พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ข (หน้าที่ 3)

  1. ขลาย
    หมายถึง [ขฺลาย] น. ชื่อไม้ต้นขนาดย่อมถึงขนาดกลาง ขึ้นอยู่ตามป่าตํ่าทางภาคกลางของไทย ไม้ใช้ทำฟืนกันมาก เช่น คุดคุยขลู่ขลาย. (สมุทรโฆษ).
  2. ขลิบ
    หมายถึง [ขฺลิบ] ก. เย็บหุ้มริมผ้าและของอื่น ๆ เพื่อกันลุ่ยหรือเพื่อให้งามเป็นต้น; (ถิ่น-ปักษ์ใต้) ขยิบ เช่น ขลิบตา ว่า ขยิบตา.
  3. ขลึง
    หมายถึง [ขฺลึง] (ถิ่น-ปักษ์ใต้) ว. เล่น เช่น พูดขลึง ว่า พูดเล่น.
  4. ขลุก
    หมายถึง [ขฺลุก] ว. ง่วนอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือในที่ใดที่หนึ่ง.
  5. ขลุก,ขลุก,ขลุก ๆ
    หมายถึง ว. เสียงดังเช่นนั้นอย่างเสียงไอ, ขุก หรือ ขุก ๆ ก็ว่า, เสียงดังอย่างก้อนดินกลิ้งอย่างเร็ว ในคำว่า กลิ้งขลุก ๆ.
  6. ขลุกขลัก
    หมายถึง ว. ติดกุกกักอยู่ในที่แคบ, ติดขัด, ไม่สะดวก, เสียงดังอย่างก้อนดินกลิ้งอยู่ในหม้อหรือในไห.
  7. ขลุกขลิก
    หมายถึง น. เครื่องเล่นการพนันชนิดหนึ่ง ใช้ลูกเต๋า ๓ ลูกใส่จาน มีฝาครอบเขย่าแล้วเปิดออกมานับแต้ม, เต๋าเขย่า ก็เรียก; เรียกแกงเผ็ดที่มีนํ้าน้อยและข้น เช่นแกงฉู่ฉี่หรือพะแนงเป็นต้นว่า แกงขลุกขลิก หรือ แกงมีน้ำขลุกขลิก.
  8. ขลุกขลุ่ย
    หมายถึง ว. ง่วนอยู่, คลุกคลีอยู่; (ถิ่น-ปักษ์ใต้) สบาย เช่น นอนหลับขลุกขลุ่ย ว่า นอนหลับสบาย.
  9. ขลุบ
    หมายถึง [ขฺลุบ] น. ลูกคลี, ลูกกลม ๆ สำหรับเล่นแข่งขัน, ใช้เป็น คลุบ ก็มี; เบ้ากลมรูปเหมือนขลุบ มีแบบพิมพ์ติดอยู่บนเบ้านั้นเสร็จ เมื่อทองในเบ้าละลาย ก็พลิกควํ่าให้ทองไหลลงในแบบพิมพ์นั้น เรียกว่า เบ้าขลุบ; อาวุธชนิดหนึ่ง ใช้ในการรบ เช่น ลืมระวังพลั้งเพลี่ยงมันเหวี่ยงขลุบ ถูกอกอุบจุกอัดขัดไม่หาย. (อภัย). (เทียบ ป. คุฬ ว่า ลูกกลม).
  10. ขลุม
    หมายถึง [ขฺลุม] น. เครื่องผูกปากม้าอย่างหนึ่ง.
  11. ขลุมประเจียด
    หมายถึง [ขฺลุม-] น. ชื่อช้างตระกูลหนึ่ง ในอัคนีพงศ์ ประเภทศุภลักษณ์.
  12. ขลุ่ย
    หมายถึง [ขฺลุ่ย] น. ชื่อเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งสำหรับเป่าให้เป็นเพลง มักทำด้วยไม้รวกเจาะรูตามยาวมีระยะห่างพอควร สำหรับเอานิ้วปิดและเปิดให้เป็นเพลงเมื่อเป่า มีหลายชนิด เช่น ขลุ่ยหลีบ ขลุ่ยเพียงออ, ลักษณนามว่า เลา.
  13. ขลู
    หมายถึง [ขฺลู] ดู ขลู่.
  14. ขลู่
    หมายถึง [ขฺลู่] น. ชื่อไม้พุ่มชนิด Pluchea indica (L.) Less. ในวงศ์ Compositae มักขึ้นเป็นหมู่ตามชายทะเล ใบรูปไข่ขอบจักห่าง ๆ ใช้ทำยาได้ ดอกสีม่วงอ่อน, ขลู ก็เรียก.
  15. ขล้ง
    หมายถึง [ขฺล้ง] (ถิ่น-ปักษ์ใต้) ก. เผลอไผล, หลง ๆ ลืม ๆ, เช่น แก่มากจนขล้ง. ว. ฟุ้งไป, กระจายไป, เช่นกลิ่นขล้งไปทั้งห้อง.
  16. ขล้อเงาะ
    หมายถึง [ขฺล้อ-] น. ชื่อไม้ต้นขนาดกลางชนิด Terminalia cambodiana Gagnep. ในวงศ์ Combretaceae ใบรีหรือรูปไข่ ดอกเล็ก สีขาวนวล ออกเป็นช่อเล็ก ๆ ผลมี ๕ ครีบ, คร่อเงาะ ก็เรียก.
  17. ขล้อเทียน
    หมายถึง [ขฺล้อ-] น. ชื่อไม้ต้นขนาดกลางชนิด Anogeissus rivularis (Gagnep.) O. Lec. ในวงศ์ Combretaceae ใบเล็กลักษณะคล้ายใบทับทิม กิ่งมักเรียวและย้อย ช่อดอกและผลเป็นกระจุกกลม, คร่อเทียน ก็เรียก.
  18. ขวง
    หมายถึง น. ข่วง, บริเวณ, ลาน, เช่น ให้ยกหอกลองยังขวงหลวงริมสนาม. (พงศ. โยนก).
  19. ขวง
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ) น. กรง เช่น ขวงนก ว่า กรงนก.
  20. ขวง
    หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Glinus oppositifolius A. DC. ในวงศ์ Molluginceae ใช้ทำยาได้, ผักขวง สะเดาดิน หรือ ผักขี้ขวง ก็เรียก.
  21. ขวง
    หมายถึง น. ผี เช่น เสียขวง ว่า เสียผี.
  22. ขวด
    หมายถึง น. ภาชนะกลวงใน โดยมากทำด้วยแก้ว รูปสูง มักมีคอหรือปากแคบ สำหรับบรรจุของเหลวเป็นต้น, ลักษณนามว่า ใบ.
  23. ขวดตีนช้าง
    หมายถึง (ถิ่น-ปักษ์ใต้) น. ขวดโหล.
  24. ขวดโหล
    หมายถึง [-โหฺล] น. ขวดปากกว้างมีฝา, โหล ก็เรียก.
  25. ขวน
    หมายถึง [ขฺวน] (โบ) ก. ขวนขวาย, ใฝ่, เช่น ขวนทรรป ว่าใฝ่จองหอง. (ม. คำหลวง สักบรรพ).
  26. ขวนขวาย
    หมายถึง [-ขฺวาย] ก. หมั่นเสาะแสวงหาเพิ่มเติมโดยไม่ยอมอยู่นิ่ง, ขวายขวน ก็ว่า.
  27. ขวบ
    หมายถึง น. ปี, รอบปี, ลักษณนามใช้แก่อายุของเด็กประมาณ ๑๒ ปีลงมา เช่น เด็กอายุ ๕ ขวบ, เวลาที่นับมาบรรจบรอบ เช่น ชนขวบ.
  28. ขวย
    หมายถึง ก. กระดาก, อาย, เช่น แก้ขวย ขวยใจ.
  29. ขวยเขิน
    หมายถึง ก. กระดากอาย, สะเทิ้นอาย.
  30. ขวยใจ
    หมายถึง ก. กระดากใจ.
  31. ขวะไขว่เขวี่ย
    หมายถึง [ขฺวะไขฺว่เขฺวี่ย] (กลอน) ก. ขวักไขว่ เช่น เดินขวะไขว่เขวี่ย. (ม. ร่ายยาว ชูชก).
  32. ขวักไขว่
    หมายถึง [ขฺวักไขฺว่] ว. อาการที่เคลื่อนไหวสวนกันไปมาอย่างสับสน เช่น เดินขวักไขว่ บินขวักไขว่.
  33. ขวัญ
    หมายถึง [ขฺวัน] น. ผมหรือขนที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย; มิ่งมงคล, สิริ, ความดี, เช่น ขวัญข้าว ขวัญเรือน; สิ่งที่ไม่มีตัวตน เชื่อกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล เป็นสุขสบายจิตใจมั่นคง ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็ออกจากร่างไป ซึ่งเรียกว่า ขวัญหาย ขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น ทำให้คนนั้นได้รับผลร้ายต่าง ๆ, เรียกผู้ตกใจง่ายคือ เด็กหรือหญิงซึ่งมักจะขวัญหายบ่อย ๆ ว่า ขวัญอ่อน, และอนุโลมใช้ไปถึงสัตว์หรือสิ่งของบางอย่าง เช่น ช้าง ม้า ข้าว เรือน ฯลฯ ว่ามีขวัญเช่นเดียวกับคนเหมือนกัน, โดยปริยายหมายความว่า ยอดกำลังใจ เช่น ขวัญเมือง ว่า ยอดกำลังใจของเมือง; กำลังใจดี เช่น ขวัญดี; ผู้รู้พิธีทำขวัญ เรียกว่า หมอขวัญ; การทำพิธีเชิญขวัญหมายความว่า เรียกขวัญ มาอยู่กับตัว; การเสียเงินค่าปรับให้แก่ผู้ถูกทำร้ายหรือถูกหมิ่นประมาท เรียกว่า ทำขวัญ; เอาเส้นด้ายผูกข้อมือเด็กแล้วกล่าวเรียกขวัญว่า “ขวัญเอ๋ย มาอยู่กับเนื้อกับตัว” แล้วกล่าวให้พรต่อไปตามควร เรียกว่า ผูกขวัญ; เรียกขวัญหรือเชิญขวัญ เรียกว่า รับขวัญ; ทำพิธี เช่น รดนํ้ามนตร์ให้ เสกเป่าให้ หรือกล่าวปลุกใจต่าง ๆ เพื่อให้ขวัญดีมีใจกล้าหาญ เรียกว่า บำรุงขวัญ; สิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทำขวัญแล้ว หรือสิ่งของที่ให้กันในเวลาอื่นเป็นการถนอมขวัญหรือเพื่ออัธยาศัยไมตรี เรียกว่า ของขวัญ; ข้าวบายศรี เรียกว่า ข้าวขวัญ; ไข่ปอกที่เสียบไม้ปักไว้บนยอดบายศรี เรียกว่า ไข่ขวัญ, ไข่ข้าว ก็เรียก; ลูกคนที่รักมากที่สุด เรียกว่า ลูกขวัญ; ผู้ที่เป็นมิ่งขวัญอย่างยอดเยี่ยมหมายถึงหญิงที่รัก เรียกว่า จอมขวัญ; คำยกย่องเรียกภรรยาอันเป็นที่รักว่า เมียขวัญ; กำลังใจเสีย เรียกว่า เสียขวัญ.
  34. ขวัญข้าว
    หมายถึง น. มิ่งขวัญของข้าวซึ่งเจ้าของทำพิธีเชื้อเชิญ เรียกว่า ทำขวัญข้าว, ค่าสินบนซึ่งเจ้าของไข้บนไว้ต่อหมอ เมื่อไข้หายก็ยกขวัญข้าวนี้ไปเป็นค่ารักษา.
  35. ขวัญดี
    หมายถึง น. กำลังใจดี.
  36. ขวัญตา
    หมายถึง น. มิ่งขวัญดวงตา, สิ่งที่เห็นเป็นที่เจริญตา.
  37. ขวัญบิน,ขวัญหนี,ขวัญหนีดีฝ่อ,ขวัญหาย
    หมายถึง ก. ตกใจ, ใจหาย.
  38. ขวัญบ่า
    หมายถึง ก. ขวัญไหลไปจากตัว
  39. ขวัญอ่อน
    หมายถึง น. เรียกผู้ตกใจง่าย คือ เด็กหรือหญิงซึ่งมักจะขวัญหายบ่อย ๆ ว่า ขวัญอ่อน.
  40. ขวัญอ่อน
    หมายถึง น. ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง.
  41. ขวัญเกี่ยง
    หมายถึง ว. ขวัญร้าย เช่น ขวัญเกี่ยงได้เป็นดี. (ม. คำหลวง สักบรรพ).
  42. ขวัญเมือง
    หมายถึง น. ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง.
  43. ขวัญเมือง
    หมายถึง น. ยอดกำลังใจของเมือง.
  44. ขวัญแขวน
    หมายถึง ก. ขวัญไปค้างอยู่ที่อื่น หมายความว่า ตกใจ, มักใช้เข้าคู่กับคำ อกสั่น เป็น อกสั่นขวัญแขวน.
  45. ขวัญใจ
    หมายถึง น. ยอดกำลังใจ. ว. เป็นที่นิยมรักใคร่.
  46. ขวัด
    หมายถึง [ขฺวัด] ก. ขวิด, กวัด, ขัด, เช่น แรดควายขวางขวัดอยู่. (ลอ).
  47. ขวัดขวิด
    หมายถึง [ขฺวัดขฺวิด] ก. กวัดไกว เช่น เท้ากวัดขวัดขวิดคือควัน. (ม. ฉันท์ มหาราช).
  48. ขวัดแคว้ง
    หมายถึง [ขฺวัดแคฺว้ง] (โบ) ก. วิ่งไปวิ่งมา, ค้นหา, ดิ้นรน.
  49. ขวับ
    หมายถึง [ขฺวับ] ว. เร็ว, ทันที, เช่น เหลียวขวับ.
  50. ขวับ,ขวับ,ขวับเขวียว
    หมายถึง [ขฺวับ, ขฺวับเขฺวียว] ว. เสียงหวดไม้เรียว.
  51. ขวั้น
    หมายถึง [ขฺวั้น] (ถิ่น-อีสาน, ปักษ์ใต้) น. หัวขั้ว เช่น และผูกเป็นขวั้นแขวนวง. (สมุทรโฆษ).
  52. ขวา
    หมายถึง [ขฺวา] ว. ตรงข้ามกับซ้าย, ถ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านทิศใต้เรียกว่า ด้านขวามือ ด้านทิศเหนือ เรียกว่า ด้านซ้ายมือ, ถ้าหันหลังไปทางต้นนํ้าหรือยอดนํ้า ด้านขวามือเรียกว่า ฝั่งขวา ด้านซ้ายมือเรียกว่า ฝั่งซ้าย, คู่กับซ้าย แต่ใหญ่กว่าหรือสำคัญกว่า เช่น มเหสีฝ่ายขวา อัครสาวกฝ่ายขวา. (การเมือง) น. เรียกกลุ่มที่มีอุดมคติทางการเมืองการเศรษฐกิจเป็นต้นโน้มไปทางอนุรักษนิยมว่า ฝ่ายขวา.
  53. ขวาก
    หมายถึง [ขฺวาก] น. ไม้หรือเหล็กเป็นต้นมีปลายแหลม สำหรับปักหรือโปรยเพื่อดักหรือให้ตำผู้ผ่านเข้าไป.
  54. ขวากหนาม
    หมายถึง น. อุปสรรค, เครื่องขัดข้อง, เครื่องขัดขวาง.
  55. ขวาง
    หมายถึง [ขฺวาง] ก. กีดกั้น, สกัด; รำคาญหรือไม่ถูกใจ; ใช้เข้าคู่กับ กว้าง เป็น กว้างขวาง หมายความอย่างเดียวกับคำว่า กว้าง.
  56. ขวาง ๆ รี ๆ
    หมายถึง ก. กีดเกะกะ, เก้งก้าง, รี ๆ ขวาง ๆ ก็ว่า.
  57. ขวางหูขวางตา
    หมายถึง ก. รู้สึกรำคาญ, หมั่นไส้.
  58. ขวางเชิง
    หมายถึง ก. ขัดขวางไว้เพื่อไม่ให้ทำได้สะดวก.
  59. ขวางโลก
    หมายถึง ว. แปลกไปจากคนอื่น, ผิดจากปรกติวิสัย.
  60. ขวาด
    หมายถึง ดู พะวา.
  61. ขวาด
    หมายถึง [ขฺวาด] ว. วุ่น, ยุ่ง, เช่น มันจะมาเตือนตั้งก่อความขวาด. (ม. ร่ายยาว ชูชก).
  62. ขวาน
    หมายถึง [ขฺวาน] น. เครื่องมือสำหรับตัด ฟัน ผ่า ถากไม้ ทำด้วยเหล็กมีสันหนาใหญ่, ถ้าบ้องที่หัวบิดได้สำหรับตัดและถาก เรียกว่า ขวานโยน, ขวานปูลู หรือ ขวานปุลู ก็เรียก, ถ้าด้ามสั้น สันหนา มีบ้องยาวตามสัน เป็นเครื่องมือของช่างไม้ ใช้ตัด ถาก ฟัน เรียกว่า ขวานหมู, ถ้าด้ามยาว ใบขวานใหญ่ เรียกว่า ขวานผ่าฟืน; หมอนที่ทำหน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายขวาน ใช้อิง เรียกว่า หมอนขวาน.
  63. ขวาน
    หมายถึง [ขฺวาน] น. ชื่อหอยนํ้าจืดกาบคู่ชนิดหนึ่งในสกุล Corbicula วงศ์ Corbiculidae กาบคล้ายรูปสามเหลี่ยม ผิวเรียบ พบตามแม่นํ้าและทะเลสาบทั่วไป.
  64. ขวานผ่าซาก
    หมายถึง (สำ) ว. โผงผางไม่เกรงใจใคร (ใช้แก่กริยาพูด).
  65. ขวานฟ้า
    หมายถึง น. ขวานที่ทำด้วยหินในยุคหิน เชื่อกันว่าตกลงมาจากฟ้าเมื่อเวลาฟ้าผ่า.
  66. ขวานหิน
    หมายถึง น. ขวานที่ทำด้วยหินในยุคหิน.
  67. ขวายขวน
    หมายถึง [ขฺวายขฺวน] ก. เสาะหา, แสวงหา, ขวนขวาย ก็ว่า.
  68. ขวาว
    หมายถึง [ขฺวาว] ดู ขว้าว.
  69. ขวิด
    หมายถึง [ขฺวิด] น. มะขวิด.
  70. ขวิด
    หมายถึง [ขฺวิด] ก. กิริยาของหมูป่าหรือสัตว์ที่ใช้เขาหรือนอทำร้าย, เสี่ยว, ชน. ว. อาการที่เดินสะดุดขาตัวเองเพราะอายหรือรีบร้อน เรียกว่า เดินขาขวิด.
  71. ขว้าง
    หมายถึง [ขฺว้าง] ก. เอี้ยวตัวเบี่ยงแขนไปทางหลังแล้วซัดสิ่งที่อยู่ในมือออกไปโดยแรง.
  72. ขว้างกา
    หมายถึง น. เรียกไม้ชนิดหนึ่งที่เสี้ยมหัวท้ายให้แหลมใช้เป็นอาวุธ.
  73. ขว้างข้าวเม่า
    หมายถึง น. ประเพณีอย่างหนึ่ง เอามะพร้าวทั้งผลโยนไปยังที่เขากำลังทำข้าวเม่ากันอยู่ เพื่อแสดงว่าเอามะพร้าวมาขอแลกข้าวเม่าไปกินบ้าง.
  74. ขว้างค้อน
    หมายถึง น. ชื่องู ๒ ชนิด คือ งูกะปะ (Calloselasma rhodostoma) ในวงศ์ Viperidae และ งูปลิง (Enhydris plumbea) ในวงศ์ Colubridae ทั้ง ๒ ชนิดเมื่อตกใจจะดีดตัวไปได้ในระยะสั้น ๆ แทนการเลื้อย.
  75. ขว้างงูไม่พ้นคอ
    หมายถึง (สำ) ก. ทำอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัวเอง.
  76. ขว้างจักร
    หมายถึง [-จัก] น. กรีฑาประเภทลานอย่างหนึ่ง ผู้แข่งขันจะต้องยืนอยู่ในวงเขตที่กำหนด แล้วขว้างจานไม้กลมตรงกลางนูนทั้ง ๒ ข้างออกไปให้ไกลที่สุด.
  77. ขว้าว
    หมายถึง [ขฺว้าว] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Haldina cordifolia (Roxb.) Ridsdale ในวงศ์ Rubiaceae ขึ้นในป่าเบญจพรรณทั่วไป ลำต้นสูงใหญ่ ใบมนรูปหัวใจ ปลายแหลม ดอกสีเหลือง คล้ายดอกกระทุ่ม แต่เล็กกว่า เนื้อไม้สีเหลือง ละเอียด ใช้ทำฝาบ้าน เครื่องเรือน เครื่องกลึง และเครื่องแกะสลัก, กว้าว ขวาว หรือ คว่าว ก็เรียก.
  78. ขษณะ
    หมายถึง [ขะสะหฺนะ] (โบ) น. ครู่, ครั้ง, คราว, เช่น ขษณะอัฒรติเวลา. (สมุทรโฆษ). (ส. กฺษณ; ป. ขณ).
  79. ขษัย
    หมายถึง [ขะสัย] (โบ) น. กษัย, การสิ้นไป, การหมดไป, การเสื่อมไป, การน้อยไป. (ส. กฺษย; ป. ขย).
  80. ขษีณาศรพ
    หมายถึง [ขะสีนาสบ] (โบ; กลอน) น. พระขีณาสพ, พระอรหันต์, เช่น ดูกรขษีณาศรพทั้งหลาย. (ม. คำหลวง สักบรรพ).
  81. ขษีระ
    หมายถึง (โบ) น. นํ้านม เช่น ขษีรแปรรูปา. (สมุทรโฆษ). (ส. กฺษีร; ป. ขีร).
  82. ขอ
    หมายถึง น. ไม้หรือเหล็กที่งอ ๆ สำหรับชัก เกี่ยว แขวน หรือสับ, ตะขอ หรือ ตาขอ ก็เรียก.
  83. ขอ
    หมายถึง ก. พูดให้เขาให้สิ่งที่ต้องการ, วิงวอน.
  84. ขอ
    หมายถึง น. ชื่อว่านชนิดหนึ่ง ต้นเหมือนขมิ้น แต่หัวเล็กสอดกันเป็นข้อ ๆ ต้นและใบเขียว เนื้อเหลือง มีสรรพคุณอยู่คงเขี้ยว เขา และงา. (กบิลว่าน).
  85. ขอก
    หมายถึง น. เขต, แดน; (ถิ่น-พายัพ) ริม, ขอบ, เช่น ไปขอกฟ้า ว่า ไปริมฟ้า.
  86. ขอขมา
    หมายถึง ก. ขอให้ยกโทษให้เมื่อตัวเองรู้สึกผิด, ขอษมา ก็ใช้.
  87. ขอคำน้อย
    หมายถึง น. ว่านขอทอง.
  88. ของ
    หมายถึง น. สิ่งต่าง ๆ. บ. แห่ง (ใช้สำหรับนำหน้านามที่เป็นผู้ครอบครอง).
  89. ของกลาง
    หมายถึง น. ของที่ใช้ร่วมกัน; (กฎ) ของที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด หรือที่ได้มาโดยได้กระทำความผิด หรือที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด หรือที่สงสัยว่าเป็นของดังกล่าว ซึ่งเจ้าพนักงานได้ยึดไว้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา.
  90. ของกอง
    หมายถึง (โบ) น. ของแห้งและผลไม้ที่ทายกวัดหามาไว้สมทบถวายพระในเวลาทอดกฐินหรือเทศน์มหาชาติ.
  91. ของกำนัล
    หมายถึง น. สิ่งของที่นำไปให้แก่ผู้ที่รักและนับถือ.
  92. ของกิน
    หมายถึง น. ของสำหรับกิน.
  93. ของขบเคี้ยว
    หมายถึง น. ของกินเล่นที่ไม่เจตนากินให้อิ่ม.
  94. ของขลัง
    หมายถึง น. ของที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าอาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์.
  95. ของขวัญ
    หมายถึง น. สิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทำขวัญแล้ว; สิ่งของที่ให้กันในเวลาอื่นเป็นการถนอมขวัญหรือเพื่ออัธยาศัยไมตรี เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด.
  96. ของคาว
    หมายถึง น. ของกินที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์, กับข้าว.
  97. ของค้าง
    หมายถึง น. ของกินที่เหลือข้ามคืน.
  98. ของชำ
    หมายถึง น. ของแห้งต่าง ๆ ที่ใช้เป็นอาหาร เช่น พริก กะปิ หอม กระเทียม.
  99. ของชำร่วย
    หมายถึง น. ของตอบแทนผู้มาช่วยงานเช่นงานแต่งงานและงานศพ.
  100. ของดี
    หมายถึง น. ของขลัง, โดยปริยายหมายถึงของสำคัญที่ไม่อยากเปิดเผยให้ใครรู้.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ข (หน้าที่ 3)"