บทความน่ารู้

พิธีราชาภิเษก

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับวันสำคัญของปวงชนชาวไทย นั้นก็คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 วันนี้เราจึงนำสาระความรู้ที่คนไทยควรรู้ในวันสำคัญนี้มาให้ได้อ่านดูกัน ตามนี้เลย

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับวันสำคัญของปวงชนชาวไทย นั้นก็คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 วันนี้เราจึงนำสาระความรู้ที่คนไทยควรรู้ในวันสำคัญนี้มาให้ได้อ่านดูกัน ตามนี้เลย

 

พิธีราชาภิเษก

พิธีราชาภิเษก (อังกฤษ: coronation) เป็นพิธีการเพื่อสถาปนาพระมหากษัตริย์ และ/หรือ คู่อภิเษกซึ่งมีพระราชอำนาจ อย่างเป็นทางการ เกี่ยวข้องกับการวางมงกุฎบนพระเศียรของพระองค์หรือการนำเสนอเครื่องราชกกุธภัณฑ์รายการอื่น โดยพิธีการนี้อาจหมายรวมถึง การตรัสคำปฏิญาณพิเศษโดยกษัตริย์ การแสดงคารวะจากคนในบังคับ ของผู้ปกครองใหม่ และการแสดงพิธีกรรมอื่น ซึ่งมีความสำคัญพิเศษต่อชาตินั้น ๆ

 

ประวัติศาสตร์

    พระราชพิธีราชาภิเษก คือพิธีทางการที่พระมหากษัตริย์และ/หรือคู่อภิเษกสมรส รับมอบพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตามปกติแล้วมักจะเกี่ยวข้องกับการสวมมงกุฎลงบนพระเศียรพร้อมด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ชิ้นอื่น พิธีนี้ยังอาจรวมไปถึงการกล่าวถ้อยคำปฏิญาณ การถวายความเคารพแก่ผู้ปกครองพระองค์ใหม่ของเหล่าอาณาประชาราษฎร์ และ/หรือการประกอบพิธีกรรมอันมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ต่อความเป็นรัฐชาติ

    ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา พระราชพิธีราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยชี้นำทางด้านสังคม การเมือง และศาสนา จนมาถึงจุดที่พระราชพิธีราชาภิเษกของหลายประเทศถูกปรับเปลี่ยนให้มีความเรียบง่ายมากขึ้น เหลือไว้เพียงพิธีกรรมที่สำคัญบางประการเช่น เช่น การเถลิงถวัลยราชสมบัติ (enthronement) การเฉลิมพระราชอิสริยยศ (investiture) หรือการเข้ารับพร (benediction) เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม พระราชพิธีราชาภิเษกแบบดั่งเดิมยังคงได้รับการสืบทอดเอาไว้ในสหราชอาณาจักร ตองกา และประเทศในทวีปเอเชียอีกหลายประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว พิธีราชาภิเษก ใช้หมายความถึงพิธีที่พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติอย่างเป็นทางการ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการสวมมงกุฎลงบนพระเศียรหรือไม่แต่อย่างใด

    นอกจากนี้ เพื่อเป็นการผูกเอาสัญลักษณ์ของรัฐเข้ากับพระมหากษัตริย์ บ่อยครั้งที่พระราชพิธีราชาภิเษกจะมีพิธีเจิม (anointing) ด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (holy oil) หรือด้วยน้ำมนต์ ซึ่งที่ใดก็ตามที่พบพิธีกรรมเช่นนี้ เช่นในสหราชอาณาจักรและตองกา จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของฝ่ายศาสนจักรโดยเปิดเผย ในขณะที่อีกหลายแห่งใช้พิธีการชำระล้าง การดื่มเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ หรือพิธีกรรมทางศาสนาอื่น ๆ การนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับพิธีราชาภิเษกเช่นนี้ก็เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความเป็นเทวราชาที่พระมหากษัตริย์ได้รับมอบมาจากพระเจ้า สื่อให้เห็นถึงกระบวนทัศน์ทางจิตวิญญาณที่มีต่อศาสนาอันเกี่ยวข้องกับความเป็นรัฐชาติ

    ในอดีต บ่อยครั้งที่หลักการและแนวคิดเกี่ยวกับราชสันตติวงศ์มองว่าพระราชพิธีราชาภิเษกกับเทพเจ้าเชื่อมโยงอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ในอารยธรรมโบราณบางแห่ง พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองมักจะถูกมองว่าเป็นเทพเจ้าหรือมีเชื้อสายมาจากพระเจ้า: ในอียิปต์โบราณ ผู้คนเชื่อกันว่าฟาโรห์คือบุตรแห่งเทพรา เทพแห่งดวงอาทิตย์ ในขณะที่ญี่ปุ่น เชื่อว่าสมเด็จพระจักรพรรดิทรงสืบสายพระโลหิตมาจากอะมะเตะระซุ สุริยเทพีของญี่ปุ่น ในโรมโบราณมีการประกาศให้ประชาชนบูชาจักรพรรดิ และในยุคกลาง กษัตริย์ยุโรปทรงถือเอาว่าตนครอบครองเทวสิทธิราชย์ที่จะปกครอง พระราชพิธีราชาภิเษกนี้เองจึงถูกใช้ฉายให้เห็นถึงภาพความเกี่ยวโยงกันระหว่างกษัตริย์และเทพเจ้า แต่ในสมัยปัจจุบันการเป็นประชาธิปไตย (democratization) และการแยกศาสนาออกจากรัฐ (secularization) มีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้แนวคิดความเชื่อมโยงกันระหว่างกษัตริย์และเทพเจ้าลดลงไปมาก ดังนั้นพระราชพิธีราชาภิเษก (หรือองค์ประกอบทางศาสนา) มักจะถูกละทิ้งไปโดยสิ้นเชิง หรือถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นพิธีอันสะท้อนแก่นสารของความเป็นรัฐตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนในรัฐนั้น ๆ ให้การยึดถือ อย่างไรก็ตามราชาธิปไตยของบางประเทศยังคงดำรงมิติทางด้านศาสนาในกระบวนการขึ้นสู่อำนาจ (การขึ้นครองราชสมบัติ) อย่างเปิดเผย บางแห่งลดทอนความสลับซับซ้อนลงมาเหลือเป็นเพียงพระราชพิธีการเถลิงราชบัลลังก์ (enthronement) หรือพระราชพิธีกล่าวคำพระราชปฏิญาณเป็นพระมหากษัตริย์ (inauguration) หรือไม่กระทำการพระราชพิธีอันใดเลย

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

    ตามโบราณราชประเพณีของไทย พระนามของผู้ได้รับการเลือกเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ก็ยังคงใช้ขานพระนามเดิม เป็นแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” ต่อท้ายพระนาม เครื่องยศบางอย่างก็ต้องลด เช่น พระเศวตฉัตร มีเพียง 7 ชั้น มิใช่ 9 ชั้น คำสั่งของพระองค์ ก็ไม่เรียกว่าพระบรมราชโองการ จนกว่าจะได้ทรงรับการบรมราชาภิเษก จึงถวายพระเกียรติยศโดยสมบูรณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือ ศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย กล่าวคือ พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดการประกอบพระราชพิธี ว่ามีขั้นตอนอย่างใด

จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อพุทธศักราช 2325 ครั้งหนึ่งก่อนแล้วทรงตั้งคณะกรรมการ โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นประธาน สอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน ตั้งขึ้นเป็นตำรา แล้วทรงทำบรมราชาภิเษกเต็มตำราอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพุทธศักราช 2328 และได้ใช้เป็นแบบแผนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของรัชกาลต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละรัชกาล ก็ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย ให้เหมาะแก่กาลสมัย ที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นปราชญ์ในทางอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณี ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกราบบังคมทูล ของพราหมณ์และราชบัณฑิต ขณะถวายเครื่องราชกกุธกัณฑ์ กับพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระราชพิธีนี้ มีคติที่มาจากลัทธิพราหมณ์ ผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนบทมนต์ต่าง ๆ ของพราหมณ์นั้น นักวิชาการภาษาตะวันออกโบราณ วินิจฉัยว่า เป็นภาษาทมิฬโบราณ

ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช 2493 นั้น สำนักพระราชวังได้ยึดการบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นหลัก แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่ยังไม่อุดมสมบูรณ์ เพราะเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง และเพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญด้วย

หากนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วจำนวน 11 ครั้ง ดังนี้

  1. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จำนวน 2 ครั้ง
  2. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 1 ครั้ง
  3. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง
  4. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง
  5. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง
  6. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง
  7. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง
  8. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 1 ครั้ง

 

 

          สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเป็นการประกอบพระราชพิธีครั้งที่ 12
          ทั้งนี้ หากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใด มิได้ผ่านการพิธีบรมราชาภิเษก ถือว่าทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัวยังไม่เต็มพระองค์ เครื่องยศและพระนามต่าง ๆ จะแตกต่างไปจากพระเจ้าอยู่หัวที่ผ่านการพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เช่น จะไม่มีคำว่า "พระบาท" นำหน้าพระนาม จะมีแค่เพียงคำว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" โดยหลังประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ในวันที่เดียวกันนั้นของปีถัดไป จะกลายเป็นวันฉัตรมงคล

สำหรับขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยขั้นตอนหลักสำคัญ 5 ขั้นตอน ได้แก่
        

          ขั้นตอนที่ 1 พิธีเชิญน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ มาเสกทำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนต์ เพื่อเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งตักมาจากแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ และมาตั้งพิธีเสกที่พุทธเจดียสถานและวัดสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย

          1. แม่น้ำป่าสัก ณ ตำบลท่าราบ ไปทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาท อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในมณฑลประเทศที่ตั้งกรุงละโว้และกรุงศรีอยุธยา

          2. ทะเลแก้วและสระแก้ว แขวงเมืองพิษณุโลก ไปทำพิธีในพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีฝ่ายเหนือ

          3. น้ำโชกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก อันเป็นมหาเจดียสถานโบราณราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วง (ปัจจุบันอยู่ในเขต จ.สุโขทัย)

          4. แม่น้ำนครไชยศรี ที่ตำบลบางแก้ว ไปทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ เมืองนครไชยศรี อันเป็นโบราณมหาเจดีย์ตั้งแต่สมัยทวารวดี

          5. บ่อน้ำวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ในเมืองนครศรีธรรมราช ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีนครศรีธรรมราช

          6. บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย อันเป็นมหาเจดียสถานในแว่นแคว้นโบราณราชธานีทั้งหลายในฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพะเยา และนครเชียงใหม่

          7. บ่อวัดธาตุพนม ทำพิธีเสกที่พระธาตุพนม เมืองนครพนม มณฑลอุดรอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในประเทศที่ตั้งโบราณราชธานีโคตรบูรพ์หลวง

นอกจากนี้ ยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่าง ๆ อีก 10 มณฑล ได้แก่
          1. วัดบรมธาตุ เมืองชัยนาท มณฑลนครสวรรค์
          2. วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์
          3. วัดกลาง เมืองนครราชสีมา มณฑลนครราชสีมา
          4. วัดสีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน
          5. วัดยโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี
          6. วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี
          7. วัดตานีนรสโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี
          8. วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต
          9. วัดพระธาตุ เมืองไชยา มณฑลชุมพร
          10. วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี

          รวมสถานที่ที่ทำน้ำอภิเษกทั้งหมด 17 แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาที่พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ และเพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด จึงรวมเป็นที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่าง ๆ รวม 18 แห่ง ต่อมาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เปลี่ยนจากพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ มาเป็นพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

           ขั้นตอนที่ 2 พระราชพิธีจารึกดวงพระราชสมภพและพระบรมนามาภิไธยพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติลงพระสุพรรณบัฏ

          ขั้นตอนที่ 3 พระราชพิธีโสรจสรงพระมุรธาภิเษก รับน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนต์ เพื่อสรงสนานพระองค์และสรงสนานพระเศียรด้วยสหัสธารา อันเป็นการชำระและบังเกิดสิริสวัสดิมงคลยิ่งโดยโบราณราชประเพณี

          ขั้นตอนที่ 4 พระราชพิธีถวายพระราชสมบัติอันบริบูรณ์ในพระราชอาณาจักร ประมวลเป็นประมาณมาทั้งอัฐทิศแด่พระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงรับไว้อภิรักษ์ และอภิบาลให้เป็นอาณาประโยชน์แก่พสกนิกร

          ขั้นตอนที่ 5 พระราชพิธีถวายดวงพระบรมราชสมภพ พระบรมนามาภิไธย พระมหาราชครูพราหมณ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ แสดงพระราชฐานะสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าโดยสมบูรณ์ ทรงรับเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ แล้วจึงมีพระราชดำรัสดังปฐมราชโองการ

          โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ในวันนั้นได้มีปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

: wikipedia.org/wiki

: kapook.com


อ่านต่อเพิ่มเติม


 หมวดหมู่ คำราชาศัพท์

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "พิธีราชาภิเษก"