คำสมาส

คำสมาส
คำสมาส

วันนี้เราทำความรู้จักกับคำสมาสกัน

 

คำสมาสคืออะไร

คำสมาส เป็นคำที่เกิดจากการรวมคำสองคำซึ่งต่างก็เป็นคำบาลีหรือสันสกฤตเข้าเป็นคำเดียวกัน โดยการนำมาเรียงต่อกัน ไม่ได้มีการดัดแปลงรูปอักษร มีการออกเสียง อะ อิ อุ ระหว่างคำ เช่น ประวัติ+ศาสตร์ → ประวัติศาสตร์, ฆาต+กรรม → ฆาตกรรม เป็นต้น

 

สมาสชน สนธิเชื่อม

 

ลักษณะเฉพาะของคำสมาส (แบบย่อ)

โดยย่อ เป็นดังนี้

คำมูลที่นำมารวมกันนั้นต้องเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤตเท่านั้น ก่อนรวมเป็นคำสมาสคำหน้าสามารถประวิสรรชนีย์หรือมีตัวการันต์ได้ แต่เมื่อรวมเป็นคำสมาสแล้วต้องตัดทิ้ง เช่น

  • แพทย์ + ศาสตร์ = แพทยศาสตร์
  • พละ + ศึกษา = พลศึกษา

มีการอ่านสระท้ายของคำหน้า เช่น

  • ประวัติ+ศาสตร์ = ประวัติศาสตร์ (ประ-หวัด-ติ-สาด) แต่ก็มียกเว้นเช่น สุพรรณบุรี

การแปลต้องแปลจากหลังมาหน้า (คำตั้งอยู่หลังคำขยายอยู่หน้า) เช่น

  • ราชการ การ เป็นคำตั้ง ราช ขยายการ  = งานของพระเจ้าแผ่นดิน
  • อุบัติเหตุ เหตุ เป็นคำตั้ง อุบัติ ขยายเหตุ = เหตุการณ์ที่กิดโดยไม่คาดคิด

แต่ก็มีคำสมาสบางคำที่แปลจากหลังไปหน้า และหน้าไปหลังได้ถ้ามีความหมายเหมือนกัน ก็ถือเป็นคำสมาส เช่น

  • บุตร + ธิดา = บุตรธิดา ไม่ว่าจะแปลจากหลังไปหน้าหรือหน้าไปหลัง ก็แปลว่า ลูก เหมือนกัน

คำที่ขึ้นต้นด้วย "พระ" แล้วคำหลังเป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤตถือว่าเป็นคำสมาส เช่น

  • พระอาทิตย์
  • พระองค์

*พระเจ้า ไม่ใช่คำสมาสเพราะ เจ้า เป็นคำไทยแท้  

 

 

 

ลักษณะของคำสมาส (แบบละเอียด)

โดยละเอียด เป็นดังนี้

  1. เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี - สันสกฤตเท่านั้น คำที่มาจากภาษาอื่น ๆ นำมาประสมกันไม่นับเป็นคำสมาส ตัวอย่าง - บาลี + บาลี เช่น อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย อริยสัจ ขัตติยมานะ - สันสกฤต + สันสกฤต เช่น แพทยศาสตร์ วีรบุรุษ วีรสตรี สังคมวิทยา - บาลี + สันสกฤต, สันสกฤต + บาลี เช่น หัตถศึกษา นาฎศิลป์ สัจธรรม
  2. คำที่รวมกันแล้วไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำแต่อย่างใด ตัวอย่าง วัฒน + ธรรม = วัฒนธรรม สาร + คดี = สารคดี พิพิธ + ภัณฑ์ = พิพิธภัณฑ์ กาฬ + ปักษ์ = กาฬปักษ์ ทิพย + เนตร = ทิพยเนตร โลก + บาล = โลกบาล เสรี + ภาพ = เสรีภาพ สังฆ + นายก = สังฆนายก
  3. คำสมาสเมื่อออกเสียงต้องต่อเนื่องกัน เช่น ภูมิศาสตร์ อ่านว่า พู-มิ-สาด เกียรติประวัติ อ่านว่า เกียด-ติ-ประ-หวัด เศรษฐการ อ่านว่า เสด-ถะ-กาน รัฐมนตรี อ่านว่า รัด-ถะ-มน-ตรี
  4. คำที่นำมาสมาสกันแล้วความหมายหลักอยู่ที่คำหลังส่วนความรองจะอยู่ข้างหน้า เช่น ยุทธ (รบ)+ภูมิ (แผ่นดิน สนาม) = ยุทธภูมิ (สนามรบ) หัตถ (มือ) + กรรม (การงาน) = หัตถกรรม (งานฝีมือ) คุรุ (ครู) + ศาสตร์ (วิชา) = คุรุศาสตร์ (วิชาครู) สุนทร (งาม ไพเราะ) + พจน์ (คำกล่าว) = สุนทรพจน์ (คำกล่าวที่ไพเราะ)
  5. คำสมาสบางคำเรียงลำดับคำอย่างไทย คือ เรียงต้นศัพท์ไว้หน้า ศัพท์ประกอบไว้หลัง การเขียนคำสมาสเหล่านี้ไม่ประวิสรรชนีย์ระหว่างคำ แต่เมื่ออ่านจะออกเสียงสระต่อเนื่องกัน เช่น บุตรภรรยา (บุด-ตระ-พัน-ระ-ยา) = บุตรและภรรยา
  6. คำสมาสส่วนมากออกเสียงสระตรงพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น กาลสมัย ( กาน - ละ - สะ - ไหม )
  7. คำบาลีสันสกฤตที่มีคำว่า "พระ" ที่แผลงมาจาก "วร" ประกอบข้างหน้าจัดเป็นคำสมาสด้วย เช่น พระโอรส พระอรหันต์
  8. คำสมาสบางพวกจะมีลักษณะรูปคำรูปหนึ่งคล้ายกัน เช่น - คำที่ลงท้ายด้วยศาสตร์ เช่น นิติศาสตร์ อักษรศาสตร์ - คำที่ลงท้ายด้วยภัย เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย - คำที่ลงท้ายด้วยกรรม เช่น นิติกรรม นวัตกรรม กสิกรรม

 

รวมเนื้อหาเกี่ยวกับคำสมาส


อ่านต่อเพิ่มเติม

ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำสมาส"