พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ข (หน้าที่ 10)

  1. ข้อเท็จจริง
    หมายถึง น. ข้อความหรือเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่ตามจริง; (กฎ) ข้อความหรือเหตุการณ์ที่วินิจฉัยแล้วว่าเป็นจริง (แตกต่างกับข้อกฎหมาย).
  2. ข้อเสนอ
    หมายถึง น. เรื่องราวที่นำเสนอเพื่อพิจารณา.
  3. ข้อเสนอแนะ
    หมายถึง น. ข้อคิดเห็นเชิงแนะนำที่เสนอเพื่อพิจารณา.
  4. ข้อเสือ
    หมายถึง ดู ข้อเหวี่ยง.
  5. ข้อเหวี่ยง
    หมายถึง น. ส่วนที่ต่อเพลา โดยมากมีลักษณะงอ สำหรับรับกำลังดันหรือกำลังฉุดให้เพลาหมุนรอบ ๆ, ภาษาปากว่า ข้อเสือ. (อ. crank).
  6. ข้อแม้
    หมายถึง น. เงื่อนไขที่กำหนดไว้.
  7. ข้อใหญ่ใจความ
    หมายถึง น. เรื่องสำคัญ.
  8. ข้อไข
    หมายถึง น. ข้อเฉลย, ข้ออธิบายขยายความ.
  9. ข้า
    หมายถึง ส. คำใช้แทนตัวผู้พูด พูดกับผู้ที่เสมอกันอย่างเป็นกันเองหรือผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑.
  10. ข้า
    หมายถึง น. บ่าวไพร่, คนรับใช้.
  11. ข้าง
    หมายถึง น. เบื้อง เช่น ข้างหน้า ข้างหลัง; ส่วน เช่น ข้างหัว ข้างท้าย; ฝ่าย เช่น ข้างไหน ข้างนี้; สีข้าง เช่น เอาข้างเข้าถู. บ. ใกล้, ริม, เช่น ต้นฝรั่งข้างรั้ว.
  12. ข้าง ๆ
    หมายถึง ว. ใกล้ด้านข้าง เช่น ยืนอยู่ข้าง ๆ.
  13. ข้าง ๆ คู ๆ
    หมายถึง ว. ออกนอกแนวนอกเรื่องอย่างไม่สมเหตุสมผล เช่น เถียงไปข้าง ๆ คู ๆ.
  14. ข้างกบ
    หมายถึง น. กระดานกรุกระหนาบข้างเสาในพระระเบียง ปลายแผ่นกระดานยันใต้ท้องสะพานที่พาดอยู่บนหัวเสา, กระดานกรุกระหนาบข้างคูหาหรือช่องหน้าต่างโบสถ์ วิหาร พระที่นั่งต่าง ๆ, บานกบ ก็ว่า.
  15. ข้างกระดาน
    หมายถึง น. ชื่อเรือต่อในจำพวกเรือข้าวชนิดหนึ่งที่เสริมข้างให้สูงขึ้น.
  16. ข้างขึ้น
    หมายถึง น. ส่วนของเดือนจันทรคติที่มีพระจันทร์สว่าง คือ ตั้งแต่ขึ้นคํ่าหนึ่งไปถึงกลางเดือน.
  17. ข้างควาย
    หมายถึง น. เรียกไม้ขนาบใกล้สันหลังคา ๒ ข้างจากหลบ มีไม้เสียบหนูยึดกลัดให้แน่น ว่า ไม้ข้างควาย.
  18. ข้างจัน
    หมายถึง น. วิธีเหลาไม้ให้เป็นผิวนูนมีลักษณะอย่างข้างของลูกจัน.
  19. ข้างตก
    หมายถึง (ถิ่น-ปักษ์ใต้) น. ทิศตะวันตก.
  20. ข้างตะเภา
    หมายถึง น. (๑) ชื่อปลาทะเลหลายชนิดในสกุล Plectorhynchus และ Diagramma วงศ์ Haemulidae ลำตัวป้อม แบนข้าง สันหัวโค้งลาดลง รอบปากมีเนื้อนุ่ม ใต้คางมีรู ๑-๓ คู่ เกล็ดเล็กสากมือพื้นลำตัวและอกมักมีสีฉูดฉาด ในปลาขนาดเล็กมักมีลายสีทึบพาดตามยาวหลายเส้นและมักแตกเป็นจุดเมื่อตัวโตขึ้น ขอบแผ่นปิดเหงือกและในโพรงปากมักมีสีแดงส้ม ส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง ขนาดตั้งแต่ ๓๐-๘๐ เซนติเมตร, สร้อยนกเขา ก็เรียก. (๒) ดู ข้างลาย.
  21. ข้างตีน
    หมายถึง (ถิ่น-ปักษ์ใต้) น. ทิศเหนือ.
  22. ข้างลาย
    หมายถึง น. ชื่อปลาทะเลหลายชนิดในสกุล Therapon และ Pelates วงศ์ Theraponidae มีเส้นดำข้างลำตัวข้างละ ๔-๖ เส้น แล้วแต่ชนิด อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลและบริเวณน้ำกร่อย เช่น ชนิด T. jarbua, P. quadrilineatus, ข้างตะเภา ออดแอด หรือ ครืดคราด ก็เรียก.
  23. ข้างหัวนอน
    หมายถึง (ถิ่น-ปักษ์ใต้) น. ทิศใต้.
  24. ข้างออก
    หมายถึง (ถิ่น-ปักษ์ใต้) น. ทิศตะวันออก.
  25. ข้างเคียง
    หมายถึง ว. ที่อยู่ใกล้ ๆ, ที่สนิทชิดชอบกันมาก, เช่น คนข้างเคียง.
  26. ข้างเงิน
    หมายถึง น. ชื่อปลาทะเลขนาดเล็กทุกชนิดในสกุล Allanetta และ Stenatherina วงศ์ Atherinidae ลำตัวค่อนข้างกลมยาว หัวโต เกล็ดใหญ่และแข็ง ข้างลำตัวมีสีเด่นเป็นเพียงแถบสีเงินเหลือบนํ้าเงินพาดตลอดตามยาว อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ใกล้ผิวนํ้าชายฝั่ง, หัวแข็ง หรือ หัวตะกั่ว ก็เรียก.
  27. ข้างแรม
    หมายถึง น. ส่วนของเดือนจันทรคติที่พระจันทร์มืด คือ ตั้งแต่แรมคํ่าหนึ่งไปถึงสิ้นเดือน.
  28. ข้านอกเจ้าข้าวนอกหม้อ
    หมายถึง (สำ; โบ) น. จำนวนคนซึ่งมีจำนวนมาก ย่อมกระทำหรือประพฤตินอกออกไปจากคำสั่งหรือแบบอย่างขนบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมามากเช่นกัน ดังข้อความว่า กาลแต่ก่อนเจ้านายน้อยตัว ก็ไม่รั่วไม่ร้ำข้างไหนหนัก ครั้นภายหลังเจ้านายมากขึ้นก็เกิดการรั่วร้ำไปต่าง ๆ เป็นการข้านอกเจ้า เข้านอกหม้อ ลูกนอกพ่อ หลานนอกปู่ เป็นขึ้น. (พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๔).
  29. ข้านอกเจ้าบ่าวนอกนาย
    หมายถึง (สำ) น. ผู้ที่กระทำหรือประพฤตินอกเหนือคำสั่งหรือแบบอย่างขนบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมา.
  30. ข้าน้อย
    หมายถึง (ถิ่น-อีสาน) ส. คำใช้แทนตัวผู้พูด, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑.
  31. ข้าพระ
    หมายถึง (โบ) น. ผู้ที่นายเงินทำหนังสือสำคัญยกให้เป็นคนใช้ของสงฆ์, คนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์ เพื่อรักษาวัดและปฏิบัติพระสงฆ์.
  32. ข้าพระพุทธเจ้า
    หมายถึง [ข้าพฺระพุดทะเจ้า] ส. คำใช้แทนตัวผู้พูด กราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินหรือกราบทูลเจ้านายชั้นสูง, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑.
  33. ข้าพเจ้า
    หมายถึง [ข้าพะเจ้า] ส. คำใช้แทนตัวผู้พูด มักใช้อย่างเป็นทางการ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑.
  34. ข้าม
    หมายถึง ก. ยกเท้าย่างผ่านเหนือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้พ้นไป เช่น ข้ามธรณีประตู, ผ่านจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง เช่น ข้ามฟาก ข้ามถนน, ล่วงพ้นสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยผ่านเหนือสิ่งนั้นไป เช่น บินข้ามมหาสมุทร, ล่วงพ้นช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ข้ามวันข้ามคืน, ผ่านเลยลำดับ เช่น ข้ามชั้น อ่านหนังสือข้าม.
  35. ข้าม,ข้าม,ข้าม ๆ
    หมายถึง ว. เลยลำดับ, ไม่เป็นไปตามลำดับ, เช่น อ่านข้าม อ่านข้าม ๆ.
  36. ข้ามน้ำข้ามทะเล,ข้ามน้ำข้ามท่า
    หมายถึง (สำ) ก. ต้องฟันฝ่าอุปสรรคและความลำบากต่าง ๆ กว่าจะได้ผลสำเร็จ.
  37. ข้ามสมุทร
    หมายถึง น. ชื่อเพลงไทยชนิดหนึ่ง.
  38. ข้ามหน้า,ข้ามหน้าข้ามตา
    หมายถึง ก. ทำโดยไม่ไว้หน้าผู้ใด.
  39. ข้ามหัว
    หมายถึง ก. ทำโดยพลการไม่บอกกล่าวหรือปรึกษาหารือผู้ที่ควรบอกกล่าวหรือควรปรึกษาหารือ.
  40. ข้ามเรือ
    หมายถึง ก. ลงเรือข้ามน้ำไปยังอีกฝั่งหนึ่ง.
  41. ข้าราชการ
    หมายถึง น. (โบ) คนที่ทำราชการตามทำเนียบ; ผู้ปฏิบัติราชการในส่วนราชการ; (กฎ) บุคคลซึ่งรับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินเดือน เช่น ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการการเมือง ข้าราชการครู ข้าราชการทหาร ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ.
  42. ข้าราชการอัยการ
    หมายถึง (กฎ) น. ข้าราชการผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ, ถ้ารวมถึงข้าราชการธุรการในสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย เรียกว่า ข้าราชการฝ่ายอัยการ. (ดู อัยการ).
  43. ข้าว
    หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุกหลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Gramineae โดยเฉพาะชนิด Oryza sativa L. เมล็ดเป็นอาหารหลัก มีหลายพันธุ์ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว.
  44. ข้าวกระยาทิพย์
    หมายถึง น. ชื่อขนมอย่างหนึ่ง ปรุงด้วยเครื่องกวนมี น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำนม ถั่ว งา เป็นต้น นิยมใช้หญิงพรหมจารีเป็นผู้กวน มักทำในพิธีสารท, ข้าวทิพย์ ก็เรียก.
  45. ข้าวกรู
    หมายถึง น. ข้าวชนิดที่ทำเพื่ออุทิศให้เปรตประเภทหนึ่งในพิธีสารท.
  46. ข้าวกลาง
    หมายถึง น. กลุ่มพันธุ์ข้าวที่ออกรวงหลังข้าวเบา คือในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงปลายเดือนตุลาคม และเก็บเกี่ยวได้ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน เช่น พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ พันธุ์ข้าว กข ๖.
  47. ข้าวกล้อง
    หมายถึง น. ข้าวที่สีเอาเปลือกออกโดยยังมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวอยู่, เดิมใช้วิธีใส่ครกตำเรียกว่า ข้าวซ้อม หรือ ข้าวซ้อมมือ.
  48. ข้าวกล้า
    หมายถึง น. ต้นข้าวที่เพาะไว้สำหรับย้ายไปปลูกที่อื่น, กล้า ก็เรียก.
  49. ข้าวก้นบาตร
    หมายถึง (สำ) น. อาหารเหลือจากพระฉันแล้วที่ศิษย์วัดได้อาศัยกิน.
  50. ข้าวขวัญ
    หมายถึง น. ข้าวบายศรี.
  51. ข้าวของ
    หมายถึง น. สิ่งของต่าง ๆ มีเครื่องใช้เครื่องประดับเป็นต้น.
  52. ข้าวข้า
    หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุกมีหัวใต้ดินชนิด Euphorbia sessiflora Roxb. ในวงศ์ Euphorbiaceae สูงประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ต้นและใบอวบนํ้า เส้นกลางใบด้านล่างเป็นสันแหลม ทุกส่วนมียางขาว หัวใช้ทำยาได้, ว่านพระฉิม ก็เรียก, เขียนเป็น เข้าค่า ก็มี.
  53. ข้าวควบ
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ) น. ข้าวเกรียบใส่นํ้าตาลอ้อย มีรสหวานอย่างข้าวเกรียบว่าว.
  54. ข้าวคำ
    หมายถึง น. (๑) ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ใช้ทำยา. (พจน. ๒๔๙๓). (๒) ดู การบูรป่า.
  55. ข้าวงัน
    หมายถึง (ถิ่น-อีสาน) น. ข้าวหนัก.
  56. ข้าวจี่
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ, อีสาน) น. ข้าวเหนียวนึ่งนวดกับเกลือปั้นเป็นก้อน เสียบไม้ปิ้งไฟ บางทีใส่น้ำอ้อยงบข้างใน ทาไข่แล้วปิ้งไฟ.
  57. ข้าวจี่
    หมายถึง ดู ซ้องแมว.
  58. ข้าวซอย
    หมายถึง (ถิ่น-พายัพ) น. ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง เป็นเส้นคล้ายบะหมี่ แล้วปรุงเครื่อง, เดิมเรียก ก๋วยเตี๋ยวฮ่อ.
  59. ข้าวซ้อม
    หมายถึง น. ข้าวที่เอาเปลือกออกโดยใช้วิธีใส่ครกตำ ยังมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวอยู่, ปัจจุบันใช้เครื่องจักรสีข้าวแทนเรียกว่า ข้าวกล้อง.
  60. ข้าวซ้อมมือ
    หมายถึง น. ข้าวที่เอาเปลือกออกโดยใช้วิธีใส่ครกตำ ยังมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวอยู่, ปัจจุบันใช้เครื่องจักรสีข้าวแทนเรียกว่า ข้าวกล้อง.
  61. ข้าวตก
    หมายถึง น. ข้าวที่หลงเหลืออยู่ในท้องนาหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว.
  62. ข้าวตอก
    หมายถึง น. ข้าวเปลือกข้าวเจ้าที่เอามาคั่วให้แตกบานเป็นดอก.
  63. ข้าวตอก
    หมายถึง น. (๑) ชื่อไม้พุ่มชนิด Serissa japonica (Thunb.) Thunb. ในวงศ์ Rubiaceae ใบเล็กรูปไข่ เมื่อขยี้มีกลิ่นเหม็น ดอกสีขาวเล็ก ๆ เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ ปลูกเป็นไม้ดัดหรือไม้ประดับ. (๒) (ถิ่น-พายัพ) ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Anaphalismargaritacea (L.) Benth. ex C.B. Clarke ในวงศ์ Compositae ขึ้นอยู่บนเขาในระดับสูง ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป ขนาดสูงราว ๕๐ เซนติเมตร ต้น ใบ ดอก มีขนสีขาวทึบ ใช้ทำยาได้. (๓) ชื่อไม้พุ่มรอเลื้อยชนิด Callicarpa longifolia Lam. ในวงศ์ Labiatae ดอกเล็ก สีม่วง ผลกลมเล็ก สุกสีขาว ใช้ทำยาได้. (๔) ชื่อเห็ดหลายชนิดในสกุล Hemimycena วงศ์ Tricholomataceae ขึ้นตามพื้นดินเป็นกลุ่มใหญ่ ดอกเห็ดสีขาวขนาดเท่าดอกมะลิบาน ด้านล่างมีครีบ ก้านยาวตั้งตรง เช่น ชนิด H. cucullata (Pers. ex Fr.) Sing. กินได้. (๕) ดู ตีนตุ๊กแก (๕).
  64. ข้าวตอกตั้ง
    หมายถึง น. ชื่อของหวานทำด้วยข้าวตอกคลุกนํ้าตาลและมะพร้าว ทำเป็นแว่น ๆ เกลือกแป้ง.
  65. ข้าวตอกแตก
    หมายถึง (ถิ่น-อีสาน) น. ข้าวตอก; โดยปริยายหมายถึงเสียงดังอย่างเสียงแตกของข้าวตอกที่ดังรัว เช่น เสียงพิมพ์ดีดดังอย่างข้าวตอกแตก.
  66. ข้าวตัง
    หมายถึง น. ข้าวสุกที่ติดเป็นแผ่นเกรียมอยู่ก้นหม้อหรือกระทะ.
  67. ข้าวตาก
    หมายถึง น. ข้าวสุกที่ตากแห้ง.
  68. ข้าวตู
    หมายถึง น. ข้าวตากคั่วแล้วตำเป็นผงเคล้ากับนํ้าตาลและมะพร้าว.
  69. ข้าวต้ม
    หมายถึง น. ข้าวที่ต้มให้สุก; ข้าวเหนียวที่ห่อด้วยใบไม้เช่นใบตองหรือใบมะพร้าวอ่อน แล้วต้มหรือนึ่งให้สุก อยู่ในจำพวกขนม มีชื่อต่าง ๆ เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวต้มผัด.
  70. ข้าวต้ม
    หมายถึง น. (๑) ชื่อไม้พุ่มชนิด Wissadula periplocifolia (L.) C. Presl ex Thwaites ในวงศ์ Malvaceae ต้นสูงประมาณ ๑ เมตร เปลือกเหนียว ใบรูปใบโพโคนป้าน ผลมี ๕ พู เมื่อแก่พูแยกออกจากกัน. (๒) ดู หญ้าขัดใบยาว.
  71. ข้าวต้มน้ำวุ้น
    หมายถึง น. ชื่อของหวานชนิดหนึ่ง ทำด้วยข้าวเหนียวห่อใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยม ต้มสุก กินกับนํ้าเชื่อม.
  72. ข้าวต้มปัด
    หมายถึง น. ข้าวเหนียวต้มที่ห่อด้วยใบไม้เช่นใบมะพร้าวอ่อนหรือใบเตย มักทำถวายพระในเทศกาลออกพรรษา, ข้าวปัด ก็ว่า.
  73. ข้าวต้มลูกโยน
    หมายถึง น. ข้าวเหนียวที่ผัดกับกะทิใส่เกลือ น้ำตาล ห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อนหรือใบเตยไว้หางยาว แล้วต้มให้สุก.
  74. ข้าวต้อง
    หมายถึง น. ต้นข้าวในนาที่โศกใบเหลืองไป ซึ่งถือกันว่าถูกผีกระทำ.
  75. ข้าวทิพย์
    หมายถึง น. ชื่อขนมอย่างหนึ่ง ปรุงด้วยเครื่องกวนมี นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย นํ้านม ถั่ว งา เป็นต้น นิยมใช้หญิงพรหมจารีเป็นผู้กวน มักทำในพิธีสารท, ข้าวกระยาทิพย์ ก็เรียก.
  76. ข้าวนก
    หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุก ๒ ชนิดในวงศ์ Gramineae คือ ชนิด Oryza granulata Nees et Arn. และชนิด Echinochloa colona (L.) Link.
  77. ข้าวนก
    หมายถึง น. ชื่อเรือชนิดหนึ่ง เช่น ถ้าทรงเรือแผงและเรือข้าวนกประพาสบัว. (ลัทธิ).
  78. ข้าวนาปรัง
    หมายถึง น. ข้าวที่ปลูกในฤดูแล้งนอกฤดูทำนา.
  79. ข้าวนาปี
    หมายถึง น. ข้าวที่ปลูกในฤดูฝน.
  80. ข้าวนึ่ง
    หมายถึง น. ข้าวที่ได้จากการสีข้าวเปลือกซึ่งผ่านการแช่น้ำและอบด้วยความร้อนแล้ว; (ถิ่น-พายัพ, อีสาน) ข้าวเหนียวนึ่ง.
  81. ข้าวบาตร
    หมายถึง น. ข้าวสารเก่าหุงในน้ำเดือดเพื่อให้สวยเป็นตัวสำหรับตักบาตร, เรียกขันเชิงสำหรับใส่ข้าวตักบาตรว่า ขันข้าวบาตร.
  82. ข้าวบาร์เลย์
    หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Hordeum vulgare L. ในวงศ์ Gramineae เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ ปลูกกันบ้างในภาคเหนือ เมล็ดใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเบียร์ และเป็นอาหารสัตว์. (อ. barley).
  83. ข้าวบิณฑ์
    หมายถึง น. ข้าวตอกปั้นเป็นรูปทรงคล้ายดอกบัวตูม.
  84. ข้าวบุหรี่
    หมายถึง น. ข้าวหุงอย่างวิธีของแขกมีเครื่องปรุงและเนื้ออยู่ในตัว. (กะบุลี แปลว่า ข้าวปรุงอย่างแบบชาวกรุงกาบุล).
  85. ข้าวประดับดิน
    หมายถึง (ถิ่น-อีสาน) น. อาหารที่เอาไปวางไว้ตามต้นโพและพระเจดีย์เป็นต้นในเวลาเช้ามืดวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๙.
  86. ข้าวปลูก
    หมายถึง น. ข้าวเปลือกที่เก็บไว้สำหรับทำพันธุ์.
  87. ข้าวปัด
    หมายถึง น. ข้าวเหนียวต้มที่ห่อด้วยใบไม้เช่นใบมะพร้าวอ่อนหรือใบเตย มักทำถวายพระในเทศกาลออกพรรษา, ข้าวต้มปัด ก็ว่า.
  88. ข้าวปาด
    หมายถึง (ถิ่น-อีสาน) น. ขนมชนิดหนึ่ง คล้ายขนมเปียกปูน แต่เหนียวมาก.
  89. ข้าวปุ้น
    หมายถึง (ถิ่น-อีสาน) น. ขนมจีน.
  90. ข้าวป่า
    หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุกหลายชนิดในสกุล Oryza วงศ์ Gramineae เช่น ข้าวละมาน (O. minuta J. Presl) มักขึ้นแซมต้นข้าว.
  91. ข้าวผอก
    หมายถึง น. ข้าวห่อหรือข้าวที่บรรจุกระบอกไปกินกลางวัน.
  92. ข้าวผอกกระบอกน้ำ
    หมายถึง น. ของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีกระบอกนํ้าเล็ก ๆ กรอกนํ้าแขวนกิ่งไม้ผูกไว้กับบันไดเรือน ใช้เซ่นผีในเทศกาลตรุษ.
  93. ข้าวผัด
    หมายถึง น. ข้าวสุกผัดกับน้ำมันใส่หมูเป็นต้น.
  94. ข้าวพระ
    หมายถึง น. อาหารคาวหวานที่จัดใส่สำรับสำหรับถวายพระพุทธ.
  95. ข้าวพอง
    หมายถึง น. ชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยเมล็ดข้าวเจ้าทอดน้ำมันให้พอง เคล้ากับน้ำตาลแล้วอัดเป็นแผ่น.
  96. ข้าวฟ่าง
    หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุก ๒ ชนิด ในวงศ์ Gramineae คือ ข้าวฟ่างหางหมา [Setaria italica (L.) Pal.] ต้นสูงประมาณ ๑ เมตร เมล็ดขนาดเมล็ดงา และข้าวฟ่างสมุทรโคดม หรือข้าวฟ่างหางช้าง [Sorghum bicolor (L.) Moench.] ต้นสูงประมาณ ๒ เมตร เมล็ดขนาดเมล็ดพริกไทย.
  97. ข้าวมัน
    หมายถึง น. ข้าวเจ้าที่หุงด้วยกะทิให้สุก มักกินกับส้มตำ, ข้าวเจ้าผัดกับมันไก่ แล้วหุงแบบไม่เช็ดน้ำ; (ถิ่น-พายัพ) ข้าวเหนียวหุงแล้วมูนด้วยกะทิ.
  98. ข้าวมิ่น
    หมายถึง (โบ) น. ขมิ้น.
  99. ข้าวยากหมากแพง
    หมายถึง (สำ) น. ภาวะขาดแคลนอาหาร, ทุพภิกขภัย.
  100. ข้าวยาคู
    หมายถึง น. ชื่อขนมอย่างหนึ่ง ทำด้วยเมล็ดข้าวอ่อนตำแล้วคั้นเอานํ้าตั้งไฟจนสุก ใส่น้ำตาล เรียกว่า ข้าวยาคูน้ำ, ถ้าเคี่ยวให้แห้ง เรียกว่า ข้าวยาคูแห้ง.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ข (หน้าที่ 10)"