในการต่าง ๆ ว่า ลูกกลิ้ง เช่น ลูกกลิ้งของช่างตัดเสื้อ.
  64. ลูกกวาด
    หมายถึง น. ของหวานทำด้วยนํ้าตาล มีสีต่าง ๆ มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ แน่นแข็ง บางอย่างมีถั่วเป็นต้นอยู่ข้างใน ใช้เคี้ยวหรืออมให้ค่อย ๆ ละลายไปเอง.
  65. ลูกกวิน
    หมายถึง น. ห่วงร้อยสายรัดประคด, กระวิน หรือ ถวิน ก็ว่า.
  66. ลูกกะจ๊อก,ลูกกะโล่,ลูกจ๊อก
    หมายถึง (ปาก) น. ผู้ที่อ่อนแอสู้ใครไม่ได้.
  67. ลูกกะแอ
    หมายถึง น. ลูกควายตัวเล็ก ๆ เรียกตามเสียงที่มันร้อง, ลูกหม่อ หรือ ลูกแหง่ ก็เรียก.
  68. ลูกกัลปพฤกษ์
    หมายถึง น. ลูกมะนาวหรือของที่บรรจุเงินปลีกเป็นต้นไว้ข้างในสำหรับโปรยทาน, โดยปริยายเรียกสลากที่ห้อยไว้ตามต้นไม้ให้คนสอยในงานกุศลหรืองานรื่นเริงเป็นต้น.
  69. ลูกกุญแจ
    หมายถึง น. เครื่องมือชนิดหนึ่ง ทำด้วยเหล็กหรือทองเหลืองเป็นต้น สำหรับไขแม่กุญแจ.
  70. ลูกขนไก่
    หมายถึง (ปาก) น. ลูกแบดมินตัน.
  71. ลูกขวัญ
    หมายถึง น. ลูกที่พ่อแม่รักมากที่สุด, ลูกแก้ว หรือ ลูกแก้วลูกขวัญ ก็เรียก.
  72. ลูกขวาน
    หมายถึง น. ขวานขนาดเล็ก หน้าประมาณนิ้วครึ่ง ใช้เหน็บหลังเป็นอาวุธ.
  73. ลูกขัด
    หมายถึง น. วิธีบรรเลงทำนองอย่างหนึ่ง แบ่งเครื่องดนตรีเป็น ๒ พวก โดยผลัดกันบรรเลงคนละที เมื่อพวกหน้าบรรเลงเป็นทำนองอย่างหนึ่งแล้ว พวกหลังก็จะบรรเลงทำนองให้ผิดแผกแตกต่างไปอีกอย่างหนึ่ง และทำนองที่ผลัดกันบรรเลงนี้ไม่บังคับว่าจะสั้นยาวเท่าใดหรือจะมีเพียงพยางค์เดียวก็ได้.
  74. ลูกขัด
    หมายถึง น. อุปกรณ์สำหรับขัดหรือปัดเงาเครื่องโลหะ ทำด้วยผ้าซ้อนกันหลายชั้นเป็นรูปกลมคล้ายลูกล้อ มีรูตรงกลาง สวมเข้ากับแกนที่ต่อออกมาจากมอเตอร์.
  75. ลูกขุน
    หมายถึง (โบ) น. ลูกขุน ณ ศาลหลวง.
  76. ลูกขุน ณ ศาลหลวง
    หมายถึง (โบ) น. คณะข้าราชการชั้นสูงฝ่ายตุลาการ ซึ่งรวมกันเรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวง มีหน้าที่พิพากษาคดีอย่างศาลยุติธรรม แต่มิได้เป็นผู้พิจารณาคดี เพราะมีตระลาการที่จะพิจารณาคดีแล้วขอคำตัดสินจากลูกขุน ณ ศาลหลวงอีกชั้นหนึ่ง, กฎหมายตราสามดวงมักใช้ว่า ลูกขุน ณ สานหลวง.
  77. ลูกขุน ณ ศาลา
    หมายถึง (โบ) น. คณะข้าราชการชั้นสูงฝ่ายธุรการ ซึ่งมีตำแหน่งต่าง ๆ มีเสนาบดีเป็นต้น รวมกันเรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลา.
  78. ลูกขุนพลอยพยัก
    หมายถึง (สำ) น. ผู้ที่คอยว่าตามหรือเห็นด้วยกับผู้ใหญ่เป็นเชิงประจบสอพลอเป็นต้น.
  79. ลูกข่าง
    หมายถึง น. ของเล่นอย่างหนึ่งเป็นลูกกลม ๆ มีเดือยใช้ปั่นให้หมุนด้วยมือหรือด้วยเชือก.
  80. ลูกข้าว
    หมายถึง น. รวงข้าวที่เกิดออกจากตอต้นข้าวที่เกี่ยวแล้ว.
  81. ลูกครอก
    หมายถึง น. ลูกปลาจำพวกปลาช่อนที่ตามพ่อเป็นฝูง ๆ, ลูกชักครอก ก็ว่า; (โบ) ลูกทาสที่เกิดในเรือนเบี้ย.
  82. ลูกครึ่ง
    หมายถึง น. ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นคนต่างชาติกัน, ครึ่งชาติ ก็ว่า.
  83. ลูกคลัก
    หมายถึง น. ท่อนไม้สั้น ๆ เอาเชือกผูกกลางสำหรับขัดแร้วเป็นต้น หรือใส่ในโอ่งในไหแล้วเอาเชือกผูกกับไม้คานหามไป.
  84. ลูกคลื่น
    หมายถึง ว. มีลักษณะสูง ๆ ต่ำ ๆ เป็นลอนอย่างคลื่น เช่น ถนนสายนี้เป็นลูกคลื่น.
  85. ลูกความ
    หมายถึง (กฎ) น. ผู้มีคดีความซึ่งทนายความรับว่าความให้.
  86. ลูกคอ
    หมายถึง น. เสียงเอื้อนหรือเสียงครวญในเวลาร้องเพลงเป็นต้น.
  87. ลูกคอก
    หมายถึง น. ลูกวัวหรือควายที่เกิดจากแม่ที่เลี้ยงไว้ในคอก.
  88. ลูกคัน
    หมายถึง น. ดินที่พูนขึ้นเป็นคันตามท้องนาสำหรับขังน้ำไว้, คันนา หรือ หัวคันนา ก็เรียก.
  89. ลูกคั่น
    หมายถึง น. เครื่องประดับเป็นลูกกลม ๆ เป็นต้น ใช้คั่นระหว่างตะกรุดหรือลูกประคำ.
  90. ลูกคำ
    หมายถึง น. เรียกคำ ๒ คำเมื่อเอามาประสมกันแล้วมีความหมายต่างไปจากคำเดิมว่า ลูกคำของคำตั้ง เช่น ลูกค้า ลูกเขย เป็นลูกคำของคำ ลูก.
  91. ลูกคิด
    หมายถึง น. เครื่องคำนวณเลขของจีน ทำด้วยไม้เป็นต้น เป็นลูกกลม ๆ ร้อยใส่ไว้ในราง.
  92. ลูกคู่
    หมายถึง น. คนร้องรับต้นเสียง เช่น ลูกคู่ละครร้อง ลูกคู่ละครรำ, คนร้องรับพ่อเพลงแม่เพลง เช่น ลูกคู่เพลงฉ่อย ลูกคู่ระบำชาวไร่, โดยปริยายหมายถึงผู้สนับสนุน เช่น พอนายพูด ลูกน้องก็รับเป็นลูกคู่.
  93. ลูกค้า
    หมายถึง น. ผู้ซื้อ เช่น ผู้ขายปลีกเป็นลูกค้าของผู้ขายส่ง, ผู้อุดหนุนในเชิงธุรกิจ เช่น ลูกค้าของธนาคาร.
  94. ลูกฆ้อง
    หมายถึง น. ทำนองหลักของเพลงไทยที่โดยปรกติจะบรรเลงด้วยฆ้องวงใหญ่.
  95. ลูกจ้าง
    หมายถึง น. ผู้รับจ้างทำการงาน; (กฎ) ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร.
  96. ลูกจ้างชั่วคราว
    หมายถึง (กฎ) น. ลูกจ้างซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้ไม่เป็นการประจำ เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล.
  97. ลูกจ้างประจำ
    หมายถึง (กฎ) น. ลูกจ้างซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้เป็นการประจำ.
  98. ลูกชะเนาะ
    หมายถึง น. ไม้สั้น ๆ สำหรับขัดบิดเชือกที่ผูกให้แน่นเช่นในการทำนั่งร้าน, ชะเนาะ ก็เรียก.
  99. ลูกชักครอก
    หมายถึง น. ลูกปลาจำพวกปลาช่อนที่ตามพ่อเป็นฝูง ๆ, ลูกครอก ก็ว่า.
  100. ลูกชิด
    หมายถึง น. เนื้อในเมล็ดอ่อนของต้นตาวเชื่อมกินได้. (ดู ตาว ๒, ต๋าว).

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ล (หน้าที่ 9)"