สำนวนไทย

สำนวนไทย หมวด ส

สำนวนไทย หมวด ส ตามที่เคยรู้จัก สํานวนไทย มีอยู่หลายคำ จะมีคำไหนที่เรารู้จักไหมนะ

สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือประโยคที่ไม่ได้แปลความหมายตรง ๆ แต่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายนํ้า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง

คำสุภาษิต หรือ สำนวนสุภาษิต คือ คำในภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย มักมีความหมายในการตักเตือนสั่งสอนในทางบวก มีความหมายที่ดี เช่น รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ

คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวเป็นกลาง ๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง มีความหมายแฝงอยู่ อาจเป็นคำที่ใช้สื่อในทางเปรียบเปรย หรือในทำนองเสียดสี เช่น กระต่ายตื่นตูม เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย

รวมสำนวนไทย หมวด ส

สำนวนไทย หมวด ส ตามที่เคยรู้จัก สํานวนไทย มีอยู่หลายคำ จะมีคำไหนที่เรารู้จักไหมนะ

  1. สดๆ ร้อนๆ หมายถึง ทันทีทันใด
  2. สมน้ำสมเนื้อ หมายถึง พอเหมาะพอดีกัน เช่น ขิงก็ราข่าก็แรง สมน้ำสมเนื้อกันดีแล้ว
  3. สร้างวิมานในอากาศ หมายถึง ใฝ่ฝันถึงความมั่งมี, คิดคาดหรือหวังจะมีหรือเป็นอะไรอย่างเลิศลอย
  4. สวมหัวโขน หมายถึง เอาหัวโขนสวมศีรษะ, โดยปริยายหมายความว่า ดำรงตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตหรือมียศถาบรรดาศักดิ์แล้วมักลืมตัวชอบแสดงอำนาจ
  5. สวมเขา หมายถึง ทำความอัปยศให้แก่สามีด้วยการมีชู้โดยที่สามีไม่รู้ระแคะระคาย
  6. สองสลึงเฟื้อง หมายถึง บ้า ๆ บอ ๆ สติไม่สมบูรณ์, มีจิตใจใกล้ไปทางบ้า ๆ บอ ๆ
  7. สองหน้า หมายถึง ชื่อกลองชนิดหนึ่ง รูปคล้ายเปิงมางแต่ใหญ่กว่า ใช้ตีทั้ง ๒ ข้าง. ว. ที่ทำตัวให้ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างเข้าใจผิดกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน เช่น เขาเป็นคนสองหน้า อย่าไว้ใจเขานักนะ.
  8. สองหัวดีกว่าหัวเดียว หมายถึง ร่วมกันคิด ร่วมกันปรึกษา
  9. สอดรู้สอดเห็น หมายถึง เที่ยวเข้าไปรู้ในเรื่องของคนอื่น (มักใช้ในทางไม่ดี) เช่น ใครเขาจะทำอะไรกันที่ไหน ก็เที่ยวไปสอดรู้เขาหมด เขาเป็นคนช่างสอดรู้สอดเห็น มีเรื่องของชาวบ้านมาเล่าเสมอ.
  10. สอนลูกให้เป็นโจร หมายถึง ไม่ว่ากล่าวอบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนดี เมื่อลูกไปลักขโมยของใครมาได้กลับชมเชยว่าเก่ง ในที่สุดลูกก็กลายเป็นโจร.
  11. สอยดอกฟ้า หมายถึง หมายปองที่จะได้หญิงผู้สูงศักดิ์กว่าตนมาเป็นคู่ครอง.
  12. สันหลังยาว หมายถึง เรียกคนเกียจคร้านเอาแต่นอนว่า ขี้เกียจสันหลังยาว หรือใช้สั้น ๆ ว่า สันหลังยาว ก็มี, ขี้เกียจหลังยาว ก็ว่า.
  13. สาดเสียเทเสีย หมายถึง อย่างเจ็บแสบทำให้เสียหายอย่างรุนแรง เช่น ด่าว่าอย่างสาดเสียเทเสีย.
  14. สาดโคลน หมายถึง ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นให้มัวหมอง
  15. สามวันดีสี่วันไข้ หมายถึง เจ็บออด ๆ แอด ๆ อยู่เสมอ
  16. สามสลึงเฟื้อง หมายถึง บ้า ๆ บอ ๆ สติไม่สมบูรณ์, มีจิตใจใกล้ไปทางบ้า ๆ บอ ๆ
  17. สาวไส้กันเอง หมายถึง เปิดความลับของกันและกัน
  18. สาวไส้ให้กากิน หมายถึง การนำความลับหรือเรื่องเลวร้ายไปบอกให้คนอื่นรู้ ซึ่งไม่ก่อประโยชน์ให้กับใคร แต่ผู้ที่ได้รับฟังกลับได้ล่วงรู้ความลับต่างๆ สำนวนนี้มักจะใช้สื่อถึงการบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่ดี และมักจะมีคู่กรณีที่ต่างคนต่างแฉกันและกัน
  19. สาหัสสากรรจ์ หมายถึง แสนสาหัส, ร้ายแรงมาก, คอขาดบาดตาย, เช่น ได้รับทุกข์ทรมานอย่างสาหัสสากรรจ์, โดยปริยายหมายความว่า ลำบากยิ่ง เช่น ทางนี้ทุรกันดารสาหัสสากรรจ์ บุกป่าฝ่าดงอย่างสาหัสสากรรจ์.
  20. สิบคนเกื้อไม่เท่าเนื้อไข หมายถึง หลายสิบคนช่วยเหลือมีบุญคุณ ก็ไม่เท่าญาติพี่น้อง เปรียบเหมือนเลือดข้นกว่าน้ำ
  21. สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น หมายถึง การบอกเล่าบอกต่อผ่านคนมามากๆ ก็ไม่เท่ากับเราได้เห็นด้วยตาตนเอง อย่าเพิ่งไปเชื่อสิ่งที่คนบอกต่อ ๆ กันมา จะจริงหรือไม่ต้องไปสัมผัสไปเห็นด้วยตัวเอง
  22. สิบแปดมงกุฎ หมายถึง เหล่าเสนาวานรของกองทัพพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ มี ๑๘ ตน; โดยปริยายหมายถึงพวกมิจฉาชีพที่ทำมาหากินโดยใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายหลอกลวงผู้อื่น.
  23. สิ้นเนื้อประดาตัว หมายถึง ไม่มีทรัพย์สมบัติเหลือติดตัว เช่น เขากลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะหมกมุ่นในการพนัน กิจการค้าของเขาล้มเหลวจนสิ้นเนื้อประดาตัว.
  24. สิ้นไร้ไม้ตอก หมายถึง ยากไร้, ขัดสนถึงที่สุด, เช่น เขาเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก บ้านไม่มีจะอยู่ เสื้อผ้าแทบไม่มีจะใส่.
  25. สิ้นไส้สิ้นพุง หมายถึง อาการที่เปิดเผยทั้งหมดไม่มีปิดบังอำพราง
  26. สุกเอาเผากิน หมายถึง อาการที่ทำลวก ๆ, อาการที่ทำพอเสร็จไปคราวหนึ่ง ๆ เช่น เขาทำงานสุกเอาเผากิน พอให้พ้นตัวไป
  27. สุดท้ายปลายโด่ง หมายถึง ปลายสุด
  28. สุดหล้าฟ้าเขียว หมายถึง ไกลมากที่สุด เช่น เขาหนีไปอยู่สุดหล้าฟ้าเขียว ยากที่ใครจะตามไปถึง
  29. สุ่มสี่สุ่มห้า หมายถึง ซุ่มซ่าม, ไม่ระมัดระวังให้ดี, ไม่ดูให้ดี, เช่น เดินสุ่มสี่สุ่มห้าเลยตกบันได กินอาหารสุ่มสี่สุ่มห้าเลยท้องเสีย
  30. สู้ยิบตา หมายถึง สู้จนถึงที่สุด, สู้ไม่ถอย, เช่น เขาสู้ยิบตาแม้ว่าจะสะบักสะบอมเพียงใดก็ไม่ยอมแพ้. (กร่อนมาจากสำนวนเกี่ยวกับการตีไก่ซึ่งถูกตีจนต้องเย็บตาว่า สู้จนเย็บตา)
  31. สู้เหมือนหมาจนตรอก หมายถึง ฮึดสู้เพราะไม่มีทางหนี เช่น พอจนมุมเข้า เขาก็สู้เหมือนหมาจนตรอก
  32. ส่งเดช หมายถึง ลวก ๆ, มักง่าย, เช่น ทำส่งเดชพอให้พ้นตัว, ส่ง ๆ ก็ว่า
  33. เสียรังวัด หมายถึง พลอยได้รับผิดด้วยในเหตุที่เกิดขึ้น, พลอยเสียหายไปด้วย, เช่น เด็กในบ้านไปขโมยมะม่วงของเพื่อนบ้าน เขามาต่อว่า เจ้าของบ้านก็พลอยเสียรังวัดไปด้วย.
  34. เสือกระดาษ หมายถึง ประเทศ องค์การ หรือผู้ที่ทำท่าทีประหนึ่งมีอำนาจมากแต่ความจริงไม่มี
  35. เสือซ่อนเล็บ หมายถึง ดูไม่มีอะไรน่ากลัวหรือมีอะไรโดดเด่น แต่แท้จริงแล้วอาจแอบซ่อนความสามารถ ที่ไม่ยอมแสดงออกมาให้ไครรู้
  36. เสือนอนกิน หมายถึง คนที่ได้รับผลประโยชน์หรือผลกำไรโดยไม่ต้องลงทุนลงแรง.
  37. เสือลากหาง หมายถึง คนที่ทำท่าทีเป็นเซื่องซึม เป็นกลอุบายให้ผู้อื่นตายใจแล้วเข้าทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ทันให้รู้ตัว, คนที่ทำท่าอย่างเสือลากหาง เพื่อขู่ให้กลัว เช่น ถือไม้เท้าก้าวเดินเป็นท่าทาง ทีเสือลากหางให้นางกลัว. (สังข์ทอง).
  38. เสือลำบาก หมายถึง เสือที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บ มีความดุร้ายมากกว่าปรกติ, โดยปริยายหมายถึงคนที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น.
  39. เส้นตื้น หมายถึง ที่ทำให้รู้สึกขันหรือหัวเราะได้ง่าย เช่น เขาเป็นคนเส้นตื้น ได้ยินเรื่องขำขันนิดหน่อยก็หัวเราะ
  40. เส้นยาแดงผ่าแปด หมายถึง เฉียดกันนิดเดียว เช่น เขายิงพลาดเป้าไปเพียงเส้นยาแดงผ่าแปด; เล็กมาก, ละเอียดมาก, เช่น เรื่องนี้ไม่ต้องอธิบายถี่ถ้วนอย่างเส้นยาแดงผ่าแปด, เส้นผมผ่าแปด ก็ว่า.
  41. ใส่คะแนนไม่ทัน หมายถึง เร็วมาก, คล่องมาก, (ใช้แก่กริยาพูด), เช่น เธอพูดเร็วมากจนใส่คะแนนไม่ทัน.
  42. ใส่หน้ากาก หมายถึง แสดงทีท่าหรือกิริยาอาการที่มิได้เกิดจากนิสัยใจจริง, แสดงกิริยาท่าทีลวงให้เข้าใจผิด, เช่น ต่างคนต่างใส่หน้ากากเข้าหากัน, สวมหน้ากาก ก็ว่า.
  43. ใส่ไฟ หมายถึง เติมเชื้อเพลิง เช่น คอยเอาฟืนใส่ไฟไว้นะ อย่าให้ไฟดับ; จุดไฟเผาศพ; โดยปริยายหมายถึงให้ร้ายผู้อื่นทำให้ได้รับความเสียหาย เช่น เขาใส่ไฟผม อย่าไปเชื่อ.
  44. ไส้เป็นหนอน หมายถึง ญาติมิตร สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้าน คิดคดทรยศ
  45. ไส้แห้ง หมายถึง ยากจน, อดอยาก

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "สำนวนไทย หมวด ส"