พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ค (หน้าที่ 9)

  1. คำตาย
    หมายถึง น. คำสระสั้นที่ไม่มีตัวสะกดพวกหนึ่ง และคำในมาตรา กก กด กบ.
  2. คำทาย
    หมายถึง น. ปัญหาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทายว่าได้แก่อะไร มีคำว่า อะไรเอ่ยอยู่ข้างหน้าเสมอ เช่นอะไรเอ่ย ต้นเท่าครก ใบปกดิน, มักใช้เข้าคู่กับคำ ปริศนา เป็น ปริศนาคำทาย.
  3. คำนวณ
    หมายถึง ก. กะประมาณ, คิดหาผลลัพธ์โดยวิธีเลข.
  4. คำนวร
    หมายถึง [-นวน] (แบบ) ว. ควร, ถูกต้อง, เหมาะ, พอดี ๆ, ชอบ, เช่น คิดคิ้วคำนวรนวย คือธนูอันก่งยง. (สมุทรโฆษ).
  5. คำนับ
    หมายถึง ก. ทำความเคารพ, ทำความเคารพโดยก้มศีรษะให้. (โบ) น. คำที่ต้องนับถือ, หลักฐาน, เช่น ธก็ให้โกษาธิบดีลำดับคำนับนี้ไว้. (ม. คำหลวง นครกัณฑ์).
  6. คำนับ
    หมายถึง ก. มิดชิด เช่น บมิให้เห็นรูเห็นช่อง ที่ล่องลับคำนับนิแล้ว. (ม. คำหลวง ชูชก).
  7. คำนัล
    หมายถึง (กลอน) ก. เฝ้าเจ้านาย. (ข. คํนาล่).
  8. คำนำ
    หมายถึง น. คำอธิบายหรือชี้แจงเหตุที่เขียนหรือพิมพ์หนังสือเรื่องนั้นขึ้น.
  9. คำนำหน้าชื่อ
    หมายถึง น. คำที่ใช้นำหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงสถานภาพ ตำแหน่งทางวิชาการ ยศ บรรดาศักดิ์ หรือฐานันดรศักดิ์, คำนำหน้านาม ก็เรียก.
  10. คำนำหน้านาม
    หมายถึง น. คำที่ใช้นำหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงสถานภาพ ตำแหน่งทางวิชาการ ยศ บรรดาศักดิ์ หรือฐานันดรศักดิ์, คำนำหน้าชื่อ ก็เรียก.
  11. คำนึง
    หมายถึง ก. คิดทบทวน, นึกตรอง, คะนึง ก็ว่า.
  12. คำนูณ
    หมายถึง ก. คูณ, ทบ, ทำให้มากขึ้นตามส่วน.
  13. คำบอกกล่าว
    หมายถึง (กฎ) น. ข้อความที่บุคคลฝ่ายหนึ่งแจ้งเป็นหนังสือ หรือแจ้งด้วยวาจา ไปยังบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง แสดงเจตนาที่จะใช้สิทธิ สงวนสิทธิ หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คำบอกกล่าวสนองในการทำสัญญา คำบอกกล่าวเลิกสัญญา คำบอกกล่าวว่าจะบังคับจำนอง, การส่งตั๋วแลกเงินที่เขาไม่รับรองคืน ก็ถือว่า เป็นการให้คำบอกกล่าวอย่างหนึ่ง.
  14. คำบังคับ
    หมายถึง (กฎ) น. คำสั่งของศาลซึ่งออกเพื่อสั่งให้คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง.
  15. คำประสม
    หมายถึง น. คำที่เกิดจากการนำคำมูลที่เกิดอิสระได้ตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมาประสมกันแล้วกลายเป็นคำใหม่ที่มีความหมายใหม่ขึ้นมาอีกคำหนึ่ง เช่น ลูกเสือ ลูกน้ำ แขกยาม เครื่องใน ไฟฟ้า.
  16. คำประสาน
    หมายถึง น. คำที่เกิดจากการนำคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมาประกอบกัน อาจเป็นคำที่เกิดอิสระไม่ได้ ๒ คำมาประกอบกัน เช่น ชดช้อย ครื้นเครง หรือเป็นคำที่เกิดอิสระไม่ได้คำหนึ่งประกอบกับคำที่เกิดอิสระได้อีกคำหนึ่ง เช่น ชาวไร่ อ่อนช้อย, คำผสาน ก็เรียก.
  17. คำปรารภ
    หมายถึง น. คำกล่าวแสดงความดำริที่จัดพิมพ์หนังสือนั้น.
  18. คำผวน
    หมายถึง น. คำที่พูดทวนกลับได้ เช่น ตกที่อิฐ ผวนเป็น ติดที่อก.
  19. คำผสาน
    หมายถึง ดู คำประสาน.
  20. คำฝอย
    หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Carthamus tinctorius L. ในวงศ์ Compositae ดอกใช้ทำยาได้.
  21. คำพิพากษา
    หมายถึง (กฎ) น. คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลในประเด็นแห่งคดีที่ฟ้องต่อศาล.
  22. คำพิพากษาฎีกา
    หมายถึง (กฎ) น. คำพิพากษาของศาลฎีกา.
  23. คำพ้องความ
    หมายถึง คำที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาก เช่น โคกับวัว ควายกับกระบือ มนุษย์กับคน, ไวพจน์ ก็ว่า
  24. คำพ้องรูป
    หมายถึง คำที่เขียนเหมือนกันแต่มีความหมายต่างกัน เช่น ขัน (น้ำ) กับ (ไก่) ขัน คู (ร่องน้ำ) กับ (นกเขา) คู.
  25. คำพ้องเสียง
    หมายถึง คำที่ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกันและมีความหมายต่างกัน เช่น ใส-ไส-ไสย กาน-กาล-การ-การณ์ (โบ) ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เรียกคำพ้องเสียงว่า ไวพจน์
  26. คำฟ้อง
    หมายถึง (กฎ) น. กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะเสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะเสนอต่อศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไขหรือฟ้องแย้ง หรือโดยสอดเข้ามาในคดี ไม่ว่าด้วยสมัครใจหรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่.
  27. คำฟ้องแย้ง
    หมายถึง (กฎ) น. คำฟ้องที่จำเลยฟ้องโจทก์มาในคำให้การในเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์, ฟ้องแย้ง ก็ว่า เช่น ยกฟ้องแย้ง.
  28. คำมั่น
    หมายถึง (กฎ) น. การแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของผู้ให้คำมั่นที่มีผลผูกพันผู้ให้คำมั่นเมื่อมีผู้แสดงเจตนารับรู้ที่สอดคล้องกับคำมั่น อันเป็นความผูกพันก่อนเกิดสัญญาที่มุ่งประสงค์จะทำระหว่างกัน เช่น คำมั่นว่าจะซื้อหรือขาย คำมั่นไม่จำเป็นต้องมีการเสนอให้มีการตกลงทำสัญญาเสมอไป อาจมีผู้แสดงเจตนารับรู้ที่สอดคล้องกับคำมั่นหรือไม่มีผู้แสดงเจตนารับรู้ก็นับว่าเป็นคำมั่นได้ เช่น คำมั่นว่าจะให้รางวัล.
  29. คำมั่นว่าจะให้รางวัล
    หมายถึง (กฎ) น. คำมั่นที่บุคคลออกโฆษณาว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอันใดสำเร็จดังที่บ่งไว้ในคำมั่น.
  30. คำมูล
    หมายถึง น. คำคำเดียวที่ไม่ได้ประสมกับคำอื่น เช่น ยาม แขก นาฬิกา.
  31. คำรน
    หมายถึง ก. คำราม, กระหึม.
  32. คำรบ
    หมายถึง น. ครั้งที่ เช่น เป็นคำรบ ๓.
  33. คำราม
    หมายถึง ก. ทำเสียงขู่ เช่น เสือคำราม.
  34. คำร้อง
    หมายถึง (กฎ) น. (๑) คำขอที่ยื่นต่อทางราชการ เพื่อให้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้ร้อง. (๒) คำขอที่คู่ความยื่นต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง, คำร้องขอ ก็ว่า. (อ. request).
  35. คำร้อง
    หมายถึง น. คำประพันธ์สำหรับขับร้อง, เนื้อร้อง บทเพลง หรือ บทร้อง ก็ว่า.
  36. คำร้องขอ
    หมายถึง (กฎ) ดู คำร้อง ๑ (๒).
  37. คำร้องทุกข์
    หมายถึง (กฎ) น. คำกล่าวหาที่ผู้เสียหายได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า มีผู้กระทำความผิด ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย โดยเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ; เรื่องที่ผู้ร้องทุกข์ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา.
  38. คำสกรรถ
    หมายถึง ดู สกรรถ.
  39. คำสร้อย
    หมายถึง น. คำหรือวลีที่ใช้ลงท้ายวรรค ท้ายบาท หรือท้ายบทร้อยกรอง เพื่อความไพเราะของเสียงและความหมาย หรือเพื่อแสดงว่าจบตอน เช่น นาเฮย ฤๅ บารนี แก่แม่นา โสตถิ์เทอญ.
  40. คำสุภาพ
    หมายถึง (ฉันทลักษณ์) น. คำที่ไม่ผันด้วยวรรณยุกต์ทั้ง ๔.
  41. คำหลวง
    หมายถึง น. คำประพันธ์ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ มีโคลงฉันท์กาพย์กลอนปนกัน คือ มหาชาติคำหลวงและพระนลคำหลวง, คำประพันธ์ที่แต่งมีลักษณะอย่างมหาชาติคำหลวง คือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง และพระมาลัยคำหลวง.
  42. คำเติม
    หมายถึง น. คำที่เติมข้างหน้า ตรงกลาง หรือ ข้างหลัง ของคำตั้งในภาษาคำติดต่อ.
  43. คำเทียบ
    หมายถึง น. แบบสอนอ่านที่แจกตามรูปตามมาตรา ก กา กง กน ฯลฯ เช่น ก กา กิ กี ฯลฯ เป็นคำเทียบของแม่ ก กา กง กัง กาง กิง ฯลฯ เป็นคำเทียบของแม่ กง.
  44. คำเป็น
    หมายถึง น. คำสระยาวที่ไม่มีตัวสะกด และคำในมาตรา กง กน กม เกย เกอว.
  45. คำเผดียงสงฆ์
    หมายถึง น. ญัตติ, คำประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจของสงฆ์ร่วมกัน.
  46. คำเพลิง
    หมายถึง [-เพฺลิง] น. ปืน. (ข. กำเภลิง).
  47. คำเมือง
    หมายถึง น. ภาษาถิ่นของคนในถิ่นพายัพของประเทศไทย.
  48. คำแถลง
    หมายถึง [-ถะแหฺลง] (กฎ) น. คำชี้แจงต่อศาลด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง.
  49. คำแถลงการณ์
    หมายถึง (กฎ) น. คำแถลงด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งกระทำหรือยื่นต่อศาลด้วยมุ่งหมายที่จะเสนอความเห็นต่อศาลในข้อความในประเด็นที่ได้ยกขึ้นอ้างในคำคู่ความหรือในปัญหาข้อใดที่ศาลจะพึงมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งในข้อเหล่านี้คู่ความฝ่ายนั้นเพียงแต่แสดง หรือกล่าวทบทวนหรือยืนยันหรืออธิบายข้อความแห่งคำพยานหลักฐานและปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งปวง.
  50. คำแสด
    หมายถึง น. (๑) ชื่อไม้พุ่มชนิด Bixa orellana L. ในวงศ์ Bixaceae เมล็ดใช้ย้อมผ้า, แสด ก็เรียก. (๒) ดู แทงทวย.
  51. คำแหง
    หมายถึง [-แหงฺ] ว. กำแหง, แข็งแรง, กล้าแข็ง, เข้มแข็ง.
  52. คำโท
    หมายถึง (ฉันทลักษณ์) น. คำที่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์โทกำกับอยู่ไม่ว่าคำนั้นจะเป็นเสียงวรรณยุกต์ใด เป็นคำบังคับในการแต่งโคลง เช่น ข้า คว้า แล้ว.
  53. คำโบล
    หมายถึง (โบ) ก. ลูบ, ลูบคลำ, ลูบไล้. (ดู กำโบล).
  54. คำโอง
    หมายถึง ก. โอ่โถง; อวดอ้าง.
  55. คำโอง
    หมายถึง น. เนื้อตัวผู้.
  56. คำใต้
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ) น. ชื่อไม้ต้นขนาดเล็กชนิด Acacia farnesiana (L.) Willd. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีเหลือง เป็นพุ่ม ต้นมีหนาม, กระถินหอม ก็เรียก.
  57. คำไวพจน์
    หมายถึง ดู ไวพจน์
  58. คิก ๆ
    หมายถึง ว. เสียงหัวเราะเบา ๆ.
  59. คิง
    หมายถึง (ถิ่น) น. ร่างกาย เช่น รทวยรแถ้ง คิงคมกล้องแกล้ง. (สุธนู).
  60. คิด
    หมายถึง ก. ทำให้ปรากฏเป็นรูปหรือประกอบให้เป็นรูปหรือเป็นเรื่องขึ้นในใจ; ใคร่ครวญ, ไตร่ตรอง, เช่น เรื่องนี้ยากยังคิดไม่ออก; คาดคะเน เช่น คิดว่าเย็นนี้ฝนอาจจะตก; คำนวณ เช่น คิดเลขในใจ; มุ่ง, จงใจ, ตั้งใจ, เช่น อย่าคิดร้ายเขาเลย; นึก เช่น คิดละอาย.
  61. คิดการใหญ่
    หมายถึง ก. คิดจะทำการใหญ่เกินตัว.
  62. คิดคด
    หมายถึง ก. คิดทรยศ.
  63. คิดค้น
    หมายถึง ก. ตริตรองเพื่อหาความจริง.
  64. คิดตก
    หมายถึง ก. พิจารณาจนเห็นจริงแล้วปล่อยไปตามสภาพ; คิดสำเร็จ.
  65. คิดถึง
    หมายถึง ก. นึกถึง, นึกถึงด้วยใจผูกพัน.
  66. คิดมาก
    หมายถึง ก. คิดเกินกว่าเหตุ, รู้สึกสะเทือนใจง่าย.
  67. คิดลึก
    หมายถึง ก. คิดไกลเกินกว่าธรรมดา.
  68. คิดสมบัติบ้า
    หมายถึง ก. คิดมั่งมีอย่างเลื่อนลอย.
  69. คิดสั้น
    หมายถึง ก. คิดทำลายตนเองเพราะหาทางออกไม่ได้.
  70. คิดหน้าคิดหลัง
    หมายถึง ก. คิดอย่างรอบคอบ.
  71. คิดอ่าน
    หมายถึง ก. ตริตรองหาทางแก้ไข.
  72. คิดเล็กคิดน้อย
    หมายถึง ก. คิดละเอียดถี่ถ้วนเกินไป ไม่ยอมเสียเปรียบใคร.
  73. คิดเห็น
    หมายถึง ก. เข้าใจ.
  74. คิดไว
    หมายถึง ก. คิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้รวดเร็ว.
  75. คิมหะ,คิมหานะ
    หมายถึง [คิม-] (แบบ) น. ฤดูร้อน. (ป.).
  76. คิมหันต์
    หมายถึง น. ฤดูร้อน.
  77. คิริ,คิรี
    หมายถึง น. ภูเขา. (ป., ส. คิริ).
  78. คิลาน,คิลาน-,คิลานะ
    หมายถึง [คิลานะ-] น. คนเจ็บ. (ป.).
  79. คิลานปัจจัย
    หมายถึง น. ปัจจัยสำหรับคนไข้, วัตถุเป็นเครื่องอาศัยของผู้เจ็บไข้, ยารักษาโรค. (ป.).
  80. คิลานเภสัช
    หมายถึง น. ยารักษาโรค. (ป. คิลาน + เภสชฺช).
  81. คิว
    หมายถึง (ปาก) น. ลูกบาศก์ เช่น นํ้า ๕ คิว, เรียกเต็มว่า คิวบิก เช่น คิวบิกเมตร คิวบิกฟุต. (อ. cubic).
  82. คิว
    หมายถึง น. แถวตามลำดับก่อนหลัง เช่น เข้าคิว คิวรถ. (อ. queue).
  83. คิ้ว
    หมายถึง น. ส่วนโค้งขอบกระบอกตาข้างบนซึ่งมีขนขึ้นที่โค้งนั้น; ไม้ที่ช่างลอกเป็นลวดสำหรับประกอบขอบหรือริมประตูหน้าต่างเป็นต้น, เรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น คิ้วรถยนต์; เรียกพายที่ทำเป็นลวดในใบพายว่า พายคิ้ว.
  84. คิ้วนาง
    หมายถึง น. ชื่อไม้เถาชนิด Bauhinia winitii Craib ในวงศ์ Leguminosae ฝักแบนกว้างและโค้ง ดอกสีขาว รากใช้กินกับหมากต่างสีเสียด, อรพิม ก็เรียก.
  85. คีต
    หมายถึง [คีด] (แบบ) น. เพลงขับ, การขับร้อง, เช่น แลคีตสำเนียงบรรสาน. (สมุทรโฆษ). (ป., ส.).
  86. คีต-
    หมายถึง [คีตะ-] (แบบ) น. เพลงขับ, การขับร้อง, เช่น แลคีตสำเนียงบรรสาน. (สมุทรโฆษ). (ป., ส.).
  87. คีตกะ
    หมายถึง [คีตะกะ] (แบบ) น. เพลงขับ, การขับร้อง, เช่น แลคีตสำเนียงบรรสาน. (สมุทรโฆษ). (ป., ส.).
  88. คีตะ
    หมายถึง [คีตะ] (แบบ) น. เพลงขับ, การขับร้อง, เช่น แลคีตสำเนียงบรรสาน. (สมุทรโฆษ). (ป., ส.).
  89. คีบ
    หมายถึง ก. เอาปลายสิ่งที่เป็นง่ามเช่นคีมหรือปลายไม้ ๒ อันจับสิ่งอื่นให้อยู่.
  90. คีม
    หมายถึง น. เครื่องมือชนิดหนึ่งมี ๒ ขาคล้ายกรรไตรสำหรับคีบของต่างมือ ทำด้วยเหล็กเป็นต้น.
  91. คีรี
    หมายถึง น. ภูเขา. (ป., ส. คิริ).
  92. คีรีบูน
    หมายถึง น. ชื่อนกขนาดเล็กในวงศ์ Fringillidae มีหลายชนิดและหลายสี ถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปยุโรป กินเมล็ดพืช เป็นนกเลี้ยงใส่กรงไว้ฟังเสียงร้องซึ่งไพเราะ ที่นิยมคือ ชนิดสีเหลือง (Serinus pusillus) และชนิดสีชมพู (Carpodacus erythrinus).
  93. คี่
    หมายถึง ว. จำนวนที่หารด้วย ๒ ไม่ลงตัว, เดี่ยว, ตรงข้ามกับ คู่.
  94. คึก
    หมายถึง ว. คะนอง, ลำพอง, ร่าเริง, ฮึก ก็ว่า.
  95. คึกคัก
    หมายถึง ว. แข็งแรง, กระปรี้กระเปร่า, มีชีวิตชีวา, เช่น ดูท่าทางคึกคัก; ลักษณะที่มีผู้คนพลุกพล่านเข้า ๆ ออก ๆ มากกว่าปรกติ เช่น บ้านนี้มีผู้คนคึกคัก.
  96. คึกคาม
    หมายถึง ก. คึกคะนอง.
  97. คึ่ก,คึ่ก ๆ
    หมายถึง ว. เสียงดังเช่นนั้น เช่น เสียงลมพัดคึ่ก ๆ.
  98. คืน
    หมายถึง ก. กลับเข้าสู่ภาวะหรือฐานะเดิม. ว. กลับดังเดิม เช่น ได้คืน กลับคืน ส่งคืน.
  99. คืน
    หมายถึง น. ระยะเวลาตั้งแต่ยํ่าคํ่าถึงยํ่ารุ่ง, เวลากลางคืน.
  100. คืนคำ
    หมายถึง ก. พูดว่าจะให้แล้วไม่ให้.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ค (หน้าที่ 9)"