ค้นเจอ 99 รายการ

ขวัญ

หมายถึง[ขฺวัน] น. ผมหรือขนที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย; มิ่งมงคล, สิริ, ความดี, เช่น ขวัญข้าว ขวัญเรือน; สิ่งที่ไม่มีตัวตน เชื่อกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล เป็นสุขสบายจิตใจมั่นคง ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็ออกจากร่างไป ซึ่งเรียกว่า ขวัญหาย ขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น ทำให้คนนั้นได้รับผลร้ายต่าง ๆ, เรียกผู้ตกใจง่ายคือ เด็กหรือหญิงซึ่งมักจะขวัญหายบ่อย ๆ ว่า ขวัญอ่อน, และอนุโลมใช้ไปถึงสัตว์หรือสิ่งของบางอย่าง เช่น ช้าง ม้า ข้าว เรือน ฯลฯ ว่ามีขวัญเช่นเดียวกับคนเหมือนกัน, โดยปริยายหมายความว่า ยอดกำลังใจ เช่น ขวัญเมือง ว่า ยอดกำลังใจของเมือง; กำลังใจดี เช่น ขวัญดี; ผู้รู้พิธีทำขวัญ เรียกว่า หมอขวัญ; การทำพิธีเชิญขวัญหมายความว่า เรียกขวัญ มาอยู่กับตัว; การเสียเงินค่าปรับให้แก่ผู้ถูกทำร้ายหรือถูกหมิ่นประมาท เรียกว่า ทำขวัญ; เอาเส้นด้ายผูกข้อมือเด็กแล้วกล่าวเรียกขวัญว่า “ขวัญเอ๋ย มาอยู่กับเนื้อกับตัว” แล้วกล่าวให้พรต่อไปตามควร เรียกว่า ผูกขวัญ; เรียกขวัญหรือเชิญขวัญ เรียกว่า รับขวัญ; ทำพิธี เช่น รดนํ้ามนตร์ให้ เสกเป่าให้ หรือกล่าวปลุกใจต่าง ๆ เพื่อให้ขวัญดีมีใจกล้าหาญ เรียกว่า บำรุงขวัญ; สิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทำขวัญแล้ว หรือสิ่งของที่ให้กันในเวลาอื่นเป็นการถนอมขวัญหรือเพื่ออัธยาศัยไมตรี เรียกว่า ของขวัญ; ข้าวบายศรี เรียกว่า ข้าวขวัญ; ไข่ปอกที่เสียบไม้ปักไว้บนยอดบายศรี เรียกว่า ไข่ขวัญ, ไข่ข้าว ก็เรียก; ลูกคนที่รักมากที่สุด เรียกว่า ลูกขวัญ; ผู้ที่เป็นมิ่งขวัญอย่างยอดเยี่ยมหมายถึงหญิงที่รัก เรียกว่า จอมขวัญ; คำยกย่องเรียกภรรยาอันเป็นที่รักว่า เมียขวัญ; กำลังใจเสีย เรียกว่า เสียขวัญ.

ทรง

หมายถึง[ซง] น. รูปร่าง เช่น ทรงกระบอก ทรงปั้นหยา ทรงกระสอบ ทรงกระทาย (ลักษณะชามหรือถ้วยมีรูปคล้ายกระทาย), แบบ เช่น ทรงผม. ก. ตั้งอยู่ได้ เช่น ทรงตัว; จำ เช่น ทรงพระไตรปิฎก; รองรับ เช่น ธรรมย่อมทรงผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว; มี เช่น ทรงคุณวุฒิ; คงอยู่ เช่น ไข้ยังทรงอยู่ นํ้าทรง; ในราชาศัพท์มีความหมายว่า ขี่ หรือ ถือ เป็นต้น ตามเนื้อความของคำที่ตามหลัง เช่น ทรงม้า ว่า ขี่ม้า ทรงช้าง ว่า ขี่ช้าง ทรงศร ว่า ถือศร ทรงศีล ว่า รับศีล ทรงธรรม ว่า ฟังเทศน์ ทรงบาตร ว่า ตักบาตร ทรงราชย์ ว่า ครองราชสมบัติ; ถ้าประกอบหน้านามบางคำ เช่น ชัย ภพ ศรี ศักดิ์ ธรรม เป็น พระทรงชัย พระทรงภพ พระทรงศรี พระทรงศักดิ์ พระทรงธรรม หมายถึง กษัตริย์; ถ้าประกอบหน้านามที่เป็นพาหนะหรืออาวุธเป็นต้นของพระเป็นเจ้า หมายถึง พระเป็นเจ้านั้น ๆ เช่น พระทรงโค หมายถึง พระอิศวร พระทรงครุฑ พระทรงศร พระทรงสังข์ หมายถึง พระนารายณ์ พระทรงหงส์ หมายถึง พระพรหม; ใช้นำหน้าคำกริยาสามัญให้เป็นราชาศัพท์ เช่น ทรงทราบ ทรงยินดี ทรงขอบใจ; ใช้นำหน้าคำนามราชาศัพท์ให้เป็นกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงพระสรวล ทรงพระเมตตา ทรงพระประชวร, ในลักษณะนี้จะหมายความว่า มี ก็ได้ เช่น ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระคุณ ทรงพระนาม, เมื่อกริยาเป็นราชาศัพท์อยู่แล้วไม่นิยมใช้คำว่า ทรง นำหน้าซ้อนลงไปอีก เช่นไม่ใช้ว่า ทรงตรัส ทรงประทับ ทรงพระราชทาน. (ราชา) ว. เรียกช้าง ม้า ที่ขึ้นระวางแล้วว่า ช้างทรง ม้าทรง.

แก้ว

หมายถึงน. หินแข็งใส แลลอดเข้าไปข้างในได้ ได้แก่จำพวกเพชรพลอย, ของที่ทำเทียมให้มีลักษณะเช่นนั้น, ของที่ได้จากการใช้ทรายขาวเป็นส่วนประกอบสำคัญมาหลอมกับสารที่มีสมบัติเป็นด่างเช่นออกไซด์ของโซเดียม ออกไซด์ของแคลเซียม แล้วมีลักษณะเช่นนั้น; เรียกภาชนะที่ทำด้วยแก้วสำหรับใส่นํ้ากินเป็นต้นว่า ถ้วยแก้ว หรือเรียกสั้น ๆ ว่า แก้ว, เรียกภาชนะที่ทำด้วยแก้ว เช่น ชามแก้ว; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่เคารพนับถือยิ่ง ในคำว่า แก้วทั้ง ๓ อันหมายถึง พระรัตนตรัย, หรือใช้ประกอบคำนามให้หมายความว่าสิ่งนั้นมีค่ามาก เป็นที่รัก หรือดีเยี่ยม เช่น นางแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ลูกแก้ว, หรือใช้เรียกของใสบางชนิด เช่น กระดาษแก้ว ผ้าแก้ว ข้าวเหนียวแก้ว.

 คำไทยที่มักเขียนผิด จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ