พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด น (หน้าที่ 7)

  1. นิติการ
    หมายถึง น. สายงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานทางกฎหมาย.
  2. นิติการณ์
    หมายถึง (กฎ; โบ) น. เหตุการณ์หรือการเป็นไป ซึ่งมีผลตามกฎหมาย, ปัจจุบันใช้ว่า นิติเหตุ.
  3. นิติธรรม
    หมายถึง น. หลักพื้นฐานแห่งกฎหมาย.
  4. นิตินัย
    หมายถึง (กฎ) น. ความหมายตามกฎหมาย (ล. de jure), ต่างกับ พฤตินัย คือ ความหมายตามข้อเท็จจริง (ล. de facto).
  5. นิติบัญญัติ
    หมายถึง (กฎ) น. การบัญญัติกฎหมาย.
  6. นิติบุคคล
    หมายถึง (กฎ) น. กลุ่มบุคคล องค์กร หรือทรัพย์สินที่จัดสรรไว้เป็นกองทุนเพื่อดำเนินกิจการอันใดอันหนึ่ง ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่มิใช่บุคคลธรรมดา นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง นอกจากนั้น นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา บริษัทจำกัด สมาคม มูลนิธิ.
  7. นิติภาวะ
    หมายถึง (กฎ) น. ความเป็นผู้มีความสามารถที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง.
  8. นิติวิทยาศาสตร์
    หมายถึง น. วิชาที่ว่าด้วยการนำหลักวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ มาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาทางกฎหมาย และการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีความ. (อ. forensic science).
  9. นิติศาสตร์
    หมายถึง น. วิชากฎหมาย. (ส.).
  10. นิติสมมติ
    หมายถึง (กฎ) น. ความที่สมมุติขึ้นในกฎหมาย.
  11. นิติสัมพันธ์
    หมายถึง (กฎ) น. ความเกี่ยวพันตามกฎหมาย.
  12. นิติเวชศาสตร์
    หมายถึง น. วิชาที่ว่าด้วยการใช้หลักทางการแพทย์ช่วยแก้ปัญหาทางกฎหมาย และการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีความ. (อ. forensic medicine).
  13. นิติเหตุ
    หมายถึง (กฎ) น. เหตุการณ์หรือการเป็นไป ซึ่งมีผลตามกฎหมาย เช่น การละเมิด, โบราณใช้ว่า นิติการณ์.
  14. นิทร
    หมายถึง [นิด] (กลอน) ก. นิทรา, นอน.
  15. นิทรรศการ
    หมายถึง [นิทัดสะกาน] น. การแสดงผลงาน สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือกิจกรรม ให้คนทั่วไปชม. (อ. exhibition).
  16. นิทรา
    หมายถึง [นิดทฺรา] น. การหลับ, การนอนหลับ. ก. หลับ, นอน, เช่น ให้หาวนิทราเป็นพ้นไป. (อิเหนา). (ส.; ป. นิทฺทา).
  17. นิทรารมณ์
    หมายถึง น. การหลับ.
  18. นิทัศน์
    หมายถึง น. ตัวอย่างที่นำมาแสดงให้เห็น, อุทาหรณ์. (ส. นิทรฺศน; ป. นิทสฺสน).
  19. นิทาฆะ
    หมายถึง (แบบ) น. ความร้อน, ความอบอ้าว; หน้าร้อน (ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน). (ป.).
  20. นิทาน
    หมายถึง น. เรื่องที่เล่ากันมา เช่น นิทานชาดก นิทานอีสป; เหตุ เช่น โรคนิทาน; เรื่องเดิม เช่น วัตถุนิทาน. (ป.).
  21. นิทานวจนะ
    หมายถึง [นิทานนะวะจะนะ] น. คำแถลงเรื่องเดิม, ข้อความเบื้องต้น. (ป.).
  22. นิธาน
    หมายถึง (แบบ) น. การฝังไว้, การบรรจุไว้; ที่ฝัง, ที่บรรจุ. (ป.).
  23. นิธิ
    หมายถึง (แบบ) น. ขุมทรัพย์. (ป., ส.).
  24. นินทา
    หมายถึง น. คำติเตียนลับหลัง. ก. ติเตียนลับหลัง. (ป., ส. นินฺทา ว่า การติเตียน).
  25. นินนะ
    หมายถึง [นิน-] น. ที่ลุ่ม. (ป.; ส. นิมฺน).
  26. นินนาท,นินาท
    หมายถึง [นินนาด, นินาด] (แบบ) น. ความกึกก้อง, การบันลือ. (ป. นินฺนาท; ส. นินาท).
  27. นินหุต
    หมายถึง [นินนะหุด] (แบบ) น. ชื่อสังขยา คือ ๑ มี ๐ ตามหลัง ๓๕ ตัว. (ป. นินฺนหุต).
  28. นิบาต
    หมายถึง [-บาด] น. เรียกคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาประเภทหนึ่งที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดหรือชาดกต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน เช่น สุตตนิบาต = คัมภีร์ที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน นิบาตชาดก = คัมภีร์ที่รวบรวมชาดกต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกไว้ด้วยกัน โดยแบ่งย่อยเป็นหมวดต่าง ๆ; หมวดธรรม, ชุมนุมหลักธรรม, เช่น เอกนิบาต = หมวดหรือชุมนุมหลักธรรมที่มี ๑ ข้อ ทุกนิบาต = หมวดหรือชุมนุมหลักธรรมที่มี ๒ ข้อ; (ไว) ศัพท์ประเภทหนึ่ง สำหรับใช้เติมลงข้างหน้าหรือข้างหลังคำหรือข้อความเพื่อเน้นความ ไขความ ยอมความอย่างไม่เต็มใจเป็นต้น เช่น ก็ดี ก็ตาม หรือใช้เป็นคำขึ้นต้นข้อความใหม่ต่อจากข้อความเดิม เช่น ก็แหละ. (ป., ส. นิปาต).
  29. นิบาตชาดก
    หมายถึง น. คัมภีร์ที่รวบรวมชาดกต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกไว้ด้วยกัน โดยแบ่งย่อยเป็นหมวดต่าง ๆ เช่น เอกกนิบาตชาดก ทุกนิบาตชาดก.
  30. นิปริยาย
    หมายถึง [นิปะริยาย] (แบบ) น. ความไม่อ้อมค้อม, ความตรง. (ตรงกันข้ามกับ ปริยาย = อย่างอ้อม). ว. สิ้นเชิง. (ป. นิปฺปริยาย).
  31. นิปัจการ
    หมายถึง [นิปัดจะกาน] น. การเคารพ. (ป. นิปจฺจการ).
  32. นิพจน์
    หมายถึง (คณิต) น. สัญลักษณ์ที่แทนหลาย ๆ พจน์บวกหรือลบกัน. (อ. expression).
  33. นิพนธ์
    หมายถึง น. เรื่องที่แต่งขึ้น, (ราชา) พระนิพนธ์, พระราชนิพนธ์. ก. ร้อยกรองถ้อยคำ, แต่งหนังสือ, (ราชา) ทรงนิพนธ์, ทรงพระนิพนธ์, ทรงพระราชนิพนธ์. (ป., ส. นิพนฺธ).
  34. นิพพาน
    หมายถึง [นิบพาน] น. ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์. ก. ดับกิเลสและกองทุกข์, ตาย (ใช้แก่พระอรหันต์). (ป.; ส. นิรฺวาณ), โบราณใช้ว่า นิรพาณ ก็มี. (จารึกสยาม).
  35. นิพพิทา
    หมายถึง [นิบพิทา] น. ความเบื่อหน่ายในกองทุกข์. (ป.).
  36. นิพพิทาญาณ
    หมายถึง น. ความรู้ที่ทำให้เบื่อหน่ายในกองทุกข์. (ป.).
  37. นิพัทธ,นิพัทธ-,นิพัทธ์
    หมายถึง [นิพัดทะ-, นิพัด] (แบบ) ว. เนือง ๆ, เสมอ, เนื่องกัน. (ป.).
  38. นิพัทธกุศล
    หมายถึง [นิพัดทะ-] น. กุศลที่ทำเป็นนิจ.
  39. นิพันธ์
    หมายถึง น. นิพนธ์, เรื่องที่แต่งขึ้น. ก. ร้อยกรองถ้อยคำ, แต่งหนังสือ. (ป., ส.).
  40. นิพิท,นิเพท
    หมายถึง [นิพิด, นิเพด] (แบบ) ก. ให้รู้ชัด, บอก. (ป. นิ + วิท).
  41. นิภา
    หมายถึง น. แสง, แสงสว่าง. (ป., ส.). (แบบ) ก. เทียม, เสมอ, เทียบ. (ป., ส. นิภ).
  42. นิมนต์
    หมายถึง ก. เชิญ, เชื้อเชิญ, (ใช้แก่พระภิกษุและสามเณร). (ป. นิมนฺต; ส. นิมนฺตฺร).
  43. นิมมาน
    หมายถึง น. การสร้าง, การแปลง, การทำ, การวัดส่วน. (ป.; ส. นิรฺมาณ).
  44. นิมมานรดี
    หมายถึง [นิมมานะระดี, นิมมานอระดี] น. ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๕ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชหรือจาตุมหาราชิกหรือจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี, มีท้าวสุนิมมิตเป็นผู้ครอง, ในบทกลอนใช้ว่า นิมมานรดีต ก็มี เช่น ช่อชั้นนิมมานรดีต. (อิเหนา). (ป.; ส. นิรฺมาณ + รติ).
  45. นิมิต
    หมายถึง ก. นิรมิต, สร้าง, แปลง, ทำ. (ป. นิมฺมิต; ส. นิรฺมิต).
  46. นิมิต
    หมายถึง น. เครื่องหมาย, ลาง, เหตุ, เค้ามูล; (แบบ) อวัยวะสืบพันธุ์. (ป., ส. นิมิตฺต).
  47. นิยต,นิยต-
    หมายถึง [-ยด, -ยะตะ-] (แบบ) ก. กำหนด เช่น พระพเนจรจรหลํ่า ได้หลายคํ่าหลายวัน ถึงแดนอันจะนิยต. (ลอ). (แบบ) ว. เที่ยง, แท้, แน่. (ป., ส.); (การศึกษา) ตระหนักแน่, เป็นที่ยอมรับ, เชิงสร้างสรรค์, ทางบวก. (อ. positive).
  48. นิยม
    หมายถึง (แบบ) น. การกำหนด. (ป., ส.). ก. ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ถ้าใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำมีความหมายว่า ลัทธิ เช่น ชาตินิยม สังคมนิยม.
  49. นิยมนิยาย
    หมายถึง (ปาก) น. ความแน่นอน, ใช้ในความปฏิเสธว่า เอานิยมนิยายไม่ได้ หมายความว่า หาความแน่นอนจริงจังอะไรไม่ได้.
  50. นิยยานะ
    หมายถึง [นิยะ-] (แบบ) น. การนำออกไป, การออกไป. (ป.; ส. นิรฺยาณ).
  51. นิยยานิก,นิยยานิก-
    หมายถึง [นิยะยานิกะ-] (แบบ) ว. ที่นำออกไปจากทุกข์ เช่น นิยยานิกธรรม คือ ธรรมที่นำสัตว์ออกจากทุกข์. (ป., ส. นิรฺยาณิก).
  52. นิยัตินิยม
    หมายถึง [นิยัดติ-] น. ลัทธิความเชื่อที่ว่า การกระทำทุกอย่างของมนุษย์หรือเหตุการณ์ทั้งหลายได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว. (อ. determinism).
  53. นิยาม
    หมายถึง [-ยาม] (แบบ) น. การกำหนด, ทาง, อย่าง, วิธี. ก. กำหนดหรือจำกัดความหมายที่แน่นอน. (ป., ส.).
  54. นิยาย
    หมายถึง น. เรื่องที่เล่ากันมา.
  55. นิยุต
    หมายถึง (แบบ) น. สังขยาจำนวนสูงเท่ากับล้าน. (ป.).
  56. นิยุต
    หมายถึง (แบบ) ก. ประกอบ, เทียม, ทำให้แน่น. (ป. นิยุตฺต).
  57. นิร,นิร-
    หมายถึง [-ระ-] ว. คำประกอบหน้าคำอื่น แปลว่า ไม่, ไม่มี, ออก.
  58. นิรคุณ
    หมายถึง [-ระ-] ว. ไม่มีลักษณะดี, ไม่มีคุณ, เลว, ชั่วร้าย; เนรคุณ, ไม่รู้คุณ. (ส.).
  59. นิรชร
    หมายถึง [-ระชอน] (แบบ) น. เทวดา. (ส.).
  60. นิรชรา
    หมายถึง [-ระชะรา] (แบบ) น. นางอัปสร. (ส.).
  61. นิรทุกข์
    หมายถึง [-ระ-] ว. ไม่มีทุกข์.
  62. นิรนัย
    หมายถึง [-ระไน] น. วิธีการใช้เหตุผลที่ดำเนินจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย, คู่กับ อุปนัย. (อ. deduction).
  63. นิรนาม
    หมายถึง [-ระนาม] ว. ไม่รู้ว่าชื่ออะไร.
  64. นิรภัย
    หมายถึง [-ระไพ] ว. ไม่มีภัย, แคล้วคลาดจากภัยอันตราย. (ส.).
  65. นิรมล
    หมายถึง [-ระมน] ว. ไม่มีมลทิน, ไม่มัวหมอง, ผ่องใส; โดยปริยายหมายความว่า หญิงสวย, หญิงงาม. (ส.).
  66. นิรมาณ
    หมายถึง [-ระมาน] (แบบ) น. การสร้าง, การแปลง, การทำ, การวัดส่วน. (ส.).
  67. นิรมาณกาย
    หมายถึง [-ระมานนะกาย] น. กายที่ประกอบด้วยขันธ์ ๕ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอันเปลี่ยนแปลงไปเหมือนสิ่งที่ประกอบด้วยขันธ์ ๕ อื่น ๆ, ตามคติมหายานเชื่อว่า เป็นรูปปรากฏของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า คือ ธรรมกาย.
  68. นิรมาน
    หมายถึง [-ระมาน] (แบบ) ว. ปราศจากการถือรั้น, ไม่มีความดื้อดึง, ไม่ถือตัว.
  69. นิรมิต
    หมายถึง [-ระมิด] ก. นิมิต, เนรมิต, สร้าง, แปลง, ทำ, บันดาลให้เป็นขึ้นมีขึ้น. (ส. นิรฺมิต; ป. นิมฺมิต).
  70. นิรย,นิรย-
    หมายถึง [-ระยะ-] (แบบ) น. นรก. (ป.).
  71. นิรยบาล
    หมายถึง น. ผู้คุมนรก. (ป.).
  72. นิระ
    หมายถึง (แบบ) น. นํ้า. (ป., ส. นีร).
  73. นิรัติศัย
    หมายถึง [-รัดติไส] (แบบ) ว. พิเศษยิ่ง, ประเสริฐยิ่ง. (ส. นิรฺ + อติศย).
  74. นิรันดร,นิรันตร,นิรันตร-
    หมายถึง [-รันดอน, -รันตะระ-] ว. ตลอดไปไม่เว้นว่าง, ติดต่อกันตลอดไป. (ป.).
  75. นิรันตราย
    หมายถึง [-รันตะราย] (แบบ) ว. ปราศจากอันตราย. (ป.).
  76. นิรัพพุท
    หมายถึง [-รับพุด] น. สังขยาจำนวนสูง เท่ากับ ๑ มี ๐ ตามหลัง ๖๓ ตัว บ้างว่า ๑๐๐ ล้าน. (ป.).
  77. นิรา
    หมายถึง (กลอน) ก. ไปจาก. ว. ไม่มี. (ส. นิรฺ).
  78. นิราพาธ
    หมายถึง [-พาด] (แบบ) ว. ไม่มีความเจ็บไข้. (ป., ส.).
  79. นิรามัย
    หมายถึง [-ไม] (แบบ) ว. ไม่มีโรค, สบาย, เป็นสุข. (ป., ส.).
  80. นิรามิษ
    หมายถึง [-มิด] (แบบ) ว. ไม่มีเหยื่อ, ไม่มีเครื่องล่อใจ, ไม่รับสินบน; ปราศจากความยินดีอันเป็นเครื่องล่อใจ. (ส.).
  81. นิราลัย
    หมายถึง [-ไล] (แบบ) ว. ไม่มีที่อยู่, ไม่มีที่ห่วงใย. (ป.).
  82. นิราศ
    หมายถึง [-ราด] ก. ไปจาก, ระเหระหน, ปราศจาก. น. เรื่องราวที่พรรณนาถึงการจากกันหรือจากที่อยู่ไปในที่ต่าง ๆ เป็นต้น มักแต่งเป็นกลอนหรือโคลง เช่น นิราศนรินทร์ นิราศเมืองแกลง. (ส.).
  83. นิราศ
    หมายถึง [-ราด] ก. ปราศจากความหวัง, ไม่มีความต้องการ, หมดอยาก, เฉยอยู่. (ส.; ป. นิราสา).
  84. นิราศรพ
    หมายถึง [-สบ] (แบบ) ว. ไม่มีเครื่องหมักหมมในสันดาน, หมดมลทิน, หมายถึง พระอรหันต์. (ส. นิราศรฺว).
  85. นิราศรัย
    หมายถึง [-ไส] (แบบ) ว. ไม่อยู่เป็นที่, ไม่ติดอยู่กับที่. (ส.).
  86. นิรินธนพินาศ
    หมายถึง [-รินทะนะ-] น. ความหมดสิ้นอย่างไฟขาดเชื้อ คือ ไม่ลุกลามได้อีก (มักใช้เปรียบถึงความดับกิเลสของพระอรหันต์).
  87. นิรินธน์
    หมายถึง [-ริน] (แบบ) ว. ไม่มีเชื้อ (ใช้แก่ไฟ). (ป.).
  88. นิรุกติ
    หมายถึง น. ภาษา, คำพูด. (ส.; ป. นิรุตฺติ).
  89. นิรุกติศาสตร์
    หมายถึง น. วิชาว่าด้วยที่มาและความหมายของคำ. (ส.).
  90. นิรุตติ
    หมายถึง น. ภาษา, คำพูด. (ป.; ส. นิรุกฺติ).
  91. นิรุตติปฏิสัมภิทา
    หมายถึง น. ปฏิสัมภิทา ๑ ใน ๔ อย่าง คือ ๑. อรรถปฏิสัมภิทา ๒. ธรรมปฏิสัมภิทา ๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา หมายถึง ปัญญาอันแตกฉานในนิรุตติ คือ ความเข้าใจในภาษา รู้จักใช้ถ้อยคำพูดอธิบายให้คนเข้าใจ ตลอดจนรู้ภาษาต่าง ๆ อาจชักนำคนให้เชื่อถือหรือนิยมตามคำพูด, กล่าวสั้น ๆ ว่า เข้าใจพูด. (ป.).
  92. นิรุทกะ
    หมายถึง [-รุทะกะ] (แบบ) ว. ไม่มีนํ้า. (ป.).
  93. นิรุทธ์
    หมายถึง (แบบ) ก. ดับแล้ว. (ป.).
  94. นิรเทศ
    หมายถึง [-ระ-] (กลอน) ก. เนรเทศ, ขับไล่ออกจากที่เดิม. (ส. นิรฺ + เทศ).
  95. นิรโฆษ
    หมายถึง [-ระโคด] (แบบ) น. เสียงดัง, เสียงกึกก้อง. ว. ไม่มีเสียง, เงียบ, สงบ, สงัด. (ส.).
  96. นิรโทษ
    หมายถึง [-ระโทด] ว. ไม่มีโทษ.
  97. นิรโทษกรรม
    หมายถึง [นิระโทดสะกำ] (กฎ) น. ตามกฎหมายแพ่ง หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย; ตามกฎหมายอาญา หมายถึง การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด.
  98. นิล
    หมายถึง [นิน] น. ชื่อปลานํ้าจืดชนิด Tilapia nilotica ในวงศ์ Cichlidae ลำตัวสีเขียวอมนํ้าตาลหรือเหลือง มีจุดดำด่างทั่วตัว ปลาขนาดเล็กจะมีลายเข้มพาดขวางลำตัว ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีลายหรือแนวจุดสีคลํ้าหรือขาวพาดขวางหรือทแยงอยู่โดยตลอด ขนาดยาวได้ถึง ๔๖ เซนติเมตร ทำรังเป็นแอ่งดินและปกป้องดูแลลูกอ่อนไว้ในโพรงปาก นำมาจากต่างประเทศเพื่อเลี้ยงเป็นอาหาร.
  99. นิล,นิล,นิล-
    หมายถึง [นิน, นินละ-] น. พลอยชนิดหนึ่ง มีสีดำ ถ้าสีนํ้าเงินแก่ เรียก นิลสีดอกผักตบ. ว. สีอย่างนิล เรียกว่า สีนิล เช่น ตาสีนิล. (ป., ส. นีล).
  100. นิลบัตร
    หมายถึง [นินละ-] น. พิษซางอย่างหนึ่งมีสีดำที่โคนแขนเป็นแผ่นเดียว.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด น (หน้าที่ 7)"