บทความน่ารู้

คำในภาษาไทยที่อ่านได้สองแบบ

มาทบทวนกันในเรื่องคำพ้องก่อนจะไปดูคำศัพท์เพื่อที่ว่าจะได้ไม่เกิดความสับสน และคำศัพท์ที่ว่าอ่านได้สองแบบแต่หมายถึงคำ ๆ เดียวกันนั้นจะมีคำใดบ้างไปดูกันเลย

ในภาษาไทยจะมีคำพ้องต่าง ๆ ตามที่เราเคยเรียนกันมา ไม่ว่าจะเป็นคำพ้องรูป คือคำที่เขียนเหมือนกันแต่จะอ่านออกเสียงและมีความหมายต่างกัน คำพ้องเสียง คือคำที่อ่านออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนและมีความหมายต่างกัน และคำพ้องทั้งรูปและเสียง คือคำที่เขียนและอ่านออกเสียงเหมือนกันแต่จะมีความหมายต่างกัน ซึ่งคำศัพท์ที่นำมาฝากกันวันนี้เป็นคำที่เขียนเหมือนกันแต่ไม่นับว่าเป็นคำพ้องรูป เนื่องจากมีความหมายเดียวกันหรือเป็นคำเดียวกันเพียงแต่อ่านได้สองแบบตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้กำหนดไว้ ดังนั้นจึงต้องทบทวนกันในเรื่องคำพ้องก่อนจะไปดูคำศัพท์เพื่อที่ว่าจะได้ไม่เกิดความสับสน และคำศัพท์ที่ว่าอ่านได้สองแบบแต่หมายถึงคำ ๆ เดียวกันนั้นจะมีคำใดบ้างไปดูกันเลย

รวมคำในภาษาไทยที่อ่านได้สองแบบ

  1. กรกฎาคม
    อ่านได้ว่า กะระกะดาคม หรือ กะรักกะดาคม

  2. เกีรยติประวัติ
    อ่านได้ว่า เกียดติปฺระหฺวัด หรือ เกียดปฺระหฺวัด

  3. คำที่ขึ้นต้นด้วย กรณี- ทุกคำ
    อ่านได้ว่า กะระนี หรือ กอระนี
    เช่น กรณียะ อ่านได้ว่า กะระนียะ หรือ กอระนียะ เป็นต้น

  4. กลวิธี, กลอักษร
    อ่านได้ว่า กน- หรือ กนละ-

  5. กุศโลบาย
    อ่านได้ว่า กุสะโลบาย หรือ กุดสะโลบาย

  6. คุณประโยชน์, คุณสมบัติ
    อ่านได้ว่า คุนนะ- หรือ คุน-

  7. คมนาคม
    อ่านได้ว่า คะมะนาคม หรือ คมมะนาคม

  8. จิตบำบัด
    อ่านได้ว่า จิดตะบำบัด หรือ จิดบำบัด

  9. ชลประทาน
    อ่านได้ว่า ชนละประทาน หรือ ชนประทาน

  10. ชาติรส
     อ่านได้ว่า ชาติรด หรือ ชาดติรด

  11. ดุลยพินิจ, ดุลยภาพ
    อ่านได้ว่า  ดุนละยะ- หรือ ดุนยะ-

  12. ถาวรวัตถุ
    อ่านได้ว่า ถาวอระวัดถุ หรือ ถาวอนวัดถุ

  13. เทศนา
    อ่านได้ว่า เทสะนา หรือ เทดสะหนา

  14. โบราณคดี, โบราณวัตถุ, โบราณสถาน 
    อ่านได้ว่า โบรานนะ- หรือ โบราน-

  15. ปฐมนิเทศ, ปฐมบุรุษ, ปฐมสมโพธิ, ปฐมเทศนา
    อ่านได้ว่า ปะถมมะ- หรือ ปะถม-

 

  1. ปรนัย, ปรหิตะ, ปรโลก
    อ่านได้ว่า ปะระ หรือ ปอระ

  2. ปรมัตถ์, ปรมาจารย์, ปรมาณู, ปรมาภิเษก, ปรมาภิไธย, ปรมินทร์, ปรเมนทร์, ปรเมศวร์, ปรเมษฐ์
    อ่านได้ว่า ปะระ หรือ ปอระ
    เช่น ปรมาจารย์ อ่านได้ว่า ปะระมาจาน หรือ ปอระมาจาน
    ปรมาณู อ่านได้ว่า ปะระมานู หรือ ปอระมานู เป็นต้น

  3. ปรัชญา
    อ่านได้ว่า ปฺรัดยา หรือ ปฺรัดชะยา

  4. ปรากฏการณ์
    อ่านได้ว่า ปฺรากดกาน หรือ ปฺรากดตะกาน

  5. คำที่ขึ้นต้นด้วย ประวัติ- ทุกคำ
    อ่านได้ว่า ปฺระหฺวัดติ- หรือ ปฺระหวัด-
    เช่น ประวัติศาสตร์ อ่านได้ว่า ปฺระหฺวัดติสาด หรือ ปฺระหวัดสาด
    ประวัติการ อ่านได้ว่า ปฺระหฺวัดติกาน หรือ ปฺระหวัดกาน เป็นต้น

  6. ภูมิธร, ภูมินทร์, ภูมินาถ, ภูมิบดี, ภูมิภาค, ภูมิอากาศ
    อ่านได้ว่า พูมิ- หรือ พูมมิ-
    เช่น ภูมิอากาศ อ่านได้ว่า พูมิอากาด หรือ พูมมิอากาด เป็นต้น

  7. ภูมิลำเนา
    อ่านได้ว่า   พูมลำเนา  หรือ พูมิลำเนา

  8. ภรรยา
    อ่านได้ว่า พันยา หรือ พันระยา

  9. คำที่ขึ้นต้นด้วย ศาสน- ทุกคำ
    อ่านได้ว่า สาสะนะ หรือ สาดสะนะ
    เช่น ศาสนกิจ อ่านได้ว่า สาสะนะกิด หรือ สาดสะนะกิด
    ศาสนิกชน อ่านได้ว่า สาสะนิกกะชน หรือ สาดสะนิกกะชน เป็นต้น

  10. สัปดาห์
    อ่านได้ว่า สับดา หรือ สับปะดา

  11. สมรรถภาพ
    อ่านได้ว่า สะมัดถะพาบ หรือ สะหฺมัดถะพาบ

  12. สมานฉันท์
    อ่านได้ว่า สะมานะฉัน หรือ สะหฺมานนะฉัน

  13. สรรพสามิต
    อ่านได้ว่า สับพะสามิด หรือ สันพะสามิด

  14. อุปโลกน์, อุปรากร, อุปกรณ์, อุปการ-, อุปกาศ, อุปกิณณะ, อุปถัมภ์, อุปถัมภก, อุปทม, อุปทูต, อุปเทศ, อุปเท่ห์, อุปนัย, อุปนิษัท, อุปนิสัย, อุปบัติ, อุปปาติกะ, อุปพัทธ์, อุปพันธ์, อุปโภค, อุปมา-, อุปไมย, อุปยุวราช, อุปโยค, อุปราคา, อุปราช, อุปริ-, อุปริม-, อุปสรรค
    อ่านได้ว่า อุปะ- หรือ อุบปะ-
    เช่น อุปโลกน์ อ่านได้ว่า อุปะโหฺลก หรือ อุบปะโหฺลก
    อุปกรณ์ อ่านได้ว่า อุปะกอน หรือ อุบปะกอน เป็นต้น

  15. อาชญา
    อ่านได้ว่า อาดยา หรือ อาดชะยา

สาเหตุของคำเหล่านี้ที่อ่านได้หลายแบบอาจเกิดจากการทับศัพท์ในภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาบาลี และสันสกฤต เป็นต้น หรืออาจจะเป็นเพราะการออกเสียงคำ ๆ นั้นผิดของคนไทยที่สืบต่อกันมายาวนานจนคำนั้นได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงการออกเสียงที่ต่างกันของคนแต่ละถิ่นในประเทศไทยอีกด้วย ราชบัณฑิตยสถานจึงได้กำหนดให้อ่านได้อย่างถูกต้องทั้งสองแบบ ในอนาคตอันใกล้อาจมีการกำหนดคำให้อ่านได้หลายแบบเพิ่มมากขึ้นตามความเหมาะสมของยุคสมัย ผู้อ่านทุกท่านก็ต้องอัปเดตอยู่เสมอ หรือสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ของเราที่จะนำความรู้ดี ๆ มาฝากกันเช่นนี้เป็นประจำ และหวังว่าคำที่นำมาฝากในวันนี้จะช่วยไขข้อข้องใจหลาย ๆ คนเวลาต้องออกเสียงคำที่คุ้นว่าอ่านได้สองแบบแล้วสับสนแบบไหนถึงถูกต้อง ต่อไปจะได้มั่นใจว่าตนใช้ถูกและแนะนำผู้อื่นได้หากเกิดการโต้เถียงในเรื่องนี้

 


อ่านต่อเพิ่มเติม


 หมวดหมู่ ภาษาไทย คำอ่าน

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทยที่อ่านได้สองแบบ"