พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ล (หน้าที่ 2)

  1. ลบล้าง
    หมายถึง ก. ทำให้หมดไปสิ้นไป เช่น ลบล้างความผิด, ทำให้เป็นโมฆะทางกฎหมาย เช่น ลบล้างหนี้สิน ลบล้างมลทิน.
  2. ลบศักราช
    หมายถึง ก. เลิกใช้ศักราชเก่า ตั้งศักราชใหม่แทน.
  3. ลบหลู่
    หมายถึง ก. แสดงอาการเหยียดหยามต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือต่อผู้มีอุปการคุณโดยถือว่าไม่สำคัญควรแก่การเคารพนับถือ เช่น ลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาที่ตนไม่ได้นับถือ ลบหลู่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ นาย ก ลบหลู่บิดานาย ข.
  4. ลบอง
    หมายถึง [ละบอง] น. แบบ, ฉบับ. ก. แต่ง, ทำ. (ข. ลฺบง ว่า ลอง).
  5. ลบเลือน
    หมายถึง ก. เสื่อมจากสภาพเดิมจนเห็นหรือจำได้แต่ราง ๆ เช่น ตัวหนังสือลบเลือน ความจำลบเลือน.
  6. ลบเหลี่ยม
    หมายถึง ก. ทำให้เสียชั้นเชิง เสียเกียรติ หรือเสียความเชื่อถือ ต่อหน้าผู้อื่นหรือต่อหน้าชุมนุมชน.
  7. ลบโลก
    หมายถึง ว. เป็นใหญ่ปราบได้ตลอดโลก.
  8. ลปก
    หมายถึง [ละปก] น. คนพูดบ่นเพ้อต่าง ๆ; คนพูดด้วยความอยากได้. (ป.).
  9. ลปนะ
    หมายถึง [ละปะนะ] น. การพูด, การบ่นพึมพำ; ปาก. (ป., ส.).
  10. ลพ
    หมายถึง น. การตัด, การเกี่ยว; ส่วนที่ตัดออก, ท่อน, ชิ้น; หยาดนํ้า. (ป., ส. ลว).
  11. ลพุช,ลาพุช
    หมายถึง [ละพุด, ลาพุด] น. มะหาด. (ป.).
  12. ลม
    หมายถึง น. ธาตุอย่างหนึ่งในธาตุทั้ง ๔ ของร่างกาย คือ ดิน นํ้า ไฟ ลม, ถ้าลมในร่างกายแปรปรวนไม่ปรกติจะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้ เช่น เป็นลม; ลมหายใจ เช่น หมดลม สิ้นลม หมายความว่า ตาย; อากาศที่เคลื่อนที่; ชื่อโรคชนิดหนึ่ง มีอาการหลายอย่าง เช่น วิงเวียน หน้ามืด คลื่นเหียน, ถ้าอาการรุนแรงอาจถึงแก่สิ้นสติหรือตายได้ เช่น เขาเป็นลมแน่นิ่งไป.
  13. ลม
    หมายถึง น. ชื่อปูชนิด Ocypode ceratophthalma ในวงศ์ Ocypodidae ก้านตายาว วิ่งเร็ว อยู่ตามหาดทรายชายทะเล.
  14. ลม
    หมายถึง น. ชื่อเห็ดชนิด Lentinus polychrous Lév. ในวงศ์ Polyporaceae ขึ้นบนขอนไม้ผุ ดอกเห็ดรูปปากแตร ด้านบนมีเกล็ดสีนํ้าตาลอ่อน ด้านล่างมีครีบสีนํ้าตาลแดง เนื้อเหนียว กินได้.
  15. ลม ๆ
    หมายถึง ว. ไม่เป็นแก่น, ไม่เป็นสาระ; อาการเป็นไปแห่งจิตในขณะหนึ่ง ๆ บางทีก็ดี บางทีก็ร้าย.
  16. ลม ๆ แล้ง ๆ
    หมายถึง ว. เลื่อนลอยเปล่า ๆ, ไม่มีผล, เช่น ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะถูกสลากกินแบ่ง.
  17. ลมกรด
    หมายถึง น. กระแสลมแรงจัดในบรรยากาศชั้นบนในระดับสูงตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ เมตร มีลักษณะเป็นลำคล้ายท่อรูปรีขนาดใหญ่, โดยปริยายหมายความว่า เร็วมาก เช่น นักวิ่งลมกรด.
  18. ลมกระโชก
    หมายถึง น. ลมแรงที่เกิดในทันทีทันใดชั่วขณะหนึ่ง, ลมที่พัดแรงเป็นพัก ๆ.
  19. ลมขึ้น
    หมายถึง ก. อาการที่ลมดันออกจากภายในร่างกาย ทำให้หาวเรอหรือให้เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด และอาเจียน ในกรณีหลังนี้บางทีก็เรียกว่า ลมขึ้นเบื้องสูง.
  20. ลมค้า
    หมายถึง น. ลมซึ่งพัดออกจากบริเวณความกดอากาศสูงกึ่งโซนร้อนไปยังบริเวณความกดอากาศตํ่าที่เส้นศูนย์สูตร ในซีกโลกเหนือจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้จะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้. (อ. trade wind).
  21. ลมงวง,ลมงวงช้าง
    หมายถึง น. ลมชนิดหนึ่ง เมื่อเริ่มเกิดจะเห็นเป็นลำยื่นลงมาจากใต้ฐานเมฆ มีลักษณะคล้ายงวงช้าง ถ้ามีกำลังแรงมาก ลำนี้จะยาวลงมามาก. (อ. tornado).
  22. ลมจับ
    หมายถึง ก. มีอาการวิงเวียนหน้ามืดบางคราวถึงกับหมดสติ, เป็นลม หรือ เป็นลมเป็นแล้ง ก็ว่า.
  23. ลมชวย
    หมายถึง น. ลมที่พัดอ่อน ๆ, ลมที่พัดเรื่อย ๆ.
  24. ลมชาย
    หมายถึง น. ลมโชย.
  25. ลมตก
    หมายถึง น. กระแสลมพัดอ่อน ๆ (มักพัดในเวลาเย็น) เช่น แดดร่มลมตก.
  26. ลมตะกัง
    หมายถึง น. ชื่อโรคลมชนิดหนึ่ง ตามตำราแพทย์แผนโบราณว่าทำให้มีอาการปวดหัวเวลาเช้า ๆ ปวดกระบอกตา เมื่อเห็นแดดจะลืมตาไม่ขึ้น, ลมปะกัง ก็ว่า.
  27. ลมตะเภา
    หมายถึง น. ลมชนิดหนึ่งพัดมาจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือในกลางฤดูร้อน.
  28. ลมตีขึ้น
    หมายถึง ก. อาการที่ลมในท้องตีขึ้นมา.
  29. ลมตึง
    หมายถึง น. ลมกระโชกแรง.
  30. ลมทวนลมค้า
    หมายถึง น. ลมชั้นบนที่อยู่เหนือลมค้าในเขตร้อนและพัดสวนทางกับลมค้า. (อ. anti trade wind).
  31. ลมทะเล
    หมายถึง น. ลมที่พัดจากทะเลเข้าหาฝั่งในเวลากลางวัน เนื่องจากเวลากลางวันพื้นดินร้อนกว่าพื้นนํ้า ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินลอยตัวสูงขึ้น อากาศจากทะเลซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงจึงเข้ามาแทนที่.
  32. ลมบก
    หมายถึง น. ลมที่พัดออกจากฝั่งไปสู่ทะเลในเวลากลางคืน เนื่องจากอุณหภูมิของนํ้าทะเลอุ่นกว่าอุณหภูมิของพื้นดินที่อยู่ใกล้เคียง อากาศเหนือผิวนํ้าจะลอยตัวสูงขึ้น อากาศจากพื้นดินจึงพัดเข้าไปแทนที่.
  33. ลมบน
    หมายถึง น. กระแสลมเบื้องบน เช่น ว่าวติดลมบน.
  34. ลมบ้าหมู
    หมายถึง น. อาการหมดสติเป็นครั้งคราว และมักมีอาการชักเกร็ง นํ้าลายเป็นฟอง มือเท้ากำ เป็นผลเนื่องจากสมองทำงานผิดปรกติ.
  35. ลมบ้าหมู
    หมายถึง น. ลมหมุนที่เกิดในบริเวณแคบ ๆ มีความรุนแรงไม่มากนัก มักหอบเอาของเป็นวงขึ้นไปในอากาศ.
  36. ลมปราณ
    หมายถึง น. ลมหายใจ เช่น ทำงานเหน็ดเหนื่อยแทบจะสิ้นลมปราณ; วิธีกำหนดดูความคล่องของลมหายใจเข้าออกว่าฤกษ์ดีหรือฤกษ์ร้าย เรียกว่า จับลมปราณ.
  37. ลมปะกัง
    หมายถึง น. ลมตะกัง.
  38. ลมปาก
    หมายถึง น. ถ้อยคำที่กล่าว เช่น อย่าสัญญาเพียงลมปาก, คำพูดที่จูงใจให้เห็นคล้อยตาม เช่น หลงลมปากจึงตามเขาไป.
  39. ลมพัดชายเขา
    หมายถึง น. ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง.
  40. ลมพัดหลวง
    หมายถึง น. ลมตะโก้. (ดู ตะโก้ ๒).
  41. ลมพัทธยา
    หมายถึง น. ลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในต้นฤดูฝน.
  42. ลมพายุ
    หมายถึง น. พายุ.
  43. ลมพิษ
    หมายถึง น. ผื่นคันเป็นพิษเห่อขึ้นตามผิวหนัง.
  44. ลมมรสุม
    หมายถึง น. (ภูมิ) ลมที่เกิดขึ้นเนื่องจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของพื้นดินกับพื้นน้ำ ในฤดูหนาวอุณหภูมิของพื้นดินเย็นกว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่อยู่ใกล้เคียง อากาศเหนือพื้นน้ำจะลอยตัวสูงขึ้น อากาศจากพื้นดินจึงพัดเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดเป็นลมพัดออกจากทวีป ส่วนในฤดูร้อนอุณหภูมิของพื้นดินร้อนกว่าน้ำในมหาสมุทร จึงทำให้เกิดลมพัดไปในทิศทางตรงกันข้าม, พายุใหญ่ที่มีลมแรงและมีฝนตกหนัก.
  45. ลมร้อน
    หมายถึง น. ลมที่นำความร้อนมาด้วย.
  46. ลมล่อง
    หมายถึง น. ลมที่พัดมาตามลำนํ้า.
  47. ลมว่าว
    หมายถึง น. ลมที่พัดจากทิศเหนือไปทิศใต้ตอนต้นฤดูหนาว, ลมเล่นว่าวเดี๋ยวนี้คือลมตะเภา ซึ่งพัดจากทิศใต้ไปทิศเหนือในกลางฤดูร้อน.
  48. ลมสลาตัน
    หมายถึง น. ลมทะเลที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในปลายฤดูฝน.
  49. ลมสว้าน
    หมายถึง [-สะว่าน] ก. ลมแดกขึ้นอันเป็นอาการของไข้หนักจวนจะสิ้นใจ.
  50. ลมหนาว
    หมายถึง น. ลมที่นำความหนาวเย็นมาด้วย.
  51. ลมหวน
    หมายถึง น. ลมที่พัดกลับไปกลับมาขณะฝนตก.
  52. ลมหอบ
    หมายถึง น. ลมพายุที่พัดหอบเอาสิ่งต่าง ๆ ลอยไปได้ไกล ๆ.
  53. ลมหายใจ
    หมายถึง น. ลมที่ปอดสูบเข้าออกทางจมูกหรือทางปาก.
  54. ลมาด
    หมายถึง [ละ-] น. แมลงหวี่. (ข. มมาจ ว่า ตัวชีผ้าขาว).
  55. ลมเฉื่อย
    หมายถึง น. ลมที่พัดเรื่อย ๆ, ลมที่พัดช้า ๆ.
  56. ลมเบ่ง
    หมายถึง ก. อาการที่อยากเบ่งขณะที่มดลูกหดตัวและตำแหน่งของทารกอยู่ต่ำมากพร้อมที่จะคลอดออกมา.
  57. ลมเพลมพัด
    หมายถึง น. อาการที่เจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ มักเข้าใจกันว่าถูกกระทำ.
  58. ลมเสีย
    หมายถึง ก. ใจคอขุ่นมัวหรือรู้สึกโกรธ.
  59. ลมแดกขึ้น
    หมายถึง ก. อาการที่ลมในท้องดันขึ้นมา.
  60. ลมแดง
    หมายถึง น. ลมพายุที่พัดแรงจัด ท้องฟ้ามีสีแดง.
  61. ลมแดด
    หมายถึง ว. อาการที่เป็นลมเพราะโดนแดดจัด.
  62. ลมแล้ง
    หมายถึง ดู ราชพฤกษ์.
  63. ลมโกรก
    หมายถึง น. ลมที่พัดอยู่เรื่อย ๆ.
  64. ลมโชย
    หมายถึง น. ลมที่พัดอ่อน ๆ, ลมชาย ก็ว่า.
  65. ลมใส่
    หมายถึง (ปาก) ว. อาการที่รู้สึกว่าจะเป็นลมเนื่องจากตกใจหรือผิดหวังเป็นต้น เช่น เห็นผลสอบแล้วลมใส่.
  66. ลมไม่ดี
    หมายถึง ก. ใจคอหงุดหงิดไม่เป็นปรกติ.
  67. ลรรลุง
    หมายถึง [ลัน-] (กลอน) ว. เป็นทุกข์ถึง, เศร้าโศก, ครํ่าครวญ. (ดู ละลุง ๑).
  68. ลลนา
    หมายถึง [ละละ-] น. หญิงที่น่าเอ็นดู, ผู้หญิง. (ป., ส.).
  69. ลลาฏ
    หมายถึง [ละ-] น. นลาฏ, หน้าผาก. (ป., ส.).
  70. ลลิต
    หมายถึง [ละ-] ว. น่ารัก, น่าเอ็นดู, น่าชื่นชม, สวย, งาม, ละมุนละม่อม. (ส.).
  71. ลวก
    หมายถึง ก. กิริยาที่ของเหลวหรือไอที่ร้อนจัดหรือไฟมากระทบ เช่น ไฟลวก น้ำร้อนลวก ถูกไอน้ำเดือดลวก, กิริยาที่ถูกน้ำร้อน ไอร้อน หรือไฟพลุ่งมากระทบผิวเช่น หม้อน้ำระเบิด น้ำร้อนพลุ่งมาลวกทำให้พองไปทั้งตัว ไฟพลุ่งมาลวกเนื้อลวกตัว, รดหรือแช่ด้วยน้ำร้อน เช่น เอาน้ำร้อนมาลวกผัก ลวกผ้าหรือลวกชาม. ว. เรียกสิ่งที่รดหรือแช่ด้วยน้ำร้อน เช่น ไข่ลวก ผักลวก สะเดาลวก.
  72. ลวก ๆ
    หมายถึง ว. อย่างหยาบ ๆ, มักง่าย, ยังไม่เรียบร้อย, เช่น ทำงานลวก ๆ พอให้เสร็จ ๆ ไป.
  73. ลวกปาก,ลวกปากลวกคอ
    หมายถึง ก. อาการที่กินของร้อนจัดทำให้รู้สึกว่าปากแทบพองชั่วระยะหนึ่ง.
  74. ลวง
    หมายถึง ก. ทำให้หลงผิด เช่น ขุดหลุมพรางลวงข้าศึก.
  75. ลวง
    หมายถึง น. คำกำกับชื่อปีในวิธีนับศักราชของไทยเหนือ ตรงกับเลข ๘, เขียนเป็น รวง ก็มี.
  76. ลวงค์
    หมายถึง [ละวง] น. กานพลู. (ป., ส. ลวงฺค).
  77. ลวงตา
    หมายถึง ก. ทำให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง เช่น แสงแดดกล้าที่ปรากฏในระยะไกลลวงตาให้เห็นถนนลาดยางเป็นน้ำ. ว. เรียกภาพที่ทำให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริงว่า ภาพลวงตา.
  78. ลวงเล้า
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ) น. ปีระกา อัฐศก.
  79. ลวงโลก
    หมายถึง ว. ตลบตะแลงปลิ้นปล้อนในคำว่า คนลวงโลก.
  80. ลวณะ
    หมายถึง น. เกลือ, รสเค็ม, ความเค็ม. ว. เค็ม. (ป., ส.).
  81. ลวด
    หมายถึง น. สิ่งที่ทำเป็นเส้นยาว ๆ เช่น ลวดหนัง คือ แผ่นหนังที่เอามาทำเป็นเส้นยาว ๆ, โลหะที่เอามารีดเป็นเส้นเช่นนั้นก็เรียกว่า ลวด เช่น ลวดสังกะสี ลวดทองแดง, โดยมากมักเรียกสั้น ๆ ว่า ลวด; เรียกสิ่งที่ทำด้วยลวดโลหะคล้ายสิ่งทอ ใช้กันยุงต่างมุ้ง ว่า มุ้งลวด; เรียกเครื่องปูลาดสำหรับรองนั่ง ทำด้วยต้นกก ทอเป็นผืนหน้ากว้างประมาณ ๑ เมตร ความยาวไม่จำกัด นิยมใช้ตามวัด ว่า เสื่อลวด; ลายที่ลอกเป็นเส้นกลมยาวไปตามขอบตัวไม้ต่าง ๆ, เรียกสิ่งที่นูนขึ้นซึ่งมีลักษณะคล้ายลวด เช่น ลวดปากปลา. (โบ) ว. เลย.
  82. ลวดบัว
    หมายถึง น. ส่วนประดับที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรม ใช้ตกแต่งตรงส่วนขอบของพื้นผนังด้านล่างและด้านบน เพื่อประสานระหว่างพื้นที่ต่างระดับหรือพื้นที่ในแนวนอนกับแนวตั้ง เช่น เพดานกับผนัง พื้นกับผนัง ลักษณะเป็นแผ่นหรือแถบที่มีความกว้างตามความเหมาะสมของพื้นที่แต่ยาวทอดไปตามมุมหรือขอบ เช่น เชิงผนัง ขอบเพดาน อาจเป็นปูนที่ปั้นแต่งเป็นรูปแบบต่าง ๆ เป็นไม้แกะสลักไสเซาะเป็นลวดลาย หรือเป็นไม้แถบขนาดเล็กไม่มีลวดลายที่ช่างทั่วไปมักเรียกว่า ไม้มอบ, บัว ก็เรียก.
  83. ลวดลาย
    หมายถึง น. ลายต่าง ๆ ที่เขียนหรือแกะสลัก, ฝีมือความสามารถที่แสดงให้ปรากฏ เช่น นักฟุตบอลมีลวดลายในการส่งลูก, โดยปริยายหมายความว่า มีลูกไม้หรือชั้นเชิงต่าง ๆ เช่น เขามีลวดลายในการพูดให้คนฮาได้ เขามีลวดลายในการเต้นรำ.
  84. ลวดสปริง
    หมายถึง [-สะปฺริง] น. ลวดที่ทำเป็นขด ๆ สามารถยืดหยุ่นได้.
  85. ลวดหนัง
    หมายถึง น. หนังที่ทำเป็นเส้นยาว ๆ.
  86. ลวดหนาม
    หมายถึง น. ลวดที่ขมวดเป็นปมเป็นระยะ ๆ แต่ละปมมีปลายแหลมคม ใช้ทำรั้วหรือเครื่องกีดขวางเป็นต้น.
  87. ลวนลาม
    หมายถึง ก. ล่วงเกินในลักษณะชู้สาวด้วยการพูดหรือการกระทำเกินสมควร เช่น นายดำชอบพูดจาลวนลามผู้หญิง เขาชอบถือโอกาสลวนลามด้วยการจับมือถือแขนผู้หญิง, ลามลวน ก็ว่า.
  88. ลวนะ
    หมายถึง น. การตัด, การเกี่ยว. (ป., ส.).
  89. ลวะ
    หมายถึง น. การตัด, การเกี่ยว; ส่วนที่ตัดออก, ท่อน, ชิ้น; หยาดนํ้า. (ป., ส.).
  90. ลวิตร
    หมายถึง [ละวิด] น. เครื่องตัด, เครื่องเกี่ยว, เคียว. (ส. ลวิตฺร).
  91. ลหุ
    หมายถึง [ละ-] ว. เบา; เร็ว, ฉับไว; ใช้ในตำราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด เช่น จะ มิ ดุ, ใช้เครื่องหมาย แทน, คู่กับ ครุ ซึ่งใช้เครื่องหมาย แทน.
  92. ลหุกาบัติ
    หมายถึง [ละหุกาบัด] น. อาบัติเบา ได้แก่ อาบัติที่เมื่อภิกษุต้องแล้ว จะต้องบอกแก่ภิกษุด้วยกันจึงจะพ้นจากอาบัตินั้น ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต. (ป. ลหุกาปตฺติ).
  93. ลหุโทษ
    หมายถึง น. โทษเบา, โทษไม่ร้ายแรง, คู่กับ มหันตโทษ; (กฎ) ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
  94. ลอก
    หมายถึง ก. เอาเปลือกหรือผิวออกมาเป็นแผ่น ๆ เช่น ลอกหนังงู ลอกเปลือกปอกระเจา, กิริยาที่เปลือกหรือผิวหลุดออกเป็นแผ่น ๆ เช่น หนังลอก, ตักเอาโคลนหรือเลนเป็นต้นขึ้น เช่น ลอกคลอง ลอกท้องร่อง, ไสหรือแซะให้ลึกเป็นร่อง เช่น ลอกบัว ลอกท้องไม้; เขียน คัด หรือจำลองออกมาจากต้นฉบับ ต้นแบบ เช่น ลอกหนังสือ ลอกลวดลาย ลอกแบบ, โดยปริยายหมายถึงอาการคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ลอกความคิด.
  95. ลอกคราบ
    หมายถึง ก. กิริยาที่สัตว์บางชนิดเอาคราบออก เช่น งูลอกคราบ ปูลอกคราบ กุ้งลอกคราบ, โดยปริยายหมายถึงอาการคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่นถูกบังคับหรือถูกล่อลวงให้ถอดหรือปลดเครื่องแต่งตัวหรือทรัพย์สินไปจนหมดตัว.
  96. ลอกหน้า
    หมายถึง ก. กรรมวิธีในการเสริมสวยโดยเอาครีมชนิดหนึ่งทาหน้าให้ทั่ว ทิ้งไว้ให้แห้ง พอครีมแห้งก็ลอกออกเป็นแผ่น โดยจะมีสิวเสี้ยนเป็นต้นติดมากับแผ่นครีมนั้น.
  97. ลอการิทึม
    หมายถึง (คณิต) น. ลอการิทึมของจำนวนใดจำนวนหนึ่งบนฐานที่กำหนดให้ คือ จำนวนที่บ่งแสดงกำลังของฐาน ซึ่งเมื่อฐานยกกำลังด้วยจำนวนนี้แล้วย่อมมีค่าเท่ากับจำนวนที่กำหนดนั้น เช่น ลอการิทึมของ ๔๙ บนฐาน ๗ คือ ๒ (เขียนเป็นสัญลักษณ์ว่า log749 = 2) ซึ่งหมายความว่า ๗๒ = ๔๙. (อ. logarithm).
  98. ลอกเลน
    หมายถึง ก. โกยเลนขึ้น.
  99. ลอกแลก
    หมายถึง ว. แสดงอาการหลุกหลิกเป็นต้น เหลียวซ้ายแลขวาอยู่ตลอดเวลา ถือกันว่าเป็นกิริยาไม่สุภาพหรือบางทีก็ส่อพิรุธด้วย.
  100. ลอง
    หมายถึง ก. กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าเป็นอย่างไร เช่น ลองชิมผลไม้ว่าจะมีรสชาติอย่างไร, กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าเป็นอะไรหรือใช่หรือไม่ เช่น ลองชิมก้อนขาว ๆ ว่าเป็นเกลือหรือน้ำตาล; ทดสอบความสามารถหรือคุณภาพว่าพอดีหรือเหมาะสมหรือไม่ เช่น ลองเสื้อ ลองแว่น ลองรองเท้า ลองกำลัง ลองรถ; หยั่งท่าที เช่น ลองชวนเขาไปเที่ยวซิ ลองเกี้ยวเขาดู.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ล (หน้าที่ 2)"